ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่งผลให้บรรยากาศในวันฮารีรายอ อิดิ้ลอัฎฮา ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1442 เป็นไปอย่างเงียบเหงากว่าทุกปีที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการดำเนินตามมาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ที่ทำให้ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ได้มีมติและออกประกาศให้ปฏิบัติตามคำสั่งของจุฬาราชมนตรี ให้มัสยิดกว่า 2,900 มัสยิดในพื้นที่ งดเปิดให้ทำศาสนกิจ โดยเฉพาะละหมาดในวันฮารีรายอ อิดิ้ลอัฎฮา รวมไปถึงการงดการรวมตัว และเคลื่อนย้าย แต่ให้ทำพิธีละหมาดรายอและเฉลิมฉลองกันภายในครอบครัว แบบ social distancing (เวันระยะห่าง)
การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันในพื้นที่ ทำให้มีหลายครอบครัวต้องกักตัว และรออาหารที่ทางราชการนำมาแจก หรือมีผู้บริจาคให้ นอกจากนั้นยังมีพี่น้องประชาชนหลายครอบครัวต้องรายอด้วยน้ำตา เพราะลูกหลานติดโควิดและถูกกักตัว
ดังเช่น นางแวมีเนาะ สาเมาะ อายุ 80 ปี ชาว อ.ยะหา จ.ยะลา ที่ญาติๆ ในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 เกือบ 20 คน ลูกๆ หลานๆ ต้องกักตัวอีกไม่ต่ำกว่า 10 คน มิหนำซ้ำ ลูกสาวที่เพิ่งไปฉีดวัคซีนซีโนแวค แล้วมีอาการแพ้วัคซีน เกิดอาการป่วย ไม่สบายขยับตัวได้ไม่ปกติ
นางแวมีเนาะ เผยความรู้สึกให้ฟังว่า “ปีนี้ต้องรายอทั้งน้ำตา แต่ร้องไห้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ลูกไปฉีดวัคซีนก็ แพ้วัคซีนอีก ขยับตัวไม่ค่อยได้ ส่วนหลานติดโควิด 10 คน และเหลนๆ ที่อยู่ด้วยก็ต้องกักตัวอีก 4 คน ทั้งหมดอยู่ในปัตตานีและยะลา ทั้งยังมีญาติๆ ที่อยู่ใน จ.สงขลา เสียชีวิตไป 1 คน ติดโควิด 15 คน กักตัวอีก 8 คน”
"จะไม่ให้ร้องไห้ได้อย่างไร แทนที่ทุกคนจะได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ต้องพรากจากกันไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ที่โรงพยาบาลสนาม และที่ศูนย์กักตัว พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกต้องไปอยู่ศูนย์กักตัว จะไม่ให้เศร้าได้อย่างไร รายอวันนี้ไม่ขออะไรมาก ขอแค่พวกเขาได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าเร็วๆ เท่านั้น“
หญิงชราวัย 80 ปี บอกอีกว่า พยายามทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกหลานและญาติๆ แล้ว แต่มันก็ยากที่จะไม่เศร้า ไม่ร้องไห้ เพราะคิดถึงพวกเขา ยิ่งวันนี้รายอทุกๆปี จะต้องอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ก็ยากที่จะไม่คิดถึงพวกเขา
"โควิดมันไม่ได้น่ากลัวนะ เป็นแล้วรักษาได้ หมอบ้านเราเก่ง มียาดี สมุนไพรบ้านเรากินแล้วหาย แต่การพรากจากกันของทุกคนในครอบครัวต่างหากที่น่ากลัว คนต้องอด ไม่มีอาหารกิน เด็กต้องพรากจากแม่ จากทุกคนไปอยู่คนเดียวที่ศูนย์กักตัว ใครไม่เจอไม่เข้าใจหรอก"
หญิงชรา เปรยกับเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญว่า หากคิดว่ามันเป็นบททดสอบ ก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้น ทุกคนต่างได้เจอกับบททดสอบที่แตกต่างกัน ครอบครัวเราเจอแบบนี้ แต่คนอื่นบางคนเจออีกแบบ ถูกทดสอบไม่มีอาหารกิน เด็กๆ ต้องอดนม แต่ก็ต้องน้อมรับ แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะหนักขนาดไหน ก็ขอน้อมรับด้วยใจและอดทน
"แต่วันนี้ยังมีเรื่องที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นมากบ้าง คือมีคนเอาเนื้อกุรบานมาให้กินด้วย รู้สึกดีใจที่ยังเห็นน้ำใจจากเพื่อนบ้าน" นางแวมีเนาะ กล่าว
ด.ญ.ฟาเดีย สุหลง อายุ 13 ปี หลานสาวของนางแวมีเนาะ ซึ่งเป็นเด็กกำพร้า พ่อถูกยิงในเหตุการณ์ความไม่สงบ และแม่ก็ป่วยไม่สบายจากการไปฉีดวัคซีน บอกว่า แม่ไม่สบาย ยายก็สุขภาพไม่ค่อยดี พวกเราไม่มีความสุขเลยรายอปีนี้ถือว่าหนักและโหดร้ายมาก เป็นรายอที่ไม่มีความสุขเลย ยายร้องไห้ หนูก็ร้องสงสารยาย สงสารแม่
เช่นเดียวกับ นางกชพร ยูโสะ หลานวัย 32 ปีของนางแวมีเนาะที่ติดเชื้อโควิด เผยความรู้สึกผ่านทางโทรศัพท์ว่า ปีนี้เป็นรายอที่แย่ที่สุด ไม่มีคำบรรยายเลย โควิดทำร้ายทุกคน เจอแล้วจะมีแต่น้ำตา ลูก สามีไปคนละทาง โดยที่เราไม่สามารถจะเลือกได้เลย ขออย่าให้คนอื่นเจออย่างที่ครอบครัวเราเจอเลย
ขณะที่ ด.ญ.อัฟนาน ยูโสะ อายุ 6 ปี เหลนของนางแวมีเนาะ ซึ่งกักตัวที่ศูนย์กักตัว ( LQ ) ในพื้นที่ บอกว่า อยากกลับไปรายอที่บ้าน แต่กลับไม่ได้ คิดถึงแม่คิดถึงพ่อ ตอนนี้ต้องนอนคนเดียว ไม่มีใครกอด น่ากลัวที่สุด ไม่เคยรายอแบบนี้ อยากกลับบ้าน อยากให้พ่อกับแม่กลับบ้านเร็วๆ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงอย่างมากในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้มีอีกหลายครอบครัวในพื้นที่ต้องเผชิญชะตากรรม และตกอยู่ในสถานการณ์ “รายอทั้งน้ำตา” ไม่ต่างอะไรกับครอบครัวใหญ่ของนางแวมีเนาะ...ครอบครัวนี้