การร้องเรียนปัญหาภายในศูนย์กักตัว หรือ Local Quarantine ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่จบ
ประเด็นร้องเรียนที่ “ทีมข่าวอิศรา” นำเสนอไปแล้ว มีทั้งส้วมเต็ม ขับถ่ายไม่ได้ ต้องขอจอบมาขุดหลุมปลดทุกข์, มีเรื่องข้าวกล่อง งบประมาณเบิกได้กล่องละ 50 บาท ได้แค่ข้าวเปล่ากับกุ้ง 1 ตัว
ล่าสุดยังมีร้องเรียนปัญหาขยะ และความสกปรกภายในศูนย์กักตัว ไร้เจ้าหน้าที่ดูแล หนำซ้ำยังเกิดกรณีคนท้องใกล้คลอดเข้าไปกักตัว สุดท้ายเจ็บท้อง ต้องคลอดลูกกันเอง
เริ่มจากปัญหา “ส้วมเต็ม” ที่ศูนย์ LQ ป่าพ้อ ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ปรากฏว่าหลังจากชาวบ้านที่กักตัวร้องเรียนมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 ก.ค.64 ขณะนี้ยังแก้ปัญหาไม่ได้ และน่าจะมีปัญหาหลายห้อง เพราะคุณยายวัยเกือบ 70 ปีที่ร้องเรียนมาตอนแรก ล่าสุดติดเชื้อโควิด ต้องย้ายไปอยู่โรงพยาบาลแล้ว
ล่าสุดมีญาติผู้กักตัวรายหนึ่ง บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า เจอปัญหาส้วมเต็มเช่นกัน ห้องนี้มีพ่อกับลูกกักอยู่ด้วยกัน ลูกยังเป็นเด็กอยู่เลย เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ก็ได้รับคำตอบว่าให้ไปขอเข้าห้องน้ำห้องข้างๆ
เมื่อเจอคำตอบแบบนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามว่า “ต้องทนกลิ่นขนาดนั้น เด็กเล็กจะนอนอย่างไร จะหลับลงได้อย่างไร รู้สึกสงสาร แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ได้แต่บอกให้อดทน”
@@ “LQ ยะหา”ปรับปรุงใหม่ ช็อคเปิดหน้าต่างเจอกองขยะ
อีกพื้นที่หนึ่งที่ “ทีมข่าวอิศรา” เคยนำเสนอข่าว คือ ศูนย์กักตัวที่ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งใช้สถานที่ “ศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด” เป็นศูนย์กักตัว โดยไม่มีการปรับปรุงพื้นที่แต่อย่างใด
ศูนย์กักตัว หรือ LQ แห่งนี้ รับกักตัวผู้ที่ติดโควิดและรักษาหายแล้ว แต่ต้องแยกกักดูอาการเป็นเวลา 14 วันก่อนส่งกลับบ้านด้วย
เมื่อเดือน มิ.ย.64 มีผู้ที่เข้ากักตัวที่ศูนย์ LQ แห่งนี้ แฉข้อมูลและภาพในโซเชียลมีเดียว่า สภาพภายในเต็มไปด้วยความน่ากลัว ฟูก หมอน สกปรก ราขึ้น ไฟส่องสว่างก็ติดๆ ดับๆ ห้องก็ไม่สะอาด แถมยังเป็นห้องน้ำรวม ใช้อาคารเดียวกัน แม้จะแยกชายหญิง แต่ชะโงกหากันได้
หลังจาก “ทีมข่าวอิศรา” เสนอปัญหานี้ไป ปรากฏว่าทางราชการก็ไปแก้ไข จนมีสภาพดีขึ้น
แต่เรื่องพีคอยู่ตรงนี้ ปรากฏว่ามีผู้ถ่ายคลิปเป็นสภาพภายในศูนย์ LQ ที่ปรับปรุงใหม่ จะเห็นว่ามีการซ่อมแซมประตู หน้าต่าง ติดกลอนใหม่, ฟูก หมอน สะอาดสะอ้าน, ห้องหับเก็บเรียบร้อย แต่พอเปิดหน้าต่างออกไป กลับเจอกองขยะกองใหญ่ (ดูภาพจากคลิปวีดีโอ)
ล่าสุด เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้องเรียนผ่านสื่อ ทางปลัดอำเภอยะหาได้นำถังขยะไปวางให้ที่ห้องของผู้กักตัวแล้ว
@@ ชีวิตจริงในศูนย์กักตัว ท้องแก่ต้องช่วยกันทำคลอดเอง
ดราม่ายังไม่จบแค่นั้น เมื่อเช้ามืดวันจันทร์ที่ 20 ก.ค. ผู้หญิงท้องแก่ใกล้คลอดที่ไปกักตัวที่ศูนย์ LQ แห่งนี้ เกิดเจ็บท้อง เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ กว่ารถพยาบาลจะมาได้ ปรากฏว่าแม่ของเด็ก กับผู้ที่กักตัวในศูนย์ ต้องช่วยกันทำคลอดกันเอง กระทั่งเด็กออกมาลืมตาดูโลก หลังจากนั้นพักใหญ่ รถพยาบาลถึงมารับ
@@ ผู้นำท้องถิ่น ยอมรับ “ศูนย์กักตัว” ไม่มีความพร้อม
“ทีมข่าวอิศรา” ได้สอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ ได้รับคำชี้แจงว่า ปัญหาของศูนย์กักตัวแห่งนี้ คือ ไม่มีความพร้อมอะไรเลย และมีเจ้าหน้าที่ อส. หรือ อาสารักษาดินแดน ของมหาดไทยหน่วยเดียวที่เข้าไปดูแล ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ทันเวลา
อย่างกรณีหญิงท้องแก่ มีอาการเจ็บท้องใกล้คลอดตั้งแต่ตี 1 ทาง อส.ที่เฝ้าศูนย์อยู่ก็ได้โทรศัพท์ตามรถพยาบาลจากโรงพยาบาล แต่รออยู่นานรถพยาบาลก็ไม่มา จนคนในศูนย์ฯต้องทำคลอดกันเอง โชคดีที่เด็กรอด ปลอดภัย หลังจากนั้นรถพยาบาลถึงมา และพาส่งโรงพยาบาลทั้งแม่ทั้งลูก
ผู้นำท้องถิ่นรายนี้ บอกว่า ศูนย์ LQ ปะแต มีเจ้าหน้าที่ อส.เฝ้าอยู่หน่วยเดียว ไม่มีหน่วยอื่นมาร่วมด้วยเลย โดยเฉพาะสาธารณสุข จริงๆ แล้วคนท้องแก่ใกล้คลอด ไม่ควรที่ให้ ไปกักตัวที่ศูนย์ LQ ตั้งแต่แรก ควรมีสถานที่ทีมีความเหมาะสมมากกว่านี้ หรือถ้าหาที่อื่นไม่ได้ก็ควรให้กักตัวที่บ้านของผู้ป่วยเอง จะปลอดภัยมากกว่า ยอมรับว่า ศูนย์ LQ ปะแต ไม่มีความพร้อม ไม่สะอาด และไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล จึงไม่สมควรเปิดเป็นศูนย์กักตัวโควิด แล้วให้คนท้องแก่ไปกักที่นั่น
ส่วนเรื่องอาหารการกินของผู้กักตัว ผู้นำท้องถิ่นรายนี้ อธิบายว่า มีการผลักภาระให้ อบต.รับผิดชอบงบประมาณ ฉะนั้นจึงอาจเป็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนงบหรือไม่ แต่ยอมรับว่าเรื่องอาหาร มีปัญหาจริง ชาวบ้านเล่าว่ามีการแจกข้าวยำเปล่าๆ ห่อละ 10 บาทให้รับประทาน หรือแจกกับข้าวรสเผ็ดให้เด็ก และไม่มีนมให้เด็กดื่ม ทั้งๆ ที่เด็กต้องมากักตัวอยู่กับแม่ และไม่สามารถทานเผ็ดได้
@@โวยมีแต่คนสั่ง ไร้งบ ไร้คนทำงาน แถมโดนด่าทำคลอด
ด้านเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์กักตัว เปิดใจกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ข้างในศูนย์ฯไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง ทั้งงบประมาณ และบุคลากร มีแต่คนมาสั่งๆๆๆ แต่ไม่ให้อะไร สั่งให้เปลี่ยนหลอดไฟก็ไม่ให้งบ สั่งให้ทำนั่นทำนี่ แต่ตัวเองไม่ทำอะไร ทางที่ดีที่สุดคือยกเลิกศูนย์กักตัวที่นี่ไปเลย เพราะไม่มีความพร้อมจริงๆ
เจ้าหน้าที่รายนี้ยังบอกว่า “เช้าวันนี้มีเจ้าหน้าที่ทีมอื่นมาด่า อส.เรื่องทำคลอด ด่าเรื่องหลอดไฟ ทั้งที่ อส.ทำทุกอย่าง ฝ่ายอื่นไม่เคยมาช่วย ที่ผ่านมามีแต่เจ้าหน้าที่ อส. เท่านั้นที่เฝ้าเวรยาม รวมถึงวันนี้ ก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่ อส. เฝ้าเวร 24 ชั่วโมง หน่วยอื่นบางวันจะมีเจ้าหน้าที่มาช่วงกลางวันบ้าง แต่พอหมดเวลาก็กลับบ้าน งานที่เฝ้าปกติก็จะเป็น อส. วันเกิดเหตุหญิงคลอด ในศูนย์ฯก็มีเพียง อส. ส่วนหน่วยอื่นกลับบ้านนอนปกติ แล้วจะให้ทำอย่างไร”
นี่คือปัญหาล่าสุดในอีกมุมหนึ่งที่ทีมข่าวฯได้รับมา สรุปว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ใครต้องรับผิดชอบ แต่ที่แน่ๆ คือ ประชาชนในฐานะผู้กักตัว ต้องเจอกับความเดือดร้อน ลำบาก และเสี่ยงอันตราย เราจะหยุดปัญหานี้ได้อย่างไร?