เปิดใจผู้บริหารโรงแรมแกรนด์การ์เด้น อ.สุไหงโก-ลก นำร่องเปิดให้ใช้โรงแรมเป็น Local Quarantine แห่งแรกชายแดนใต้ ในสถานการณ์เตียงติดลบ ต้องช่วยคนไทยให้ผ่านวิกฤตโควิดให้ได้
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากในแต่ละวัน ส่งผลให้โรงพยาบาลหลักของจังหวัดนราธิวาส ต้องประสบปัญหาเตียงติดลบต่อเนื่องมากว่าสัปดาห์
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (20 ก.ค.64) จากรายงานข้อมูลจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักงานประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่า จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 515 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 598 เตียง คงเหลือ -83 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 900 เตียง ใช้ไป 489 เตียง คงเหลือ 411 เตียง
อย่างที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ต้องรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เกือบ 100 คน จากพื้นที่อำเภอใกล้เคียง จนทำให้ห้องและเตียงเต็มแล้ว ทำให้มีการสรรหาสถานที่ เพื่อที่จะจัดทำเป็น Local Quarantine ซึ่งได้มีการเสนอให้ใช้โรงแรมแกรนด์การ์เด้น เป็น Local Quarantine โดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการบริหารจัดการ
“โรงแรมแกรนด์การ์เด้นท์” ภายใต้การบริหารงาน ของนายไพสิฐ จารุพงศา (เฮียฮ้อ) กรรมการผู้จัดการ ซึ่งตัดสินใจเปิดโรงแรมหลังจากปิดมานาน เพื่อรองรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่กักตัวและสังเกตอาการจากโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดนั้น ให้เข้าพักในอัตราค่าห้องพักที่เรียกได้ว่า "ยอมขาดทุน" เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ในเขต อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
นายไพสิฐ กล่าวว่า หลังทราบว่าทางโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ดูแลและรับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ทำให้ถึงขีดสูงสุดของการที่จะรองรับผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาได้ ด้วยปัจจุบันโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก มีขนาดจำนวนเตียงอยู่ที่ 220 เตียง ใช้สำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดไปแล้ว 128 เตียง ทำให้ไม่สามารถจะรับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ได้ เช่นผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนในการเข้ารับการรักษาด้วยสถานการณ์ที่เตียงไม่พอเพียงหรือไม่พร้อมที่จะเปิดรับได้
“เราขอเป็นโรงแรมที่เริ่มต้นเป็นแห่งแรก ของ อ.สุไหงโก-ลก ที่นำร่องใช้โรงแรมเป็นสถานกักกันของรัฐ Local Quarantine (LQ) เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่กักตัวสังเกตอาการที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ด้วยการให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐอย่างสมัครใจและเต็มใจที่จะทำเพื่อชาติในครั้งนี้"
เมื่อสอบถามถึงเรื่องต้นทุน จากการเปิดโรงแรมให้เป็นสถานกักกันของรัฐ Local Quarantine (LQ) ให้กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่กักตัวสังเกตอาการในครั้งนี้
นายไพสิฐ บอกว่า ทางโรงแรมมีต้นทุนต้องแบก ทั้งการเปิดให้พักในอัตราต่ำกว่าราคาต้นทุน ค่าน้ำ ค่าไฟ และการดูแลพนักงานอีกหลายชีวิต เพื่อเข้ามาทำงาน เพราะตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้น การให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ ถามว่า ตนเองมีรายได้เพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า ตอบได้ว่า ไม่ได้คิดเรื่องกำไรอะไรเลย
"ในภาวะวิกฤติโควิด-19 พวกเราทุกคนจำเป็นต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นจึงยินดีให้ใช้โรงแรมทั้งอาคาร ซึ่งมีห้องพักอยู่ จำนวน 100 ห้อง ไว้เป็นสถานที่กักตัว โดยมีค่าใช้จ่ายห้องละ 2,000 บาทต่อเดือน หรือวันละ 66 บาทต่อวัน ถือว่าไม่ได้กำไรอะไรเลย แต่ที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพราะต้องการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งทาง ส.ส.สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ประสานมา ก็ตอบรับทันที เพราะมีความตั้งใจที่จะช่วยตั้งแต่แรกแล้ว"
เฮียฮ้อ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ถึงแม้ว่า หากตนเองมีห้องของโรงแรม ที่น้อยกว่านี้ ก็ยังอยากช่วยเหลือ เพราะในช่วงสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นวิกฤตที่ทุกคนต้องร่วมเผชิญ อย่างน้อยคนไทยจะไม่ทิ้งกัน
เพื่อแทนคำขอบคุณจากหัวใจ ไปยังทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก นักรบเสื้อขาว ที่ต้องต่อสู้โควิด-19 นี้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพราะการต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 เราคนไทยทุกคนต้องร่วมมือ อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์
การให้ใช้สถานที่ของโรงแรมแกรนด์การ์เด้นท์ ทำเป็น Local Quarantine เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือจากภาคเอกชนในพื้นที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ที่จะร่วมต่อสู้กับวิกฤติโควิดไปพร้อมๆกับทุกฝ่าย