ชาวชุมชนซอย 5 ตลาดเก่า กลางเมืองยะลา ร่วมกันวางมาตรการป้องกันโควิดด้วยตัวเอง ทำให้ชุมชนปลอดผู้ติดเชื้อ พร้อมเตรียมสถานที่กักตัวดูอาการของกลุ่มเสี่ยงก่อนส่งรักษา ด้าน "โต๊ะครู" ชวนทุกปอเนาะปลูกฟ้าทะลายโจรรับมือโควิด ขณะที่ปัตตานีป่วยรอแอดมิท 514 ราย เสียชีวิตสะสม 65 ราย นราธิวาสโรงพยาบาลหลักเตียงยังติดลบกว่าร้อย
วันอาทิตย์ที่ 18 ก.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนตลาดเก่า ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังและควบคุมอย่างเข้มงวด ขณะนี้เกือบทุกซอยในชุมชนตลาดเก่ามีผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยง โดยต้นตอการติดเชื้อมาจากคลัสเตอร์การรวมกลุ่มทางศาสนา และลามไปยังคนใกล้ชิด จนเกิดการแพร่ระบาดในชุมชน
แต่ที่น่าสนใจคือ มีซอยหนึ่งในชุมชนตลาดเก่าที่เชื้อโควิดยังเจาะเข้าในซอยไม่ได้ ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ไร้การติดเชื้อ เรียกว่า "ชุมชนปลอดโควิด" นั่นก็คือชุมชนซอย 5 ตรงข้ามโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ สาเหตุเป็นเพราะทางชุมชนร่วมมือกันหามาตรการป้องกันด้วยความร่วมมือของคนในชุมชนเอง โดยใช้แรงของเยาวชนในซอยร่วมกันตั้งด่านคัดกรองวัดอุณหภูมิ ฉีดแอลกอฮอล์ล้างมือก่อนเข้า-ออกพื้นที่อย่างเคร่งครัด
นายอัศรีย์ กาเราะ ผู้นำเยาวชนจิตอาสาซอย 5 ชุมชนตลาดเก่า กล่าวว่า ในชุมชนตลาดเก่าเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 เร็วมาก มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาแล้ว ขณะที่ชุมชนไม่มีมาตรการป้องกัน การ์ดตก เราในฐานะเยาวชนจึงอาสาออกมาช่วยชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนตระหนักและระวังป้องกันตนเองจากเชื้อระบาดนี้
โดยเราต้องพึ่งตนเองก่อน ด้วยการตั้งด่านตรวจคัดกรองสำหรับคนเข้า-ออกในซอย คนต่างพื้นที่ สิ่งของที่คนในซอยสั่งมาจากพื้นที่อื่น ทางเราไม่อนุญาตให้เข้า ต้องรอหน้าปากซอย พร้อมพ่นแอลกอฮอล์ก่อนเจ้าของจะมารับ แล้วเรียกเจ้าของมารับที่ด่านจุดตรวจหน้าปากซอย นี่คือมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อที่ใช้พลังเยาวชนในซอยร่วมกันดำเนินการ
นอกจากนี้ ชุมชนซอย 5 ตลาดเก่า เตรียมพร้อมสถานที่รักษาดูอาการ (LQ หรือ Local Quarantine) สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยง เพื่อรองรับปัญหาการขาดเตียงในสถานกักตัวของรัฐด้วย
นายอับดุลรอแม ตอฮา ที่ปรึกษาชุมชนซอย 5 กล่าวว่า ชุมชนซอย 5 ตลาดเก่า หากมีผู้ติดเชื้อ หรือมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทางชุมชนใด้เตรียมบาลาเซาะฮ์ (ศาลาละหมาด) ไว้เป็นที่กักตัวเพื่อดูอาการ โดยชุมชนจัดการด้วยชุมชนเอง หากผู้สัมผัสเสี่ยงมีอาการ หรือเริ่มป่วย ก็มีช่องทางประสานงานกับสาธารณสุขของเทศบาลนครยะลาในการส่งตัวเพื่อรับการรักษาผู้ป่วยต่อไป
หลังจากเรื่องราวดีๆ นี้เผยแพร่ออกไป นางพาตีมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย นายธราวุธ ช่วยเกิด นายอำเภอเมืองยะลา ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจการทำงานของกลุ่มเยาวชน พร้อมยกตัวอย่างเยาวชนจิตอาสาซอย 5 เป็นต้นแบบชุมชนกระชับพื้นที่ เพื่อควบคุมโควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาด
@@ โต๊ะครูปัตตานี ชวนทุกปอเนาะปลูกฟ้าทะลายโจรรับมือโควิด
ที่สถาบันปอเนาะอันน่าซิรียะห์ หมู่ 2 ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีข่าวว่าสถาบันปอเนาะแห่งนี้ได้หันมาให้ความสำคัญกับการใช้สมุนไพรไทย "ฟ้าทะลายโจร" รับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นเพื่อให้ทางปอเนาะสามารถเปิดการการสอนได้อย่างต่อเนื่อง
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของทีมข่าว พบว่า มีการนำต้นกล้า "ฟ้าทะลายโจร" มาปลูกในบริเวณปอเนาะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนพันธุ์พืชจาก ร.ต.ท.สมนึก กังพานิชย์ และ นางอำพร กังพานิชย์ สองสามีภรรยาทื่เป็นชาว อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ที่จัดกิจกรรมมอบต้นพันธุ์ฟ้าทะลายโจรเพื่อนำไปขยายปลูกใช้เป็นยาช่วยเหลือผู้ป่วย และรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายดุลนาเซ ฮามะ โต๊ะครูสถาบันปอเนาะอันน่าซิรียะห์ กล่าวว่า ได้ใช้สมุนไพรไทยฟ้าทะลายโจรกับนักเรียนในปอเนาะ เพื่อให้สามารถเดินหน้าการเรียนการสอนได้ต่อไป เพราะการเรียนการสอนของงสถาบันฯ ต้องมีความต่อเนื่อง ไม่สามารถหยุดยาวได้ จึงต้องพร้อมรับมือโดยใช้สมุนไพรไทย ที่ผ่านมามีกระบวนการวิจัยศึกษากระทั่งสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นยอมรับวงการแพทย์แผนไทย และได้รับรองประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย
จึงอยากเรียกร้องให้สถาบันปอเนาะทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หันมาใช้สมุนไพรไทยรับมือกับการระบาดของโควิด และอยากเรียกร้องให้มีการปลูกพืชฟ้าทะลายโจรภายในปอเนาะ เพื่อใช้เวชภัณฑ์รักษาโรคให้กับนักเรีัยนปอเนาะต่อไปในอนาคต
@@ นราธิวาสโรงพยาบาลหลักเตียงยังติดลบกว่าร้อย
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันอาทิตย์ที่ 18 ก.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 795 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 795 เตียง ไม่เหลือเตียงว่างเลย ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,081 เตียง ใช้ไป 2,033 เตียง คงเหลือ 48 เตียง อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:145
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 480 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 447 เตียง คงเหลือ 33 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,835 เตียง ใช้ไป 1,328 เตียง คงเหลือ 507 เตียง อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:13
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 591 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 555 เตียง คงเหลือ 36 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 717 เตียง คงเหลือ 371 เตียง อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:102
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 515 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 621 เตียง คงเหลือ -106 เตียง (ติดลบ เตียงไม่พอ) ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 900 เตียง ใช้ไป 432 เตียง คงเหลือ 468 เตียง อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 1:86
@@ ปัตตานีรอแอดมิท 514 ราย เสียชีวิตสะสม 65 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหสวัดชายแดนภาคใต้และ จ.สงขลา ประจำวันอาทิตย์ที่ 18 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 190 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 4,814 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,116 ราย รักษาหายแล้ว 2,668 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 40 ราย อยู่ระหว่างรอผล 2,243 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 2,013 ราย, อ.กรงปินัง 521 ราย, อ.เบตง 317 ราย, อ.รามัน 377 ราย, อ.บันนังสตา 786 ราย, อ.กาบัง 194 ราย อ.ธารโต 318 ราย และ อ.ยะหา 298 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,116 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 169 ราย โรงพยาบาลเบตง 67 ราย โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 386 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 47 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 717 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 12 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 2 แห่ง 289 ราย โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 44 ราย Bubble & Seal 111 ราย รักษาตัวที่บ้าน/ปฏิเสธการรักษา 36 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 238 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 87 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.ระแงะ 12 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 2 ราย, อ.เจาะไอร้อง 1 ราย, อ.เมือง 25 ราย, อ.สุไหงปาดี 8 ราย, อ.ศรีสาคร 3 ราย, อ.ตากใบ 4 ราย, อ.ยี่งอ 12 ราย, อ.จะแนะ 5 ราย, อ.รือเสาะ 14 ราย และ อ.บาเจาะ 1 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,984 ราย รักษาหายสะสม 2,730 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 35 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 984 ราย, อ.ระแงะ 432 ราย, อ.รือเสาะ 192 ราย, อ.บาเจาะ 343 ราย, อ.จะแนะ 258 ราย, อ.ยี่งอ 186 ราย, อ.ตากใบ 616 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 164 ราย, อ.สุไหงปาดี 187 ราย, อ.ศรีสาคร 202 ราย, อ.แว้ง 145 ราย, อ.สุคิริน 113 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 162 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 170 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 6,120 ราย รักษาหายแล้ว 3,330 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 65 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 157 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 806 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 658 ราย โรงพยาบาลชุมชน 406 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 29 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 146 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 514 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 6 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,942 ราย, อ.หนองจิก 881 ราย, อ.โคกโพธิ์ 388 ราย, อ.ยะหริ่ง 705 ราย, อ.สายบุรี 280 ราย, อ.ไม้แก่น 99 ราย, อ.แม่ลาน 144 ราย, อ.ยะรัง 512 ราย, อ.ปะนาเระ 262 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 162 ราย, อ.มายอ 586 ราย และ อ.กะพ้อ 98 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 191 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 81 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 14 ราย กลุ่มรอสอบสวนโรค 13 ราย กลุ่มในเรือนจำ 12 ราย และกลุ่มสัมผัสเสี่ยงอื่นๆ 71 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 9,151 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 9,128 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,837 ราย รักษาหายแล้ว 6,274 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 40 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 498 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 2,263 ราย, อ.เมืองสงขลา 1,560 ราย, อ.จะนะ 1,096 ราย, อ.สิงหนคร 647 ราย, อ.เทพา 645 ราย, อ.สะเดา 456 ราย, อ.สะบ้าย้อย 303 ราย, สทิงพระ 280 ราย, อ.บางกล่ำ 211 ราย, อ.นาทวี 148 ราย, อ.รัตภูมิ 92 ราย, อ.นาหม่อม 88 ราย, อ.ระโนด 83 ราย, ควนเนียง 59 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 38 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 11 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,101 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 47 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย