ด่านเบตงรับแรงงาน 17 คน หนีโควิดมาเลเซียกลับไทยเข้ากระบวนกักตัวการควบคุมโรค นอภ.สั่งระวังเข้มแนวชายแดน ด้านรองผู้ว่าฯ ยะลา ประชุมบริหารจัดการวัคซีนและเฝ้าระวังต้านเฟคนิวส์ ชาวนราธิวาสตื่นตัวแห่ซื้อยาฟ้าทะลายโจร ทำยาขาดตลาด ปัตตานีวิกฤติติดเชื้อพุ่งเกือบ 400 ราย เสียชีวิต 5 ราย
วันศุกร์ที่ 16 ก.ค.64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีเพิ่มขึ้นในทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่อง
ที่ด่านพรมแดนของอำเภอเบตง จ.ยะลา ได้มีแรงงานไทยในมาเลเซียที่ได้ลงทะเบียนเอาไว้ทั้งหมด 17 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการมาเลเซียประจำด่านบูกิตบือราปิต ได้อนุญาตให้เดินทางกลับไทยได้ โดยมีเจ้าหน้าที่กองอำนวยการร่วมประสานงานประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง สวมชุด PPE นำรถเข้าไปรับตัวกลุ่มคนไทยดังกล่าวมายังด่านพรมแดนของอำเภอเบตง เพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากมาเลเซีย พร้อมฉีดยาฆ่าเชื้อสัมภาระ ซักประวัติ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย พร้อมกักตัว 14 วัน ที่ศูนย์ Local Quarantine ตามกระบวนการควบคุมโรคระบาด
การเดินทางกลับมาของแรงงานไทยดังกล่าวเป็นผลจากที่ประเทศมาเลเซียเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ซึ่งวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อถึง 13,215 คน ถือเป็นตัวเลขที่มากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในมาเลเซีย จึงทำให้แรงงานได้ตัดสินใจทยอยกันเดินทางกลับมายังประเทศไทย
นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง กล่าวว่า การคัดกรองด่านพรมแดนยังคงดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนด ผู้ที่ผ่านเข้าทางพรมแดน มีการควบคุมดูแลป้องกันตามกระบวนการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดทุกครั้งเช่นที่ผ่านมา รวมทั้งเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ทุกนาย ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ตามตะเข็บชายแดนตามช่องทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นป่าเขาหุบเหว ประกอบกับมีกำแพงคอนกรีตและรั้วลวดหนามกั้นเป็นทางยาว เพราะการข้ามมายากลำบาก แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ประมาทได้จัดกำลังลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้อำเภอเบตงพร้อมรับคนไทยทุกคนที่เดินทางเข้ามาอย่างถูกกฎหมายและต้องผ่านกระบวนการคัดกรอง นำเข้ากระบวนการกักตัวอย่างเคร่งครัดทุกคน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่
@@ยะลาประชุมบริหารจัดการวัคซีนและเฝ้าระวังต้านเฟคนิวส์
ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา นายวรเชษฐ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ด้านการประชาสัมพันธ์) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการวัคซีนและการสื่อสารให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ การให้บริการวัคซีนและกำกับติดตามผลการดำเนินงานและการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
นายวรเชษฐ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีการระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วรัฐบาลจึงมีนโยบายให้วัคซีนในการป้องกันควบคู่กับมาตรการป้องกันอื่นๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการวัคซีนรวมถึงการวางแผนดำเนินการประชาสัมพันธ์ครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวกับวัคซีนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์โรคฯ การเฝ้าระวังและตอบโต้ ข่าวลือ ข่าวลบ (Fake News) ผ่านการผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆและเผยแพร่ทุกช่องทางให้ประชาชนเกิดการรับรู้เข้าใจตระหนักไม่ตระหนก แต่และให้ความร่วมมือปฎิบัติตนตามข้อแนะนำในการควบคุมป้องกันโรค
@@ชาวนราธิวาส ตื่นตัวแห่ซื้อยาฟ้าทะลายโจรจนขาดตลาด
ด้านบรรยากาศร้านขายยาในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจมาซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ยากระชายดำ เพื่อเสริมเกราะสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายและเก็บไว้ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ระยะแรกที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง ซึ่งราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศเพิ่มฟ้าทะลายโจร ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา
น.ส.ไอนะห์ สะบูดิง ผู้ช่วยเภสัชกรประจำร้านศูนย์ยานรา กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนนราธิวาสตื่นตัวทยอยเดินทางมาซื้อยาสมุนไพร อาทิ ยาฟ้าทะลายโจรสกัด(ชนิดเม็ด)และยากระชายดำสกัด(ชนิดเม็ด) ยาขมิ้นชันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ขณะนี้หลายร้านขายยาหลายร้านในพื้นที่ หมดสต๊อกในการจำหน่ายในเวลาอันสั้น เนื่องจากปริมาณความต้องการสูงมากและทุกร้านได้สั่งซื้อยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการโควิด-19 สั่งมาขายอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาด
เช่นเดียวกับ น.ส.อามีนา แดมะยุ ผู้ช่วยเภสัชกรประจำร้านดวิษ บอกว่า ขณะนี้ยาสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ยากระชายดำและวิตามินซี ได้รับความต้องการอย่างมาก ส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน สนใจซื้อยาสมุนไพร เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับคนในครอบครัวและญาติๆ ใกล้ชิด เพื่อป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง
ขณะที่นางอุรุษา ลอแมง ชาวนราธิวาส ที่ตั้งใจมาซื้อยา กล่าวว่า จะมาซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อส่งต่อให้กับน้องชายที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากทราบว่า ขาดตลาดในขณะนี้ ส่วนตัวคิดว่า ยาสมุนไพรต่างๆ มีสรรพคุณที่ดี ที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆได้เบื้องต้น ควบคู่ไปกับการดูแลตนเอง ปฏิบัติตามาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
@@โรงพยาบาลหลัก นราฯ เตียงยังติดลบอีก 53 เตียง
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 16 ก.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 786 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 786 เตียง ไม่เหลือเตียงว่างเลย ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,117 เตียง ใช้ไป 2,056 เตียง คงเหลือ 61 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:146
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 480 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 419 เตียง คงเหลือ 61 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,835 เตียง ใช้ไป 1,228 เตียง คงเหลือ 607 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:12
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 591 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 523 เตียง คงเหลือ 68 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,088 เตียง ใช้ไป 727 เตียง คงเหลือ 361 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:103
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 515 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 568 เตียง คงเหลือ -53 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 900 เตียง ใช้ไป 428 เตียง คงเหลือ 472 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:85
@@ปัตตานีวิกฤติติดเชื้อพุ่งเกือบ 400 ราย เสียชีวิต 5 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันศุกร์ที่ 16 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 254 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 4,439 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,946 ราย รักษาหายแล้ว 2,454 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 39 ราย อยู่ระหว่างรอผล 2,040 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 1,841 ราย, อ.กรงปินัง 486 ราย, อ.เบตง 311 ราย, อ.รามัน 318 ราย, อ.บันนังสตา 736 ราย, อ.กาบัง 180 ราย, อ.ธารโต 290 ราย และ อ.ยะหา 277 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,946 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 167 ราย โรงพยาบาลเบตง 70 ราย รพช. 6 แห่ง 356 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 44 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 715 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 12 ราย โรงพยาบาลสนามรามัน 2 แห่ง 287 ราย Bubble & Seal 133 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 162 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 140 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.ระแงะ 6 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 12 ราย,อ.เจาะไอร้อง 6 ราย, อ.เมือง 15 ราย, อ.ศรีสาคร 15 ราย, อ.ตากใบ 1 ราย, อ.ยี่งอ 13 ราย, อ.จะแนะ 2 ราย, อ.แว้ง 33 ราย, อ.บาเจาะ 27 รายและ อ.สุคิริน 10 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,749 ราย รักษาหายสะสม 2,583 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 31 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 922 ราย, อ.ระแงะ 406 ราย, อ.รือเสาะ 162 ราย, อ.บาเจาะ 327 ราย, อ.จะแนะ 251 ราย, อ.ยี่งอ 170 ราย, อ.ตากใบ 601 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 133 ราย, อ.สุไหงปาดี 172 ราย, อ.ศรีสาคร 196 ราย, อ.แว้ง 135 ราย, อ.สุคิริน 113 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 161 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 378 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 5,620 ราย รักษาหายแล้ว 3,113 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม59 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 138 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 715 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 593 ราย โรงพยาบาลชุมชน 357 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 34 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 122 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 482 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 7 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,744 ราย, อ.หนองจิก 789 ราย, อ.โคกโพธิ์ 378 ราย, อ.ยะหริ่ง 651 ราย, อ.สายบุรี 256 ราย, อ.ไม้แก่น 95 ราย, อ.แม่ลาน 136 ราย, อ.ยะรัง 476 ราย, อ.ปะนาเระ 217 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 158 ราย, อ.มายอ 565 ราย และ อ.กะพ้อ 98 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 178 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 132 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 14 ราย กลุ่มรอสอบสวนโรค 10 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงอื่นๆ 22 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 8,674 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 8,651 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,732 ราย รักษาหายแล้ว 5,905 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 37 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 1,596 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 2,114 ราย, อ.เมืองสงขลา 1,483 ราย, อ.จะนะ 1,042 ราย, อ.เทพา 630 ราย, อ.สิงหนคร 538 ราย, อ.สะเดา 434 ราย, อ.สะบ้าย้อย 303 ราย, สทิงพระ 270 ราย, อ.บางกล่ำ 203 ราย, อ.นาทวี 136 ราย, อ.รัตภูมิ 90 ราย, อ.นาหม่อม 85 ราย, อ.ระโนด 81 ราย, ควนเนียง 59 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 38 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 11 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,089 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 45 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย