ผู้ว่าฯสามจังหวัดใต้ ประกาศเริ่มใช้มาตรการ"ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว" หลัง ศบค.สั่งยกระดับควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนที่เบตง - นราธิวาส เจ้าหน้าที่ออกตรวจเข้มหลังห้ามออกนอกเคหะสถาน ด้าน สสจ. สงขลา นำฟ้าทะลายโจรใช้บรรเทาอาการผู้ป่วยโควิด
วันจันทร์ที่ 12 ก.ค.64 หลังจาก ศบค. กำหนดให้ยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ซึ่งมีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลาด้วยนั้น ทำให้ที่ประชุม ศบค.ของทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อทำการยกระดับมาตรการในการปฏิบัติตามที่ทาง ศบค.กำหนด
นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการ จ.ยะลา เปิดเผยว่า จากคำสั่งของ ศบค.กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยที่มีจังหวัดยะลาด้วยนั้น และจะผลตั้งวันนี้ (12 ก.ค.64) เป็นต้นไป ซึ่งในส่วนของจังหวัดยะลา ได้มีการหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยะลารวมทั้งประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่เริ่มมีผลบังคับใช้ จึงสั่งห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน และได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดในเส้นทางด่านรอยต่อระหว่างจังหวัดเข้าออกจังหวัด จะมีทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสาธารณสุขคัดกรองการเดินทางของประชาชน
ส่วนการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชนในพื้นที่ ขอความกรุณาประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด ในช่วงระยะเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรณีที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่ ทางจังหวัดก็ได้มีกระบวนการในการขอนุญาตเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นโดยจะต้องสแกน QR Code (YALA SAFE ALERT) ทุกคนทุกคันไม่ยกเว้น หรือบันทึกข้อมูลลงในแบบข้อมูลการเดินทาง
ด้านนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ในพื้นที่ของ จ.นราธิวาส มีอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ส่วนหนึ่งมาจากการเดินทางข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆภายในประเทศ จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้รัฐบาลได้ประกาศให้ จ.นราธิวาสเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและคำสั่งต่างๆของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด
ทางจังหวัดจึงได้มีมาตรการ คือ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ห้ามเดินทางข้ามจังหวัดหากจำเป็นต้องขออนุญาต , งดการเรียนการสอนในสถานศึกษาให้เรียนในระบบออนไลน์เท่านั้น , ให้ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ , งดการเดินทางออกจากเคหสถาน ที่พักอาศัยระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นหรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี รวมทั้งให้งดบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท ฯลฯ ในระหว่างวันที่ 12 - 25 ก.ค.64 เป็นระยะเวลา 14 วัน
เช่นเดียวกับที่ จ.ปัตตานี นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี ได้ออกคำสั่งจังหวัดปัตตานี ที่ (พิเศษ) 46/2564 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อโควิด-19 โดยห้ามออกนอกเคหสถาน ในระหว่างเวลา 21.00 น.- 04. 00 น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น , ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มทุกประเภท ให้เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 04.00 น. - 21.00 น. และให้ซื้อนำกลับไปบริโภคที่อื่น ,ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 04.00 น. - 21.00 น.
ทั้งให้ทาง กอ.รมน.จังหวัดปัตตานีและศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) บูรณาการกำลังฝ่ายทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ดำเนินการจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และจัดชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติตามคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 น. - 04.00 น.และให้ความช่วยเหลือชุมชนหรือหมู่บ้านในการควบคุมสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
@@เบตง - นราฯ จนท.ออกตรวจเข้มหลังเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้าน
ด้านบรรยากาศคืนแรกหลังจากทางจังหวัดได้ ประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง ได้ปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจัด ออกตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด หลัง ศบค.กำหนดตั้งแต่วันนี้ (12 ก.ค.64) เป็นต้นไป ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็น หากตรวจพบผู้ฝ่าฝืนให้บังคับใช้บทลงโทษตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
ส่วนที่นราธิวาส นายปรีชา นวลน้อย ปลัดจังหวัดนราธิวาสนำกำลังเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจลงพื้นที่ออกติดตามการบังคับใช้มาตรการขั้นสูงสุด ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานหรือเคอร์ฟิว ตั้งแต่ 21.00 น.-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เป็นเวลา 14 วัน โดยร้านค้าในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ตามถนนสายหลักต่างๆได้แก่ ถ.สุริยะประดิษฐ์ ถ.พิชิตบำรุง ถ.ภูผาภักดี เป็นต้น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจในมาตรการและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามเป็นอย่างดี
@@สสจ. สงขลา นำฟ้าทะลายโจรมาใช้กับผู้ป่วยโควิดกลุ่ม Home lsolation
นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้ประชุมหารือทีมบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหนาที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการใช้ฟ้าทะลายโจรและยาแผนไทยในผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม Home Isolation และกลุ่มอื่นๆ โดยจะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง
สำหรับ "ยาฟ้าทะลายโจร" มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส virostatic แต่ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการเข้าเซลล์หรือกำจัดไวรัส แต่ช่วยบรรเทาอาการป่วยโควิดที่ไม่รุนแรง เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ลดโอกาสที่โรคจะลุกลามลงปอด ใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรครุนแรงและปรับภูมิคุ้มกัน โดยการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 จะใช้ฟ้าทะลายโจรสกัด Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งกำหนดรับประทานติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หากผ่านไป 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้หยุดทานและรับคำแนะนำจากแพทย์
แม้ว่าจะเป็นยาสมุนไพร แต่ก็มีข้อห้ามในบางประการ เช่น ห้ามใช้กับผู้มีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับและไต และมีข้อควรระวัง คือ การใช้ร่วมกับยาลดความดัน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด และการใช้ร่วมกับยาที่เมทาบอลิซึมผ่าน Cytochrome P450 (CYP)
อย่างไรก็ตามการนำยาฟ้าทะลายโจรและยาแผนไทยมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 โดยกำหนดใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงในกลุ่ม Home Isolation และคาดว่าจะนำไปใช้กับกลุ่มผู้ป่วยในเรือนจำ ผู้ต้องกักตัวในโรงงาน กลุ่มที่ประชาชนดูแลกันเองหรือสถานที่ที่มีเจ้าหน้าที่น้อยและอาจจะใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามบางแห่งอีกด้วย
@@ นราฯ รพ.หลัก เตียงไม่พอติดลบ 60 เตียง
ด้านรายงานข้อมูลเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 จากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ เป็นข้อมูล ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 12 ก.ค.64 มีข้อมูลดังนี้
จ.สงขลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 770 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 770 เตียง ไม่เหลือเตียงว่างเลย ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 2,133 เตียง ใช้ไป 2,067 เตียง คงเหลือ 66 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:147
จ.ปัตตานี โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 426 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 407 เตียง คงเหลือ 19 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 1,847 เตียง ใช้ไป 1,316 เตียง คงเหลือ 531 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:13
จ.ยะลา โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 591 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 559 เตียง คงเหลือ 32 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 960 เตียง ใช้ไป 874 เตียง คงเหลือ 86 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:124
จ.นราธิวาส โรงพยาบาลหลักมีเตียงทั้งหมด 410 เตียง ใช้ไปทั้งสิ้น 470 เตียง คงเหลือ - 60 เตียง ส่วนในโรงพยาบาลสนามมีเตียงทั้งหมด 900 เตียง ใช้ไป 391 เตียง คงเหลือ 509 เตียง ขณะที่อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ป่วยใน รพ.สนาม 1:161
@@ยะลาติดเชื้อโควิดพุ่ง 201 ป่วยดับวันเดียว 5 ราย
ด้านรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และสงขลา ประจำวันจันทร์ที่ 12 ก.ค.64 มีดังนี้
จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 201 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 3,755 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,815 ราย รักษาหายแล้ว 1,907 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 5 ราย มำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 33 ราย อยู่ระหว่างรอผล 1,823 ราย
ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,815 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลยะลา 159 ราย โรงพยาบาลเบตง 54 ราย รพช. 6 แห่ง 346 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 50 ราย โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 869 ราย โรงพยาบาลสนามเบตง 5 ราย โรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ 292 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าระบบ 40 ราย
ส่วนจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 1,601 ราย, อ.กรงปินัง 419 ราย, อ.เบตง 276 ราย, อ.รามัน 229 ราย, อ.บันนังสตา 588 ราย, อ.กาบัง 156 ราย อ.ธารโต 263 ราย และ อ.ยะหา 223 ราย
จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยรายใหม่ 85 ราย แยกเป็น พื้นที่ อ.ระแงะ 7 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 9 ราย,อ.เจาะไอร้อง 2 ราย, อ.เมือง 9 ราย, อ.สุไหงปาดี 27 ราย, อ.ตากใบ 6 ราย, อ.ยี่งอ 8 ราย, อ.จะแนะ 3 ราย, อ.แว้ง 10 ราย, อ.สุคิริน 1 รายและ อ.บาเจาะ 3 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,068 ราย รักษาหายสะสม 2,154 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 20 ราย
ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 857 ราย, อ.ระแงะ 252 ราย, อ.รือเสาะ 137 ราย, อ.บาเจาะ 268 ราย, อ.จะแนะ 208 ราย, อ.ยี่งอ 137 ราย, อ.ตากใบ 525 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 94 ราย, อ.สุไหงปาดี 135 ราย, อ.ศรีสาคร 169 ราย, อ.แว้ง 87 ราย, อ.สุคิริน 81 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 111 ราย
จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 95 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 4,588 ราย รักษาหายแล้ว 2,454 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้ผู้เสียชีวิตสะสม 43 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 160 ราย โรงพยาบาลสนามจังหวัด 790 ราย โรงพยาบาลประจำอำเภอ 533 ราย โรงพยาบาลชุมชน 378 ราย โรงพยาบาลสิโรรส 43 ราย สิโรรส-ปาร์ควิว Hospitel 163 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาแอดมิท 16 ราย ส่งต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 8 ราย
จำนวนผู้ป่วยแยกรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 1,460 ราย, อ.หนองจิก 619 ราย, อ.โคกโพธิ์ 296 ราย, อ.ยะหริ่ง 548 ราย, อ.สายบุรี 204 ราย, อ.ไม้แก่น 93 ราย, อ.แม่ลาน 103 ราย, อ.ยะรัง 366 ราย, อ.ปะนาเระ 168 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 131 ราย, อ.มายอ 462 ราย และ อ.กะพ้อ 95 ราย
จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 188 ราย แยกเป็นกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ 126 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงในโรงงาน 10 ราย กลุ่มรอสอบสวนโรค 17 ราย กลุ่มสัมผัสเสี่ยงอื่นๆ 35 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 8,058 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 8,035 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,939 ราย รักษาหายแล้ว 5,086 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 33 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 550 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 1,944 ราย, อ.เมืองสงขลา 1,368 ราย, อ.จะนะ 942 ราย, อ.เทพา 586 ราย, อ.สิงหนคร 516 ราย, อ.สะเดา 408 ราย, สทิงพระ 269 ราย, อ.สะบ้าย้อย 227 ราย, อ.บางกล่ำ 194 ราย, อ.นาทวี 113 ราย, อ.รัตภูมิ 85 ราย, อ.ระโนด 80 ราย, อ.นาหม่อม 75 ราย, ควนเนียง 50 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 35 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 11 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,089 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 43 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย