สนามเลือกตั้งชิงเก้าอี้นายก อบจ.ยะลา นับเป็นอีกสนามการเมืองท้องถิ่นที่น่าจับตามากอีกแห่งหนึ่ง เพราะเมื่อแชมป์เก่าและผู้ท้าชิงต่างก็ใช้ฐานเสียงพรรคการเมืองระดับชาติที่เคยต่อสู้แย่งชิงกันมาในสนามเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปีที่ผ่านมากันทั้งคู่ ทำให้งานนี้ดุเดือดไม่แพ้ทุกจังหวัด
แม้ผู้สมัครลงแข่งขันชิงเก้าอี้นายก อบจ.ยะลา จะมีเพียง 2 คน คือ หมายเลข 1 นายมุขตาร์ มะทา อดีตนายก อบจ.ยะลา หัวหน้าทีมยะลาพัฒนา กับคู่แข่ง หมายเลข 2 นายอับดุลลาเตะ ยากัด หัวหน้าทีมยะลาประชารัฐ แต่ก็อย่างที่บอก คือเมื่อมีการเมืองระดับชาติสนับสนุน จึงกลายเป็นศึกศักดิ์ศรีที่แต่ละฝ่าย "แพ้ไม่ได้"
เปิดตัวด้วยแชมป์เก่าอย่างนายมุขตาร์ มะทา หัวหน้าทีมยะลาพัฒนา อดีตนายก อบจ.ยะลา ผู้ครองเก้าอี้นายก อบจ.มานานถึง 3 สมัย และยังเป็นน้องชายของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ "บ้านใหญ่" ของการเมืองชายแดนใต้ ซึ่งผลงานงานของพรรคประชาชาติก็เป็นที่ประจักษ์แล้วจากการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 ที่สามารถกวาดเก้าอี้ ส.ส.มาได้ 6 ที่นั่ง จากทั้งหมด 11 ที่นั่ง มาเป็นอันดับ 1 ของดินแดนปลายด้ามขวาน
ขณะที่นายมุขตาร์เอง ก็มีคะแนนนิยมส่วนตัว เพราะเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน ผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่นระดับต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ยะลา ปี 2555 นายมุขตาร์ ก็สามารถเอาชนะ นายอับดุลฮาลิม บาฮี คู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนนทิ้งห่างขาดลอย 101,831 คะแนน ต่อ 45,482 คะแนน เรียกว่าคะแนนห่างกว่าเท่าตัวแบบไม่เห็นฝุ่น รักษาเก้าอี้นายก อบจ.ยะลาไว้ได้แบบ "นอนมา"
ด้านคู่แข่งอย่าง นายอับดุลลาเตะ ยากัด หัวหน้าทีมยะลาประชารัฐ เป็นนักธุรกิจเจ้าของโรงโม่หินชื่อดัง 2 แห่งในจังหวัด ทั้งเคยเป็นนายก อบจ.ยะลา คนแรกที่ได้รับเลือกจากสมาชิก อบจ.เมื่อปี 2540 และยังเป็นอดีตรองประธานสมาพันธ์นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยด้วย
การหวนกลับมาลงสนามเลือกตั้งชิงนายก อบจ.ยะลา จากชื่อ "ทีมยะลาประชารัฐ" ดูเผินๆ เหมือนว่าจะมีความเชื่อมโยงหรือได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลที่มี "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวเรือใหญ่ และมีผลงานจาการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 62 กวาดมาได้ 3 ที่นั่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ ส.ส.ยะลา เขต 1 จากนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ
แต่ก็มีข่าววงในออกมาไม่สู้ดีนักว่า พรรคพลังประชารัฐลอยแพ ไม่ยอมสนับสนุน นายอับดุลลาเตะ ยากัด เพราะไม่มั่นใจว่าจะเอาชนะแชมป์เก่า และโค่น "บ้านใหญ่" ได้จริง
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าข่าวจะออกมาอย่างไร นายอับดุลลาเตะ ก็ยังเดินหน้าลุยต่อ เพราะตัวเขาเองก็ถือว่าไม่ใช่หน้าใหม่ และพอจะมีฐานเสียงสนับสนุนอยู่บ้างจากหัวคะแนนในพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์สังกัดเก่า ทั้งยังได้ นายอับดุลฮาลิม บาฮี อดีตคู่แข่งเของนายมุขตาร์ ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ปี 55 มาร่วมทีมบริหาร และมีกลุ่มทุนจากเพื่อนนักธุรกิจใน อ.เบตง จ.ยะลา คอยให้การสนับสนุนอยู่ด้วย
หากย้อนดูประวัติเดิมๆ แล้ว นายอับดุลลาเตะ ยากัด ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลจาก "ตระกูลมะทา" เพราะในอดีตเขาก็เคยเป็นคณะทำงานของ นายวันมูหะมัดนอร์ มาก่อน แต่ต้องแตกคอตัดขาดกันเมื่อนายอับดุลลาเตะ ตัดสินใจลงสมัครแข่งขันชิงเก้าอี้นายก อบจ.ยะลา กับ นายอาซิส เบ็ญหาวัน คนที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สนับสนุน แล้วก็พ่ายแพ้ไป จากนั้นก็หันไปซบอกพรรคประชาธิปัตย์ กลับสู้ใหม่ โดยลงสมัคร ส.ส.เขต 2 ยะลา แข่งกับ นายไพศาล ยิ่งสมาน จากพรรคความหวังใหม่ ซึ่งเป็นคนของ "บ้านใหญ่" เช่นกัน แล้วก็พ่ายไปอีกเป็นคำรบ 2
การปัดฝุ่นกลับมาลงสนามการเมืองหนนี้ของ นายอับดุลลาเตะ ยากัด จึงเหมือนเป็น "ศึกนัดล้างตา" และทำให้เส้นทางสู่เก้าอี้นายก อบจ.ยะลาของนายมุขตาร์ ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด (เดิมคิดว่าจะลงสมัครเพียงคนเดียวแบบชิลล์ๆ)
แต่หากมองหน้าเสื่อการเมืองท้องถิ่นในยะลา นายมุขตาร์ มะทาในฐานะแชมป์เก่า ยังเป็นต่ออยู่หลายขุม เพราะมีฐานเสียงของพรรคประชาชาติที่นำโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พี่ชายสนับสนุนอยู่
ส่วน นายอับดุลลาเตะ ยากัด ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับตะกูลมะทา แม้จะดูเป็นรอง และยังมีข่าวถูกลอยแพจากพรรคใหญ่ แต่ก็ยังถือว่าตัวเองพอจะมีฐานเสียงจากต้นสังกัดเก่าอย่างประชาธิปัตย์อยู่บ้าง และมีเพื่อนนักธุรกิจ รวมถึงกลุ่มคนเบื่อการบริหารของนายก อบจ.คนเก่า เป็นเหมือนทุนสนับสนุนให้กระเป๋า ทำให้พอมีหวังอยู่บ้าง
สุดท้ายถ้า นายมุขตาร์ เอาชนะได้ ก็เป็นการยืนยันผลงานการบริหาร อบจ.ที่ผ่านมา และการตอกย้ำความนิยมของพรรคประชาชาติ ตลอดจนความขลังของ "บ้านใหญ่" ที่มีต่อชาวยะลา แต่หากเกิดการพลิกล็อค นายอับดุลลาเตะ ยากัด เอาชนะได้ขึ้นมาได้ ก็จะเป็นสางแค้น-ล้างตา จากที่เคยพ่ายแพ้ถึง 2 ครั้งให้กับคนของตระกูลมะทาในอดีต
และยะลาก็จะมีชื่อขึ้นสกอร์บอร์ด "ล้มช้าง" ในการเลือกตั้งนายก อบจ.หนนี้!