สมรภูมิเลือกตั้งนายก อบจ. แม้ผู้สมัครเกือบทั้งหมดมีประวัติและสายสัมพันธ์ยึดโยงกับพรรคการเมืองระดับชาติ แต่ในการแข่งขันระดับพื้นที่จะไม่มีแยกฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ไม่มีพันธมิตรในสนามใหญ่เพื่อเกี้ยเซี้ยกันในสนามจังหวัด
เหตุนี้เองเราจึงได้เห็นผู้สมัครนายก อบจ.หลายจังหวัด มาจากเครือข่ายภายในพรรคการเมืองเดียวกัน อาจจะเคยช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งระดับชาติด้วยซ้ำ แต่เมื่อถึงสนามท้องถิ่นอย่าง อบจ. กลับต้องสวมเสื้อคนละสี แล้วห้ำหั่นกันเอง เช่น จ.เชียงราย เป็นเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย จ.ตรัง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเครือข่ายของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างนี้เป็นต้น
ขณะที่บางจังหวัด เป็นการเผชิญหน้ากันของผู้สมัครในเครือข่ายพรรคการเมืองฝั่งเดียวกันในเวทีระดับชาติ เช่น เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แต่ในสนามท้องถิ่นกลับต้องมาแข่งกันเอง
สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด หนึ่งในนั้นคือ "สงขลา"
ไล่เรียงดูรายชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา สมกับเป็นจังหวัดที่ผู้คนสนใจการเมือง เพราะมีทั้งเบอร์เล็กเบอร์ใหญ่ลงสนามมากมายถึง 6 คน ประกอบด้วย
หมายเลข 1 นายจะเด็ด เหมโกทวีทรัพย์ อายุ 58 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีพเป็นผู้จัดการธนาคาร
หมายเลข 2 พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อายุ 70 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว
หมายเลข 3 ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ อายุ 63 ปี การศึกษาปริญญาโท เป็นข้าราชการบำนาญ
หมายเลข 4 นางภัทราวรรณ ขำตรี อายุ 38 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว
หมายเลข 5 น.ส.อภิญญา ยอดแก้ว อายุ 56 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีพทำสวน
หมายเลข 6 นายวชิรวิทย์ ภัสระ อายุ 45 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีพวิศวกร
ขณะที่ผู้สมัครสมาชิสภา อบจ. หรือ ส.อบจ. ก็คึกคักไม่แพ้กัน เพราะมีผู้สมัครถึง 102 คน จาก 36 เขตเลือกตั้ง โดย อ.หาดใหญ่ มี 10 เขตเลือกตั้ง อำเภอเมืองสงขลา มี 4 เขตเลือกตั้ง อ.สะเดา 3 เขตเลือกตั้ง อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.รัตภูมิ และ อ.สิงหนคร อำเภอละ 2 เขตเลือกตั้ง ส่วน อ.สทิงพระ อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.นาหม่อม อ.ควนเนียง อ.บางกล่ำ และ อ.คลองหอยโข่ง อำเภอละ 1 เขตเลือกตั้ง
ย้อนกลับไปที่ศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.สงขลา ในอดีตถือได้ว่ามีแต่ตัวแทนในนามของพรรคประชาธิปัตย์ลงสนามเป็นส่วนใหญ่ เช่น ในปี 2552 ประชาธิปัตย์ 2 ขั้วแข่งกันเอง โดย นายอุทิศ ชูช่วย ลงสมัครชิงนายก อบจ.สงขลา แทน นายนวพล บุญญามณี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก นายนิพนธ์ บุญญามณี (ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย) โดยแข่งกับ นายวรวิทย์ ขาวทอง ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "เดชอิศม์ ขาวทอง" ที่ได้รับการสนับสนุบจาก นายถาวร เสนเนียม
ต่อมาในปี 2556 นายนิพนธ์ บุญญามณี ลงสนามด้วยตัวเอง แข่งกับ นายอุทิศ ชูช่วย อดีตนายก อบจ.สงขลาที่ตนเองเคยสนับสนุน ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นปรากฏว่า นายนิพนธ์ เอาชนะนายอุทิศไปได้ด้วยผลต่างคะแนนถึง 103,950 คะแนน
แต่ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา ณ ปี 2563 มีความต่างออกไป เมื่อตัวเต็งคู่เด็ดมาจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ ไม่ใช่พรรคเดียวกันเหมือน 2 ครั้งก่อน
เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ เดิมที่มี นายนิพนธ์ บุญญามณี นั่งตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา อยู่ แล้วก็ลาออกไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คราวนี้ตัดสินใจส่ง ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมชลประทาน และนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา รุ่นพี่นายนิพนธ์ ลงสมัคร หวังรักษาเก้าอี้ไว้ในกลุ่มตนเอง
ขณะที่คู่แข่งมาจากเครือข่ายของพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล "บิ๊กตู่" ผู้สมัครไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตผู้อำนวยการเลือกตั้ง และแม่ทัพภาคใต้ของพลังประชารัฐ สร้างผลงานเด็ดขาดทำให้พรรคกวาดเก้าอี้ ส.ส.ใต้ มาได้ถึง 13 ที่นั่ง ล้มแชมป์เก่าอย่างประชาธิปัตย์จนต้องกลั้นสะอื้น โดยเฉพาะที่ จ.สงขลา กวาดมาได้ 4 ที่นั่งจากทั้งหมด 8 ที่นั่ง และตัว พ.อ.สุชาติ ยังเคยเป็น ส.ส.พรรคความหวังใหม่ด้วย
ส่วนผู้สมัครคนอื่นที่เหลืออีก 4 คน มี 2 คนเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ คือ นายวชิรวิทย์ กับ น.ส.อภิญญา ส่วนอีก 2 คนเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเล็ก แต่คะแนนเลือกตั้งไม่ติด 1 ใน 3
โฟกัสของศึกชิงนายก อบจ. จึงจับไปที่ 2 คนที่เป็นเครือข่าย 2 พรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น ซึ่งถือว่าสูสีกันมาก โดยเฉพาะหากย้อนมองไปถึงฐานเสียงของทั้งสองพรรคในพื้นที่ จ.สงขลา ผ่านผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่่อวันที่ 24 มี.ค.2562 จาก 8 เขตเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.ไป 4 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 3 ที่นั่ง ที่เหลืออีก 1 เขตเป็นของภูมิใจไทย
หากวิเคราะห์ลงลึกถึงฐานเสียงของ 2 พรรคใหญ่ ต้องดูผลคะแนนเลือกตั้่ง ส.ส.รายเขต เมื่อปี 2562 จะทำให้เห็นภาพความได้เปรียบเสียเปรียบในสมรภูมินายก อบจ.ชัดยิ่งขึ้น
โดยเขต 1 พื้นที่อำเภอเมืองสงขลา อันดับ 1 ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ 37,134 คะแนน ประชาธิปัตย์ 24,540 คะแนน มีผลต่างคะแนนอยู่ที่ 13,000 กว่าคะแนน เขตนี้แม้พลังประชารัฐจะมีภาษีดีกว่า เพราะเคยเป็นผู้ชนะในสนามเลือกตั้งระดับชาติ แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะเป็นฐานเสียงเก่าแก่ของประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะของนายนิพนธ์ บุญญามณี
เขต 2 อ.หาดใหญ่ (ต.หาดใหญ่ ต.คลองแห และ ต.คลองอู่ตะเภา) อันดับ 1 พรรคพลังประชารัฐ สามารถเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้แค่อันดับ 3 โดยมีคะแนนทิ้งห่างถึงกว่า 17,000 คะแนน แต่ตัวแปรในการเลือกตั้งนายก อบจ. คือคะแนนของผู้สมัครอันดับ 2 ในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กวาดไป 19,000 กว่าคะแนน จะเทให้ใคร
เขต 3 อ.หาดใหญ่ ในพื้นที่ 8 ตำบล และ อ.นาหม่อม อันดับ 1 ยังคงเป็นพรรคพลังประชารัฐ เอาชนะพรรคพรรคประชาธิปัตย์ไปได้ โดยมีผลต่างคะแนนมากกว่า 20,000 คะแนน เขตนี้พลังประชารัฐมีแต้มต่อประชาธิปัตย์แบบจะแจ้ง ชัดเจน
เขต 4 อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร (ยกเว้น 6 ตำบล) เขตนี้พรรคพลังประชารัฐเบียดชนะประชาธิปัตย์ไปได้แค่ 600 กว่าคะแนน แต่ในการเลือกตั้งนายก อบจ.หนนี้ พรรคประชาธิปัตย์น่าจะมีแต้มต่อ เพราะ อ.สิงหนคร เป็นบ้านเกิดของ ว่าที่ ร.ต.ไพเจน และถือเป็นฐานเสียงสำคัญ
เขต 5 อ.สิงหนคร 6 ตำบล อ.ควนเนียง อ.บางกล่ำ และ อ.รัตภูมิ เขตนี้ประชาธิปัตย์นอนมา เพราะเป็นฐานเสียงสำคัญของ นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ "นายกฯชาย" ส.ส.สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ และเคยเป็นนายก อบจ.สงขลา 2 สมัย โดยการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นายเดชอิศม์ กวาดคะแนนไปถึง 55,386 คะแนน เอาชนะคู่แข่งไปเกือบเท่าตัว
แม้ นายเดชอิศม์ จะอยู่ "ทีมถาวร เสนเนียม" และเคยเป็นคู่แข่งกับ "ทีมนิพนธ์" แต่นาทีนี้ ทั้งสองขั้วต้องประสานมือกันเพื่อทวงพื้นที่คืนจากพลังประชารัฐ คะแนนเขตนี้จึงไม่น่ามีปัญหา
เขต 6 อ.หาดใหญ่ 3 ตำบล อ.สะเดา ยกเว้น 2 ตำบล และ อ.คลองหอยโข่ง เขตนี้ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์อีกพื้นที่หนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นฐานเสียงของ นายถาวร เสนเนียม ส.ส. 6 สมัย และปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 นายถาวรสามารถเอาชนะคู่แข่งจากพรรคพลังประชารัฐไปได้แบบขาดลอย เกือบหมื่นคะแนน
เขต 7 อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย อ.สะเดา 2 ตำบล เขตนี้ถือว่าพลิกล็อคพอสมควรสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ นายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.4 สมัย เจ้าของพื้นที่ ต้องเสียเก้าอี้ให้กับ นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ จากพรรคภูมิใจไทย แบบไม่น่าเชื่อ โดย นายณัฏฐ์ชนน เป็นอดีต สจ.เขตพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ขณะที่ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐมาเป็นอันดับ 3 ได้แค่ 12,797 คะแนน ซึ่งจัดว่าน้อยมาก ฉะนั้นคะแนนตัวแปรในเขตนี้ คือคะแนนที่เคยเลือก ส.ส.ภูมิใจไทย ว่าจะเทให้ฝั่งไหน
เขต 8 อ.จะนะ และ อ.เทพา เขตนี้เป็นอีกหนึ่งฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะผู้สมัครของพรรคกวาดคะแนนไปถึง 52,075 คะแนน มากว่าอันดับ 2 อย่างพลังประชารัฐเกือบ 4 หมื่นคะแนน จึงถือว่ายากมากสำหรับพรรคแกนนำรัฐบาลที่จะพลิกเกม
แม้ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 จะทำให้พอเห็นคะแนนที่แสดงถึงความนิยมในตัวบุคคลที่ลงสมัคร และพรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะ แต่ก็ต้องยอมรับว่านั่นเป็นสนามเลือกตั้งผู้แทนระดับชาติที่มีผู้สมัครจากหลากหลายพรรคการเมือง และยังมีสถานการณ์การเมืองระดับประเทศเป็นตัวแปร โดยเฉพาะ "เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่"
แต่สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก คะแนนนิยมของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ อยู่ในทิศทาง "สาละวันเตี้ยลง" ขณะที่ราศรีของพรรคประชาธิปัตย์ดูสดใสแวววาว ทั้งบทบาทของ "ประธานฯชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา ที่ชิงการนำในภารกิจผ่าทางตันดับวิกฤติประเทศ ขณะที่ลีลาของพรรคเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็โกยคะแนนไปได้ไม่น้อย
แต่อีกด้านหนึ่ง โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ระดับ "เมกะโปรเจค" อย่างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กลับเป็นรอยด่างที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่
งานนี้จึงเป็นโอกาสของผู้สมัครในเครือข่ายประชาธิปัตย์อย่าง ว่าที่ ร.ต.ไพเจน ที่จะได้ล้างตา สางแค้นพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ผู้สมัครอิสระ และหน้าใหม่อีก 4 คน คงต้องรอลุ้นระดับ "ส้มหล่นทั้งเข่ง" อย่างเดียวเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์เข้าวิน!
-------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : โปสเตอร์หาเสียงของ ว่าที่ ร.ต.ไพเจน กับ พ.อ.สุชาติ สองตัวเต็งสำคัญ
อ่านประกอบ :
ศึกชิงนายก อบจ. 3 จังหวัดใต้ ใครเป็นใครในสมรภูมิเดือด จับตามีล้มช้าง?
7 คน 3 จังหวัด - ชิงนายก อบจ.ชายแดนใต้ แม่ทัพปรามห้ามใช้อาวุธ!
นราธิวาสงานใหญ่ "เก่าปะทะใหม่" ชิงนายก อบจ.
"รุสดี" ท้าชนรุ่นใหญ่ "เศรษฐ์ อัลยุฟรี" ศึก อบจ.ปัตตานีระอุ!