ฝนตกทั่วฟ้านราธิวาสตลอดบ่ายวันสุดท้ายของเดือน พ.ค. ลุ้นช่วยดับไฟป่าพรุบาเจาะที่ยืดเยื้อมานานกว่าครึ่งเดือน เผาทำลายพื้นที่ป่าทรงคุณค่าไปกว่า 2,000 ไร่
พื้นที่ไฟไหม้ป่าพรุบาเจาะ อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์บาเจาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส โดยไฟป่าเริ่มปะทุและลุกลามตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค. และเผาไหม้ต่อเนื่องมาจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.ก็ยังไม่ดับสนิท แม้ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าของหมวดบินเฉพาะกิจภาคใต้ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ ได้นำเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ Bell-212 ประกอบ bambi bucket โดยการใช้ถุงน้ำดับเพลิงตักน้ำจากแอ่งน้ำ ก่อนบินไปทิ้งบริเวณไฟไหม้ แต่ก็ดับไปได้เพียงบางชั้นผิวดิน ยังคงมีไฟคุกรุ่นอยู่ชั้นใต้ผิวดิน
เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พ.ค.63 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางไปตรวจพื้นที่และประชุมร่วมกับทางจังหวัดเพื่อวางแผนดับไฟป่าให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากควันไฟแพร่กระจายไปทั่วจนถึงในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาสถึงขั้นทำให้ประชาชนที่ออกมาเดินกลางแจ้งแสบตาและแสบจมูก
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เจ้าของรหัส มท.2 ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่ไฟป่าด้วย โดยไฟได้เผาไหม้ลุกลามพื้นที่ป่าพรุไปแล้วกว่า 2,125 ไร่
ในการประชุมร่วมกับทางจังหวัด นายไพศาล ขุนศรี ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส ได้บรรยายสรุปภาพรวมของสถานการณ์ไฟป่าว่า ภาพรวมของป่าพรุในเขตนิคมสหกรณ์บาเจาะ มีพื้นที่กว่า 80,000 ไร่ โดยเป็นป่าไม้ส่วนกลางประมาณ 20% มีพื้นที่ 5,000 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่นิคมสหกรณ์ โดยที่ผ่านมามีการกั้นลำคลองไว้เพื่อไม่ให้ประชาชนบุกรุกเข้าไปในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่ก็ยังมีประชาชนลักลอบเข้าไปในเขตป่า แล้วเข้าไปหาผึ้งหรือตัวต่อ โดยใช้ไฟเป็นเครี่องมือ จนทำให้เกิดเชื้อเพลิงและเกิดไฟไหม้ป่าพรุแทบทุกปี ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 52
ไฟไหม้ป่าพรุนั้นสามารถเกิดได้ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ทั้งยังสามารถเผาไหม้ลงลึกไปถึงตะกอนที่ทับถมในพื้นที่พรุ ส่งผลให้การดับไฟพรุค่อนข้างยาก ต้องใช้น้ำปริมาณมาก สำหรับไฟที่ไหม้ป่าพรุครั้งนี้ ประมาณการณ์ว่าจะต้องเติมน้ำลงไปดับไฟป่ากว่า 5,000 ล้านลิตร
ตลอดครึ่งเดือนที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้บูรณาการกันร่วมกันเติมน้ำเข้าไปในป่าพรุ พร้อมทั้งผนึกกำลังในการช่วยกันดับไฟป่า ปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มความสามารถ โดยแบ่งชุดปฏิบัติการออกเป็น 5 ชุด พร้อมขุดแนวกันไฟเพื่อไม่ให้ไฟป่าลุกลามไปยังพื้นที่ของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง โดยได้มีการวางแผนการทำงาน พร้อมทั้งระดมหาวิธีการแก้ไขปัญหาดับไฟพรุ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง
มท.2 นิพนธ์ บุญญามณี กล่าวว่า ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดับไฟป่าพรุบาเจาะ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ยี่งอ และ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ป่าพรุแห่งนี้อยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งได้นำที่ดินส่วนหนึ่งมาจัดสรรเป็นนิคม และยังมีที่ดินเหลือส่วนกลางอนุรักษ์ไว้เป็นเขตป่า ปรากฏว่าไฟได้ลุกไหม้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. โดยทางจังหวัดได้บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เข้าไปดับไฟ ล่าสุดเผาไหม้ไปแล้ว 2,125 ไร่ จึงได้วางมาตรการเพิ่มเติม หวังว่าจะดับไฟได้ภายใน 5 วัน โดยเฉพาะหากมีฝนตกลงมาก็จะช่วยได้มาก
"สำหรับในปีต่อไป กรมชลประทานได้วางแผนในการส่งน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงบริเวณป่าพรุ ถือเป็นการวางแผนระยะยาวเพื่อจะช่วยกันรักษาผืนป่าแห่งนี้ให้อุดมสมบูรณ์ต่อไป" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
มีรายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์สภาพอากาศระหว่างวันที่ 28 พ.ค.ถึง 1 มิ.ย. จะมีฝนตกลงมาในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก รวมถึงในพื้นที่ จ.นราธิวาส ด้วย ปรากฏว่าในวันอาทิตย์ที่ 31 พ.ค.ตลอดช่วงบ่าย มีฝนตกลงมาจริงๆ จึงคาดว่าจะสามารถช่วยชะลอการลุกลามของไฟไหม้ป่าพรุได้มากยิ่งขึ้น
ป่าพรุนราฯ ผืนสุดท้ายของประเทศ!
สำหรับความสำคัญของ "ป่าพรุ" มีข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในบทความที่ชื่อว่า "ป่าพรุผืนสุดท้ายของประเทศไทย" ระบุเอาไว้ดังนี้
"ป่าพรุ" เป็น สังคมพืชป่าไม้ไม่ผลัดใบ (evergreen) อีกแบบหนึ่ง เกิดจากอิทธิพลของสภาพพื้นดิน (edlaphic factor) ที่มีน้ำจืดขังติดต่อกันชั่วนาตาปีเป็นปัจจัยสำคัญ ตรงกับนิยามศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "peat swamp forest" ซึ่งเป็นหนึ่งในสังคมพืชที่มีน้ำท่วมหรือขัง 3 จำพวก คือ 1.ป่าเลนน้ำเค็ม ป่าชายเลน หรือป่าโกงกาง (mangrove forest) 2.ป่าบึงน้ำจืด (freshwater swamp forest) และ 3.ป่าพรุ (peat swamp forest)
การจำแนกสังคมพืชและเรียกชื่อสังคมพืชที่ผิดพลาด อาจก่อให้เกิดผลเสียอย่างมหันต์ในแง่การพัฒนาพื้นที่สังคมพืช ดังเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมพืชป่าพรุในปัจจุบัน
การ "พัฒนา" พื้นที่ป่าพรุดั้งเดิมที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทั้งในด้านการป่าไม้ และการอนุรักษ์พื้นที่ไว้เป็นแหล่งเก็บน้ำจืดและความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ โดยทำทางระบายน้ำออกจากพรุสู่ทะเล จะเป็นการ "ทำลาย" ทรัพยากรธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศที่มีคุณค่ายิ่งให้สูญสิ้นไปโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
คำว่า "พรุ" เป็นคำสามัญที่ชาวบ้านทางภาคใต้ใช้เรียก "บริเวณที่เป็นที่ลุ่มชุ่มชื้น มีน้ำแช่ขังมาก มีซากผุพังของต้นไม้และพันธุ์พืชทับถมมากหรือน้อย เวลาเหยียบย่ำจะยุบตัวและมีความรู้สึกหยุ่นๆ" พื้นที่นี้ตรงกับคำว่า "bog" ในภาษาอังกฤษ
สภาพดินพรุ ที่มีซากพันธุ์พืชทับถมนั้นจัดว่าเป็นดินอินทรีย์วัตถุ หรือ ดินเชิงอินทรีย์ (organic soils) หรือที่รู้จักกันว่า ดินชุดนราธิวาส (Narathiwat serics) ส่วนที่สลายไปหมดเรียกว่า "muck" ส่วนที่สลายไม่หมดเรียกว่า "peat and muck soil" ส่วนมากจะมีความลึก (หนา) อยู่ระหว่าง 50 – 100 เซ็นติเมตร บางแห่งอาจลึกมากกว่า 2 เมตร
ป่าพรุมีความแตกต่างจากป่าบึงน้ำจืด (fresh water swamp forest) อย่างเห็นได้ชัด คือ พื้นล่างของป่าพรุจะมีชั้นซากพืชและอินทรีย์วัตถุต่างๆ ที่ยังสลายไม่หมด (peat) ทับถมกันหนามากจนเต็มอ่างรูปกระทะ และจะไม่มีแม่น้ำหรือลำคลองติดต่อกับพื้นที่ป่าพรุโดยตรง ในขณะที่ป่าบึงน้ำจืดจะไม่มีการสะสมซากพืชและอินทรีย์วัตถุอย่างถาวรแ ละได้รับน้ำจืดจากปริมาณของแม่น้ำหรือบึงใหญ่ๆ ที่เอ่อล้นตลิ่งขึ้นมาท่วมพื้นที่ราบ เกิดเป็นพื้นที่ชื้นแฉะมากหรือน้อยตลอดปี สังคมพืชป่าบึงน้ำจืดจะมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นกระจัดกระจายอยู่ห่างๆ เรือนยอดไม่ชิดติดกันเช่นต้นไม้ในป่าพรุ ดังนั้นสังคมพืชป่าบึงน้ำจืดจึงมักไม่ปรากฏว่ามีชั้นไม้ต่างๆ ชัดเจนเช่นชั้นต้นไม้ของป่าพรุ
ลักษณะพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าพรุส่วนใหญ่จะมีรากแก้วค่อนข้างสั้น มีรากแขนงแผ่กว้าง แข็งแรง และส่วนใหญ่มีรากค้ำยัน (Stilt roots) เช่น ตังหน (Calophyllum inophylloides) ละไมป่า (Baccaurea bracteata) และยากา (Blumeodendron kurzii) เป็นต้น โคนต้นมักมีพูพอน (buttresses) สูงใหญ่ พันธุ์ไม้บางชนิดมี รากหายใจ (breathing roots หรือ pneunatophores) โผล่พ้นระดับผิวดินขึ้นมาในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น ตั้งขั้นแล้วหักพับลงคล้ายหัวเข่า โค้งคล้ายสะพานหรือรูปครึ่งวงกลมคล้ายบ่วง และติดกันเป็นแผ่นคล้ายกระดาน บิดคดเคี้ยวไปมา เป็นต้น
พื้นที่ป่าพรุใน จ.นราธิวาส เคยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากที่สุด มีอยู่ด้วยกันสองพรุใหญ่ พรุแรก คือ "พรุบาเจาะ" อยู่ในเขต อ.บาเจาะและอำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ 66,450 ไร่ ปัจจุบันกลายเป็นป่าพรุที่เสื่อมสภาพ ไม้ดั้งเดิมถูกทำลายไปจนหมดสิ้น มีแต่ไม้เสม็ด (Melaleuca cajeputi) ขึ้นอยู่เป็นส่วนใหญ่
พรุที่สองคือ "พรุโต๊ะแดง" อยู่ในเขต อ.สุไหงปาดี อ.สุไหงโกลก อ.ตากใบ และเลยไปถึงอำเภอเมืองอีกเล็กน้อย มีพื้นที่ประมาณ 216,900 ไร่ ขนาดของพื้นที่คิดเฉพาะพื้นที่ที่เป็นซากพืชทับถมหนามากกว่า 40 เซ็นติเมตร ขึ้นไป (ที่มา: กองสำรวจดิน กรมพัฒนาที่ดิน, 2525)
ป่าพรุโต๊ะแดง มีสภาพเป็น "ป่าพรุ" ที่แท้จริง ซึ่งเหลืออยู่เป็นผืนสุดท้ายของประเทศไทย จากการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ ถ่ายเมื่อปี 2525 ปรากฏว่ามีอยู่ประมาณ 200,000 ไร่ แต่เนื่องจากการรีบเร่งเข้าไปพัฒนาพื้นที่พรุของส่วนราชการต่างๆ เช่น การก่อตั้งนิคมสหกรณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขุดคลองระบายน้ำออกจากพื้นที่ป่าพรุสู่แม่น้ำและทะเล ทำให้ป่าพรุโต๊ะแดงเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ดินพรุยุบตัวลงและแห้งในฤดูแล้ง จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อมีไฟไหม้ป่าขึ้นจะลุกลามไปตามอินทรีย์วัตถุที่ยังไม่สลายตัวตามพื้นดิน เหมือนไฟลามขอน นานหลายวันหลายคืน จนกว่าจะถึงบริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง ไฟจึงจะมอดไป สาเหตุนี้ทำให้สภาพพื้นที่ป่าพรุถูกทำลายหมดไปอย่างรวดเร็ว และไม่มีทางฟื้นคืนสภาพขึ้นมาได้อีก
เมื่อต้นปี 2528 ผลการบินสำรวจพื้นที่ป่าพรุของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พบว่าพื้นที่ที่เป็น "ป่าพรุ" (ไม่ใช่ "ป่าเสม็ด") ของพรุโต๊ะแดง มีพื้นที่เหลืออยู่ไม่เกิน 50,000 ไร่ ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียพื้นที่ป่าพรุในอัตราที่สูงมาก (ประมาณ 45,000 ไร่ต่อปี) ในช่วงระยะเวลาเพียง 3–4 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้นป่าพรุใน จ.นราธิวาสในปัจจุบันนี้ จึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติป่าพรุที่แท้จริง (primary peat swamp forest) ผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในประเทศไทย การที่มีผู้ท้วงติงว่ายังมีป่าพรุอีกมากมายในประเทศไทยนั้นเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงพื้นฐานลักษณะโครงสร้างของสังคมพืชป่าพรุที่แท้จริง และเข้าใจไขว้เขวไปว่า "ป่าเสม็ด" ก็คือ ป่าพรุนั่นเอง (อ่านบทความฉบับเต็มได้จาก https://www.seub.or.th/seub/บทความ/ป่าพรุผืนสุดท้ายของประ/)