เกิดเหตุการณ์ที่หวังสร้างความปั่นป่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 เหตุการณ์ ก่อนอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางลงพื้นที่ในวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ.68
หนึ่ง ระเบิดหน้าร้านสะดวกซื้อ “มินิบิ๊กซี” สาขา อ.บันนังสตา จ.ยะลา แรงระเบิดทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีกหลายราย ตำรวจชุดสายตรวจได้รับบาดเจ็บอีก 7 นาย ทรัพย์สินเสียหาย โดยเฉพาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่บริเวณใกล้เคียง
สอง เหตุขว้างประทัดยักษ์บริเวณแยกวัดเจาะไอร้อง หมู่ 2 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดยภายในวัดเป็นที่ตั้งของฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีใครได้รับอันตราย
สาม ระเบิดที่รถกระบะของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจอดอยู่ในเขตท่าอากาศยานนราธิวาส แรงระเบิดทำให้ตัวรถได้รับความเสียหายเล็กน้อย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
สองเหตุการณ์แรกเกิดช่วงกลางคืนของวันเสาร์ที่ 22 ก.พ. ส่วนเหตุการณ์ระเบิดที่รถกระบะ เกิดก่อนคณะของอดีตนายกฯเดินทางถึงสนามบินราวๆ 1 ชั่วโมง
เหตุการณ์ที่ตกเป็นข่าวมากที่สุด คือเหตุระเบิดที่รถกะบะในพื้นที่สนามบินนราธิวาส สื่อมวลชนบางแขนงรายงานว่าเป็น “คาร์บอมบ์” ทำให้สถานการณ์ดูร้ายแรง และก่อความตื่นตระหนกพอสมควร ทั้งๆ ที่ความเสียหายของเหตุการณ์นี้มีเพียงเล็กน้อย
สอบถามเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดโดยตรง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาข้อมูลด้านการก่อการร้ายและก่อความไม่สงบ ได้รับคำยืนยันว่า รูปแบบระเบิดที่เกิดขึ้นในเขตสนามบินนราธิวาส “ไม่เรียกว่าคาร์บอมบ์”
ระเบิดแบบนี้ ต้องเรียกว่า “บอมบ์อินคาร์” (Bomb in car) คือการวางระเบิดลูกเล็กซุกซ่อนอยู่ภายในรถ
ส่วนคำจำกัดความของ “คาร์บอมบ์” (Car bomb) ในเชิงยุทธวิธี คือ การประกอบระเบิดแสวงเครื่องโดยซุกซ่อนอยู่เป็นส่วนหนึ่งของรถยนต์คันนั้น และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีเป้าหมายทางยุทธวิธี หรือเป้าหมายทางการเมือง
ลักษณะของ “คาร์บอมบ์” คือ วัตถุระเบิดและปริมาณดินระเบิดต้องมีความรุนแรงและจำนวนมากพอที่จะทำให้รถยนต์ที่ติดตั้งระเบิดมานั้น แตกกระจายเป็นชิ้นส่วนสะเก็ดระเบิดที่แตกกระเด็นไป เรียกว่า “ส่วนสังหาร” สามารถทำลายชีวิตและทรัพย์สินได้
“คาร์บอมบ์” ในทางยุทธวิธีเป็นอาวุธที่มีอานุภาพสูง ใช้ในการโจมตีเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันแน่นหนา หรือในสถานที่ที่มีความปลอดภัยสูง สามารถโจมตีระยะไกลได้ ผู้ก่อเหตุสามารถติดตั้งระเบิดไว้ล่วงหน้า และจุดชนวนจากระยะไกลได้ โดยใช้รีโมตคอนโทรล โทรศัพท์มือถือ หรือกลไกจับเวลา
อย่างไรก็ดี อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานด้านข่าวกรอง ให้ข้อมูลเพิ่มว่า แม้ระเบิดที่เกิดขึ้นที่สนามบินนราธิวาส จะไม่ส่งผลเสียหายอย่างรุนแรง แต่ก็ทำให้เป็นข่าวใหญ่ และฝ่ายผู้ก่อเหตุก็ต้องการให้เป็นข่าว โดยมีเจตนาเพื่อแสดงพลังข่มฝ่ายรัฐ และสร้างขวัญกำลังใจให้ฝ่ายตนเอง
ที่สำคัญคือ ภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ควบคุม เฝ้าระวัง และป้องปรามการเกิดเหตุไม่ได้ จึงเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องแก้ไขกันต่อไป