หลายคนอาจจะแปลกใจว่าเหตุเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.67 ตอนที่ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร แถลงผลงานรัฐบาลในวาระทำงานครบ 90 วัน จึงมีการพูดถึงปัญหาอุทกภัยภาคเหนือ และภาคใต้เป็นเรื่องแรก แล้วก็ตามด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง
สาเหตุเป็นเพราะอุทกภัยที่เกิดขึ้น ไม่ใช่น้ำท่วมธรรมดา แต่มันสะท้อนถึงภัยพิบัติ ซึ่งเป็นภัยใหม่ที่เกิดขึ้น และมีแนวโน้มรุ่นแรงขึ้น เป็นภาระหนักอึ้งที่รัฐบาลต้องเผชิญอีกแน่นอน จึงรีบชิงอธิบายและสื่อสารให้ประชาชนรู้ว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่เตรียนแผนรับมือไว้บ้างแล้ว
ที่เชียงราย คงยังจำกันได้ ไม่ได้มีแต่น้ำที่ถล่มชุมชนหมู่บ้าน แต่ทะเลโคลนหลากเข้าบ้านเรือนประชาชน สูงเป็นเมตร ที่ร้ายก็คือ น้ำยังสูบออกได้ แต่โคลนจะจัดการอย่างไร การช่วยเหลือฟื้นฟู ทำความสะอาดใช้เวลาเป็นเดือนๆ ทีมจิตอาสาจากภาคเอกชน หรือแม้แต่คนในเรือนจำ ภายใต้การอำนวยการของรัฐมนตรียุติธรรม ต้องระดมกันเป็น “มดงาน” ไปช่วยเหลือ
ผ่านมาไม่ถึง 2 เดือน เกิดอุทกภัยภาคใต้ และเกิดดินสไลด์ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด ฟังเผินๆ อาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะข่าวดินสไลด์เบตงมีเป็นประจำ
แต่จริงๆ แล้วหนนี้ ปีนี้ มันหนักขึ้นมาก ถึงขั้นลานจอดรถเทศบาลเบตง โดนดินสไลด์ดันขึ้นสูงเท่าตึก 2 ชั้น ส่วนอาคารเทศบาลต้องปิดชั่วคราว ใช้การไม่ได้ ภาพที่ปรากฏน่ากลัวมาก
หนำซ้ำเหตุการณ์ดินสไลด์ยังเกิดหลายครั้ง “ทีมข่าวอิศรา” สรุปมาให้ดู เฉพาะช่วงสถานการณ์อุทกภัยปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมานี้เท่านั้น เกิดดินสไลด์รุนแรง 4 ครั้ง
@@ 7 วันดินสไลด์ 4 รอบ เสียหายยับ 4 จุด
ครั้งแรก วันที่ 27 พ.ย. - เหตุถนนทรุดตัวพังเสียหายจากดินสไลด์ ระหว่างหมู่ 3 บ้านกาแป๊ะซาลัง ตำบลธารน้ำทิพย์ กับ หมู่ 5 บ้านราโมง ตำบลยะรม
ตอนที่ถนนทรุดเพราะดินสไลด์ ยังไม่มีใครได้รับอันตราย แต่แล้วจู่ๆ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา เพิ่งมีรถมอเตอร์ไซค์ของประชาชนพลัดตกลงไป ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
ครั้งที่ 2 วันที่ 1 ธ.ค. - เหตุดินภูเขาสไลด์ดันพื้นปูนบริเวณลานจอดรถหลังอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองเบตง ทำให้ลานจอดรถยกตัวขึ้นสูงเท่าตึก 2 ชั้น ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
ครั้งที่ 3 วันที่ 2 ธ.ค. - เหตุดินสไลด์ ห่างจากลานจอดรถเทศบาลเบตงแค่ 800 เมตร ทำให้พื้นปูนที่สนามบาสเกตบอลวิทยาลัยการอาชีพเบตงพังลงไป เป็นเหวลึก 30 เมตร
ครั้งที่ 4 วันที่ 4 ธ.ค. - ดินสไลด์บริเวณถนนมหามงคล ทางขึ้นสำนักงานขนส่งอำเภอเบตง ทำให้ถนนทรุดตัวลึก 10 เมตร กว้าง 8 เมตร และยาว 50 เมตร เสียหายอย่างหนัก
@@ คนเบตงกังขา “ตึก-ถนน-ลานจอดรถ” สร้างชุ่ยหรือไม่?
หลังเกิดเหตุการณ์ดินสไลด์ซ้ำๆ หลายครั้ง โดยเฉพาะที่ลานจอดรถเทศบาลเมืองเบตง ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาคารสำนักงานของเทศบาลด้วย ทำให้ต้องปิดทำการเพื่อรอเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน “ธรณีวิทยา” เข้าตรวจสอบ
ปรากฏว่าเรื่องนี้มีเสียงวิจารณ์จากคนเบตงไม่น้อย โดยมีการตั้งคำถามจากภาพที่ปรากฏทางสื่อมวลชนว่า ทั้งถนนและอาคารที่ได้รับความเสียหายจากดินสไลด์ ใช้เหล็กและคอนกรีตในการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานตามสเปคที่กำหนดหรือไม่
เพราะเมื่อตรวจสอบงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดยะลา พบว่าได้รับงบสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของภาคใต้ ในปีงบประมาณ 2566 คือ 398 ล้านบาทเศษ หรือเกือบๆ 400 ล้าน แต่ประชาชนกลับยังต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมทุกปี และดินสไลด์ก็เกิดบ่อยขึ้น หนักขึ้น จึงมีการเรียกร้องทั้งทางโซเชียลมีเดีย และตามสภากาแฟ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ
@@ “ธรณีวิทยา” ลงพื้นที่ตรวจสอบ ยืนยันอาคารยังแกร่ง
ต่อมาวันที่ 8 ธ.ค. ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ทั้งจากสำนักทรัพยากรธรณี และสถาบันการศึกษา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองเบตง และบริเวณลานจอดรถที่เกิดดินสไลด์ลงมาจากภูเขาจนได้รับความเสียหาย โดยนำ “อุปกรณ์สำรวจระยะไกลด้วยเลเซอร์” มาใช้ในการตรวจสอบด้วย
ผลการตรวจสอบเบื้องต้น แม้จะพบว่า โครงสร้างอาคารยังมั่นคงแข็งแรง มีความเสียหายไม่มากนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ได้เสนอทำแผนป้องกันระยะยาว ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อตัวอาคาร รวมถึงแผนการรื้อกองดินที่สไลด์ออกไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องสูบน้ำ รวมถึงสกัดน้ำที่อุ้มอยู่กับดินออกไปด้วย เพราะทำให้น้ำหนักมาก
@@ ผอ.ป.ป.ช.ยะลา ลุยเอง ลั่นไม่พบผิดปกติ
ล่าสุด 13 ธ.ค. นายนพพร บุญโชติตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดยะลา นำคณะ ป.ป.ช.ยะลาลงพื้นที่ ตรวจสอบเหตุดินสไลด์ หลังอาคารเทศบาลเมืองเบตง เป็นเหตุให้มีรถบัส รถตู้ของทางราชการ และรถยนต์ กับรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่เทศบาลได้รับความเสียหายจำนวนมาก พร้อมรับฟังการชี้แจง ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาจาก นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง
ผอ.ป.ป.ช.ยะลา บอกว่า ได้ทราบข่าวเหตุการณ์ดินสไลด์ และกระแสวิจารณ์จากประชาชน เรื่องคุณภาพงานก่อสร้างอาคาร และลานจอดรถ จึงเดินทางมาตรวจสอบ ก็พบว่าตัวอาคารและพื้นซีเมนต์ มีเหล็กเส้นที่ใช้ในการก่อสร้าง เบื้องต้นยังไม่พบสิ่งผิดปกติ อาจเป็นเพราะดินอุ้มน้ำไว้เยอะ แล้วสไลด์ลงมา
ด้าน นายกเทศมนตรีเมืองเบตง บอกว่า หลังจากมีข้อสงสัยจากพี่น้องประชาชน ก็ได้พิสูจน์ทุกคำถาม ได้ไปวัดขนาดเหล็ก วัดขนาดคอนกรีตเทพื้น รวมถึงจัดงบประมาณที่จะนำมาซ่อมแซม โดยใช้เงินสะสมของเทศบาลซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 ล้านบาท ยืนยันว่าตัวอาคารยังใช้งานได้ เพราะดินสไลด์ลงมา ไม่ได้ปะทะตัวอาคารเทศบาลโดยตรง แต่มีอาคารศูนย์บำบัดน้ำเสียรับแรงปะทะเอาไว้ก่อนถึงตึก
@@ ภัยพิบัติที่วางไว้ไม่ได้
บทสรุปเบื้องต้นยังไม่พบประเด็นทุจริต หรือการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่จุดนี้ยิ่งตอกย้ำว่า ภัยพิบัติดินสไลด์เบตงไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะเป็นภัยธรรมชาติที่จู่โจมแรงจริงๆ เหมือนโคลนถล่มที่เชียงราย
โปรดสังเกต จังหวัดเหนือสุดแดนสยาม กับใต้สุดแดนสยาม เกิดเหตุภัยพิบัติคล้ายๆ กัน ย่อมไม่ใช่เรื่องดี โดยเฉพาะเบตงเป็นเมืองท่องเที่ยว กำลังจะเปิดเที่ยวบินตรง ลงที่เบตงอีกครั้งในปีหน้า การมีข่าวแบบนี้บ่อยๆ ย่อมไม่ดีต่อการท่องเที่ยวแน่นอน