“คดีตากใบ” แม้จะขาดอายุความไปแล้ว แต่ผลข้างเคียงที่เกิดตามมายังไม่จบ
“ทีมข่าวอิศรา” อยู่ในวงหารือของ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม
- ระดับอธิบดี 1 คน
- ระดับที่ปรึกษา 1 คน
- ระดับรัฐมนตรี (กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม) 1 คน
ทุกคนยืนยันว่า เรื่องตากใบไม่จบ เพราะการกลับมาปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็วของปลัดอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม คุณวิษณุ เลิศสงคราม ทำให้กระแสสังคมรับไม่ได้ เพราะเท่ากับลาราชการหนีคดี
แถมบุคคลที่เกี่ยวข้องระดับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เป็นต้นสังกัดของปลัดอำเภอ “มท.หนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ยังพูดทำนองว่าน่าจะเอาผิดระดับร้ายแรง เช่น ไล่ออก ได้ยาก เนื่องจากขาดราชการไม่เกิน 15 วัน
จากเรื่องราวที่ปรากฏหลังคดีตากใบขาดอายุความ ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมพูดในวงหารือว่า “ทำแบบนี้เหมือนหยามกระแสสังคม” “สังคมรับไม่ได้” “น่าจะมีการสะกิดให้หนี แล้วทำไมต้องรีบกลับมาทำงาน เหมือนซ้ำเติมสถานการณ์”
และสุดท้ายมีการพูดกันถึงขนาดว่า รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอาจจะงานเข้าได้!
@@ “ปลัดท่าอุเทน” ลางานหลังถูกออกหมายจับ
หากย้อนไปดูไทม์ไลน์ของคดีตากใบ สำนวนที่ 2 ซึ่งอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 ราย หนึ่งในนั้นคือ ปลัดอำเภอท่าอุเทน
ไทม์ไลน์นี้จะบอกเลยว่า การลาราชการของปลัดอำเภอ เป็นการลาหลังจากมีหมายจับในคดีอาญาแล้ว
12 ก.ย.67 อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องคดีตากใบ สำนวน 2
18 ก.ย.67 คณะโฆษกอัยการ แถลงคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุด
- ฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ชื่อปลัดอำเภอท่าอุเทน วิษณุ เลิศสงคราม เป็นผู้ต้องหาที่ 3
- มีการระบุชื่อในเอกสารแถลงข่าว และสื่อทุกแขนงรายงานอย่างครึกโครม
30 ก.ย.- 1 ต.ค.67 พนักงานสอบสวนขออนุมัติหมายจับและหมายเรียกจากศาลจังหวัดปัตตานี (มี 3 ผู้ต้องหา ออกเป็นหมายเรียก เพราะเป็นข้าราชการ แต่ไม่ชัดว่ารวมปลัดท่าอุเทนด้วยหรือไม่)
ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.ถึงสิ้นเดือน ก.ย. ตำรวจอ้างว่าสำนวนคดีที่ส่งอัยการสูงสุด ฝ่ายตำรวจทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เมื่ออัยการสูงสุด “สั่งฟ้อง” จึงต้องแจ้งกลับมาให้ตำรวจติดตามตัวผู้ต้องหาส่งอัยการ โดยฝ่ายตำรวจไม่ได้มีหมายจับอยู่ในมือ
3 ต.ค.67 มีรายงานยืนยันว่า ปลัดอำเภอท่าอุเทนเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ
3-4 ต.ค.67 ตำรวจปูพรมค้นบ้านผู้ต้องหา และจำเลยคดีตากใบทั้ง 2 สำนวนในหลายพื้นที่ แต่ไม่มีที่ อำเภอท่าอุเทน
18 ต.ค.67 พล.ต.ต.นิตินัย หลังยาหน่าย รองผบช.ภ.9 ไปติดตามตัวปลัดท่าอุเทน ถึงที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม แต่ไม่พบตัว
- มีรายงานว่าปลัดท่าอุเทน ลาราชการ โดยยื่นใบลาถูกต้อง
26 ต.ค.67 หลังคดีขาดอายุความวันที่ 25 ต.ค. ปลัดท่าอุเทนกลับมาทำงานตามปกติ และลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ทันที คือระงับเหตุชายคลุ้มคลั่งจากการเสพยา
- มีคำชี้แจงจากผู้บังคับบัญชา และ มท.1 ที่ได้รับรายงานว่า ปลัดท่าอุเทน ลาราชการ 15-18 ต.ค. จากนั้นก็ขาดราชการไป กลับมาวันที่ 26 ต.ค. ถือว่าขาดราชการไม่เกิน 15 วัน จึงไล่ออกจากราชการไม่ได้
- เมื่อผู้บังคับบัญชาทราบว่าถูกออกหมายจับ ก็ยกเลิกใบลา
- มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
ข้อสังเกตจากไทม์ไลน์ “ใบลา” ปลัดท่าอุเทน
1.ลาราชการ 15 ต.ค.ตามที่มีคำชี้แจง เป็นการลาก่อนที่รองผบช.ภ.9 จะไปติดตามตัวเพียง 2 วัน
- มีคนสะกิดให้ลาล่วงหน้า หรือหลบฉากหรือไม่
2.การลาราชการ 15 - 18 ต.ค. ถ้าจริง ถือว่าเป็นการลาหลังจากโดนออกหมายจับแล้ว และมีการแถลงจากอัยการสูงสุด ตกเป็นผู้ต้องหานานกว่า 1 เดือนแล้ว (อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง 12 ก.ย. แถลง 18 ก.ย.)
- ผู้บังคับบัญชาไม่รู้เรื่องเลยหรือ ไม่อ่านไลน์กลุ่ม ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูทีวี ฯลฯ หรืออย่างไร
- ละเลยหรือไม่
- ตัวปลัดอำเภอลาราชการโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นผู้ต้องหาคดีสำคัญ จึงต้องการหนีเพื่อให้ขาดอายุความหรือไม่
3.การเร่งกลับมาทำงานทันทีหลังคดีขาดอายุความแค่ข้ามวัน มีวัตถุประสงค์อะไร
- ห่วงงาน รักงาน ห่วงพื้นที่ รักพี่น้องประชาชน?
- มีความรับผิดชอบสูง?
- หรือหวังลอดช่องกฎหมาย ขาดราชการไม่เกิน 15 วัน ไล่ออกไม่ได้
@@ ประวัติ “ปลัดคนขยัน” จากนายสิบพลขับ..สู่นักปกครอง
สถานการณ์ ณ เวลานี้ กระแสสังคม และแม้แต่กระแสในรัฐบาล เทไปถล่มและกดดันปลัดอำเภอท่าอุเทนอย่างมาก
แต่ว่าล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลเชิงลึกจากแวดวงข้าราชการระดับสูงฝ่ายปกครองว่า กำลังเกิด “คลื่นใต้น้ำ” ในหมู่ “นักปกครอง” เพราะไม่พอใจที่มีการไล่บี้ปลัดอำเภอรายนี้อย่างเอาเป็นเอาตาย และไม่เป็นธรรม
1.ประวัติของปลัดอำเภอท่าอุเทน
- ขณะเกิดเหตุ ปี 2547 เป็นทหารชั้นผู้น้อย ยศนายสิบ มีตำแหน่ง “พลขับ”
- รับหน้าที่ขับรถยีเอ็มซี เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมตากใบ
- ไม่ทราบเรื่องที่มีผู้เสียชีวิตขณะขับรถ และไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจับกุม หรือนำตัวผู้ชุมนุมไปเรียงซ้อนกันบนรถ
- หลังเกิดเหตุสิบกว่าปี ปลัดฯวิษณุ ยังเป็นทหารสังกัดกองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
- เป็นช่วงเวลาที่ปลัดอำเภอรายนี้ ขยันขันแข็ง ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี และสอบติดปลัดอำเภอ เมื่อปี 2559
- ช่วงแรกเป็นปลัดอำเภออยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ภายหลังขอย้ายกลับบ้านที่อีสาน และไปอยู่ที่อำเภอท่าอุเทน
@@ คลื่นใต้น้ำ “นักปกครอง” แฉ “บิ๊กมีสี” กดดัน-ลอยแพ
2.พฤติการณ์ของปลัดฯวิษณุ
- ขณะเกิดเหตุ ไม่ได้ขับรถพาคนไปตาย
- ทำหน้าที่พลขับเท่านั้น จึงไม่ควรโดนดำเนินคดีในข้อหาหนัก วิสามัญฆาตกรรม เพราะไม่เกี่ยวข้อง
ตั้งคำถามว่า ความอยุติธรรมที่กล่าวหากัน ใครกันแน่ที่ไม่ได้รับความยุติธรรม
3.ในแวดวงนักปกครอง ทราบดีว่า ปลัดอำเภอรายนี้ เมื่อถูกออกกหมายจับ ได้เตรียมเข้ามอบตัวสู้คดี เพราะมั่นใจว่าตัวเองไม่ผิด ปรึกษานักกฎหมายแล้วก็เชื่อว่าไม่ผิด
- เตรียมจะเข้ามอบตัวตามกฎหมาย
- แต่มี “ผู้ใหญ่มีสี” สะกิดไว้ และส่งข้อความเชิงขู่กลายๆ ว่า “อย่ามอบตัว”
4.นัยที่ทราบกันดี
- ถ้าปลัดอำเภอรายนี้มอบตัว แรงกดดันจะไปอยู่ที่ราชการหน่วยอื่น กระทรวงอื่น เพราะในกลุ่มผู้ต้องหา 8 คน มีอีก 2 คนยังรับราชการอยู่เช่นกัน (นอกจากปลัดอำเภอ) โดยเป็นทหารสังกัดกองทัพภาคที่ 4 ทั้งคู่ และยังไม่เกษียณ
นี่คือสาเหตุที่มีการส่งสัญญาณ “ไม่ให้มอบตัว” หรือไม่
5.มีท่าทีจาก “นักปกครอง” ว่า ถ้าบี้กันไม่หยุด และไม่มีใครปกป้อง จะมีกลุ่มข้าราชการ หรืออดีตข้าราชการสีเดียวกันกับปลัดอำเภอท่านนี้ แถลงข่าวแสดงจุดยืนบ้าง และเรียกร้องให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบด้วย
6.เกิดคำถามทิ้งท้ายว่า นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร กับ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ชื่อ ภูมิธรรม เวชยชัย จะทำอย่างไรต่อไปกับข้อมูลนี้
------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากรายการ เนชั่น อินไซต์ เนชั่นทีวี