การตรวจสอบข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์ “ฮั้วประมูล” ของ “กำนันนก” และเครือข่าย ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ มูลค่าหลายพันล้านบาทตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างขะมักเขม้น
แต่เรื่องนี้ต้องรื้อทั้งประเทศ เพราะการฮั้วประมูลไม่ได้มีแค่นครปฐมจังหวัดเดียว แต่มีทุกภาคของประเทศ ไม่เว้นพื้นที่ความมั่นคง มีระเบิดรายวันอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ขึ้นชื่อเรื่อง “ฮั้ว” ถูกสั่งสอบ สั่งยกเลิกโครงการมาแล้วนับไม่ถ้วน
ที่สำคัญเครือข่าย “ฮั้วประมูล” โยงการเมือง “ระบบบ้านใหญ่” อย่างแยกไม่ออก
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ “กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ” สังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ อธิบายภาพใหญ่ของปัญหา “ฮั้วประมูล” ในประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นต้นทางของปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาผู้มีอิทธิพล ลุกลามไปถึงเรื่องธุรกิจสีเทา ธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ บ่อนการพนัน บางรายลามไปถึงยาเสพติดก็มี
“เครือข่ายฮั้วประมูล” มีกระจายอยู่ทุกภาค ทุกจังหวัด มี “ขาใหญ่” ระดับภาค หรือระดับจังหวัดเป็นเจ้าประจำ และส่วนใหญ่เป็น “บ้านใหญ่ - ตระกูลการเมือง” ในพื้นที่นั้น
เพราะนักการเมืองบ้านเรา โดยมากเติบโตมาจากผู้รับเหมา แล้วกระโดดเข้าสู่เวทีการเมืองระดับท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เทศบาล อบจ. แล้วจึงกระโดดสู่ระดับชาติ
ขณะเดียวกันก็มีพวกที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล แล้วผันตัวไปเปิดบริษัทรับเหมา รับงาน สร้างความร่ำรวยและอิทธิพลของตนก็ไม่น้อย
รายใหญ่ระดับภาคและระดับจังหวัด จะแบ่งเป็น “ซุ้มการเมือง” ยกตัวอย่างในจังหวัดดังๆ ก็เช่น บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี นครปฐม ซึ่งเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้
“ซุ้มการเมือง” เหล่านี้ คุมกลไกได้ทั้งจังหวัด บางซุ้มคุมถึงระดับภาค มีคอนเนคชั่นเชื่อมโยงกับนักการเมือง ทั้ง สส.และรัฐมนตรี บางรายสมาชิกบ้านใหญ่เป็น สส.หรือรัฐมนตรีเองเลยก็มี
นักการเมืองเหล่านี้ก็จะทำโครงการ ปั้นโครงการ แบ่งโครงการ หรือแม้แต่ดึงโครงการ พร้อมงบประมาณมาลงที่จังหวัดตน ถ้าเป็นโครงการระดับภาค ก็จะกระจายไปในพื้นที่ฐานเสียง จังหวัดฐานเสียงของตน เช่น โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในโรงเรียน ซึ่งอนุมัติงบเป็นกลุ่มจังหวัด หรือเป็นภาค
เมื่อได้งบมา นักการเมืองก็จะจัดสรรงบไปลงในพื้นที่ฐานเสียงของตน หรือพื้นที่ที่ตนมีเครือข่ายผู้รับเหมาอยู่ เพื่อแบ่งงบ แบ่งกำไร ทำมาหากินกันอย่างเป็นระบบ
เมื่อได้งานมาในระดับจังหวัด จะหารือกันในกลุ่มว่าใครจะรับงานไป
- ถ้าเป็นโครงการใหญ่ บริษัทบ้านใหญ่รับไป หรือใช้นอมินีรับงานแทน
- ถ้าเป็นโครงการระดับรองๆ ลงมา งบน้อยลง ก็จะกระจายไปให้บริษัทในเครือข่าย โดยบริษัทในเครือข่ายก็เป็นของนักการเมืองท้องถิ่น หัวคะแนน คนคุมฐานเสียง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
- การประมูลงาน หรือเสนอราคา (แล้วแต่รูปแบบการคัดเลือกผู้รับจ้างที่ใช้ในโครงการนั้นๆ) จะใช้บริษัทในกลุ่มเครือข่ายของตนทำทีเป็นเสนอราคาแข่งกัน แต่จริงๆ ตกลงกันหมดแล้วว่าใครหรือบริษัทไหนจะได้งาน
- รูปแบบการกระจายงาน มีทั้งสลับกันได้งาน เหมือนแบ่งเค้กกัน หรือบริษัทหลักแห่งเดียวที่ได้งาน ที่เหลือเป็นคู่เทียบที่อุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อเลี่ยงกฎหมาย เพราะการจัดจ้างแบบ “เฉพาะเจาะจง” หรือ “วิธีพิเศษ” มีข้อกำหนดให้สอบราคาเทียบกับเอกชนรายอื่นด้วย จึงต้องมี “บริษัทคู่เทียบ” เตรียมเอาไว้
- บริษัทคู่เทียบ ไม่ต้องลงทุนอะไร แค่จดเบียน มีที่ตั้ง ยื่นเสนอราคาหรือยื่นประมูล แต่ไม่เคยได้งาน หรือได้น้อยมาก
- ระบบฮั้วที่ว่านี้ จะมีเงินทอนทุกขั้นตอนในแต่ละทอดที่ซับฯงานลงไป (ซับ คอนแทรค)
โดยการคิดเงินทอนมี 2 แบบ คือ
หนึ่ง บริษัทที่ได้งานจะทอนเงินกลับขึ้นไปเป็นทอดๆ จนถึงตัวนักการเมืองบ้านใหญ่ที่นำงบมาลง
หรือสอง รายใหญ่ใช้วิธี “ฟันราคา” หรือ “เก็บหัวคิว” ไปตั้งแต่ก่อนแจกงานลงไปแต่ละทอด
เช่น โครงการที่มีมูลค่า 50 ล้านบาท นักการเมืองบ้านใหญ่ได้โครงการมา ก็ฟันไปก่อน 15-20 ล้าน, บริษัทที่รับงานทอดต่อไปก็จะเหลืองบ 30-35 ล้าน หากซับฯงานต่อไปอีก ก็จะหักหัวคิวกันลงไปเรื่อยๆ (ถ้ามองในมุมบริษัทที่รับงาน ก็คือทอนเงินกลับขึ้นมา)
สาเหตุที่บริษัทปลายน้ำต้องยอมถูกฟันราคา ก็เพื่อหวังให้ได้งาน เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่มีอิทธิพลดึงงานมาเองได้ ถ้าไม่ได้งานจะอยู่ไม่ได้ บางบริษัทก็กำลังสร้างตัว
สุดท้าย โครงการก่อสร้างจริงๆ จากงบ 50 ล้านบาท อาจเหลือราวๆ 15-20 ล้านบาท จึงต้องทุจริต ใช้วัสดุไม่ตรงตามสเปค ทำให้งานที่ออกมามีปัญหา ใช้ได้ไม่นานก็พัง หรือยังไม่ได้เริ่มใช้ก็พังแล้ว
- บรรดาขาใหญ่/บ้านใหญ่จะไม่ถูกตรวจสอบอะไร เพราะมีทีมงานเป็น “ผู้ตรวจรับงานตามกฎหมาย” อยู่ในเครือข่ายด้วย เรียกว่าครบวงจร ฉะนั้นการส่งงานจะไม่ค่อยมีปัญหา มีเจ้าหน้าที่ตรวจผ่านให้ทั้งหมด จากนั้นไม่นาน เมื่อพัง หรือชำรุดเสียหาย เช่น ถนน สะพาน ก็ตั้งงบซ่อมกันใหม่ บริษัทในเครือข่ายเดิมก็ได้งานอีก วนกันแบบนี้เรื่อยไป
@@ รู้ข้อมูลวงใน “ใครซื้อซอง-เคาะราคาเท่าไหร่” จนท.รัฐมีเอี่ยว!
“เครือข่ายฮั้วประมูล” ในจังหวัดที่มี “ซุ้มการเมืองเข้มแข็ง” ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาขัดแย้ง ทุกอย่างแบ่งเค้กกันลงตัว ร่ำรวยปรีดิ์เปรมกันไป
แต่บางจังหวัดที่เป็นจังหวัดใหญ่ มีการเมืองหลายขั้ว มีผู้มีอิทธิพลหลายกลุ่ม ก็อาจจะมีความขัดแย้ง แข่งขัน หรือทะเลาะเบาะแว้ง ลามไปถึงใช้ความรุนแรงกันบ้าง ส่วนคนที่ได้งานก็จะเป็นคนที่ “เส้นใหญ่กว่า” อยู่ดี
เจ้าหน้าที่จาก “กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ” ของดีเอสไอ อธิบายต่อว่า การประกวดราคาในปัจจุบันใช้ระบบ e-bidding เกือบ 100% เพื่อแก้ปัญหาในอดีตที่เอกชนต้องมาเจอหน้ากันตอนประมูล และผู้มีอิทธิพลก็จะรู้ว่าใครเป็นคู่แข่งของตน ก็จะไปข่มขู่ คุกคาม หรือแม้แต่ “อุ้มออกจากสถานที่ประมูล” ให้ลูกน้องขับรถไปดักชน ไปขวางทาง เพื่อไม่ให้เข้าประมูล ก็เคยทำกันจนเป็นข่าวครึกโครมมาแล้ว
นี่คือเรื่องในอดีตที่เคยเกิดขึ้น จึงมีการใช้วิธี e-bidding หรือการเสนอราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้แก้ปัญหา โดยไม่ต้องเจอหน้ากันตั้งแต่ซื้อซอง และทุกอย่างปิดเป็นความลับ แต่ละบริษัทจะไม่รู้ว่าใครเป็นคู่แข่งของตน ทำให้การฮั้วประมูลในรูปแบบของ “ใช้อิทธิพลข่มขู่” เกิดยากขึ้น
แต่ระบบ e-bidding เมื่อนำมาใช้จริง กลับพบว่ามีเอกชนบางรายรู้ข้อมูลว่าบริษัทไหนซื้อซองไปบ้าง และรู้ข้อมูลว่าบริษัทเหล่านั้นเสนอราคาเท่าไหร่
เมื่อรู้ข้อมูลบริษัทที่ซื้อซอง เจ้าใหญ่ก็จะไปคุยกับคนซื้อซอง เช่น ขอโครงการ ซื้อโครงการต่อ ถ้ายอมก็ให้ค่าขนม ค่าตอบแทน บวกค่าซองกลับไป ขอเลขบัญชี โอนเงินให้ ถ้าไม่ได้ก็ข่มขู่ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งยอม ก็จบ
แต่ถ้าคู่แข่งไม่ยอม ก็จะก้าวไปอีกขั้น คือ หาข้อมูล e-bidding แบบเรียลไทม์ โดยมีเส้นสนกลใน ให้คู่แข่งคีย์ข้อมูลก่อน และรู้ราคาคู่แข่ง เช่น คู่แข่งเสนอ 100 บาท ตนเองก็เสนอ 99 บาท แล้วให้บริษัทคู่เทียบที่เป็นเครือข่าย เสนอ 99.50 บาท เมื่อเจ้าใหญ่คีย์เป็นคนสุดท้ายก็จะชนะประมูลตลอด
นี่คือความจริงที่หน่วยงานตรวจสอบอย่างดีเอสไอประสบพบเจอมา โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่รู้จริงๆ ว่า เจ้าใหญ่ได้ข้อมูลมาจากไหน
แต่วิญญูชนทั่วไปก็คงจะพอเดาออกว่า ใครคือคนปล่อยข้อมูลพวกนี้
เพราะแท้ที่จริงแล้วถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ร่วมมือ ย่อมไม่สามารถกระทำทุจริตหรือฮั้วประมูลได้เลย
@@ 4 รูปแบบ “บริษัทคู่เทียบ” ขยันประมูลแต่ไม่เคยได้งาน
กลไกสำคัญของ “เครือข่ายฮั้วประมูล” ก็คือ “บริษัทคู่เทียบ” เรียกว่าถ้าไม่มีบริษัทเหล่านี้ การประมูลหรือประกวดราคา ก็จะไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
“คู่เทียบ” ใช้ทั้งกระบวนการ “สอบราคา” สำหรับการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง หรืองดเว้นการประมูล และใช้ในกระบวนการประมูลจริงๆ ที่ต้องมีคู่แข่งด้วย
หลักการ “คู่เทียบ” จึงถูกต้องและมีความสำคัญในการประหยัดงบประมาณ ทำให้เกิดการแข่งขันทั้งคุณภาพและราคา
แต่เมืองไทยมี “นวัตกรรมการฉ้อฉล” ทำให้ “บริษัทคู่เทียบ” กลายเป็นองค์ประกอบของการฮั้วประมูล ไม่ได้ช่วยให้เกิดการแข่งขัน หรือราคาต่ำ แต่ช่วยให้คอร์รัปชั่นกันหนักขึ้น
โมเดลบริษัทคู่เทียบสำหรับการประมูลที่ฉ้อฉล แบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ
รูปแบบที่ 1 ตั้งบริษัท “นอมินี” ของเครือญาติบ้านใหญ่ เครือญาติบริษัทขาใหญ่
เช่น สามีเปิดบริษัทหลัก (ตัวนักการเมืองบ้านใหญ่ เป็นธุรกิจของตระกูล) แล้วให้ภรรยา หรือลูก หรือหลาน หรือญาติ เปิดบริษัท เพื่อมาเป็นคู่เทียบ
รูปแบบที่ 2 เหมือนกับแบบแรก แต่ใช้คนสนิท ลูกน้อง คนขับรถ มาตั้งบริษัท เพื่อกันตัวเองออกห่าง ไม่ให้ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทตนกับบริษัทคู่เทียบได้
รูปแบบที่ 3 ชักชวนบริษัทอื่นที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ มาเป็นคู่เทียบ โดยตกลงให้เสนอราคาสูงกว่า คือแพ้ประมูลตลอด โดยทางบริษัทบ้านใหญ่มีค่าตอบแทนให้
เรียกว่าทำมาหากินจากการเป็นบริษัทคู่เทียบ แต่ก็ไม่ปิดโอกาสในการไปรับงานอย่างอื่น
บางบริษัทก็ทำหน้าที่คู่เทียบอย่างเดียว ไม่ต้องเสียเงินซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง มีแต่ทะเบียนบริษัท กับหน้าร้าน หลายแห่งใช้บ้านของตัวเองเป็นบริษัท บางแห่งเช่าบ้านหรือเช่าตู้ไปรษณีย์ไว้รับจดหมายเท่านั้น
รูปแบบที่ 4 แลกงานกันระหว่างบริษัท มี 2 รูปแบบย่อย คือ
หนึ่ง แบ่งเค้ก โครงการแรกของบริษัท A โครงการที่สองของบริษัท B โดยการยื่นเสนอราคาจะรู้เห็นกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ
สอง สลับพื้นที่ได้งาน เช่น ถ้าอำเภอ ก. บริษัทของกำนันตำบล ข.ได้งาน แต่ถ้าอำเภอ ข. บริษัทของกำนันตำบล ก. ได้งาน แบบนี้เป็นต้น
----------------
ขอบคุณกราฟิกประกอบเรื่องจาก ข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี