เรื่องราวอลวนเกี่ยวข้องกับ “รักสามเส้า” การเปลี่ยนศาสนาจากพุทธเป็นอิสลาม หรือที่เรียกว่า “มูอัลลัฟ” ไปจนถึงการแต่งงาน การทำพินัยกรรม และการการแย่งศพเพื่อนำไปประกอบพิธีศพตามหลักศาสนา และตามเจตนาที่ผู้ตายสั่งเสียเอาไว้
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นผ่านตัวละครหลัก 3 ชีวิต ชายหนึ่ง หญิงสอง เรื่องเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อนายทหารรายหนึ่งซึ่งตั้งใจเปลี่ยนศาสนาจากพุทธเป็นอิสลาม กลายเป็น “ทหารมูอัลลัฟ” เพื่อชีวิตกับภรรยามุสลิม ได้เสียชีวิตลง ปรากฏว่าศพของเขากลับถูกภรรยาเก่าชิงรับไปประกอบพิธีทางศาสนาพุทธ แต่ภรรยาใหม่ซึ่งเป็นมุสลิมก็ไม่ยอม ต้องดิ้นรนทำเรื่องให้มีการอายัดศพ เพื่อหวังนำกลับมาประกอบพิธีตามหลักอิสลามให้ได้
เรื่องของคดีแย่งศพนี้ เกี่ยวข้องกับคน 3 คน เริ่มจากฝ่ายชายผู้เสียชีวิต เป็นทหารนับถือศาสนาพุทธ และเคยมีภรรยาเป็นพุทธ จดทะเบียนสมรสกัน มีลูกด้วย มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.สระบุรี
ต่อมาทหารรายนี้ถูกส่งมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาเริ่มสนใจศาสนาอิสลาม กระทั่งในปี 2557 จึงได้ตัดสินใจเข้ารับอิสลาม เปลี่ยนชื่อของตัวเองด้วย จากร้อยโทสุรศักดิ์ เป็น “อามีน” จากนั้นก็ได้แต่งงานกับสาวมุสลิม และได้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนารมณ์ของตัวเองเอาไว้ว่า หากตนเสียชีวิต ให้ภรรยาใหม่จัดการตามศพตามพิธีอิสลาม โดยพินัยกรรมลงวันที่ 24 ก.ค.2557
จากเอกสารการเข้ารับอิลสามสำหรับคนเปลี่ยนศาสนาที่เรียกว่า “มูอัลลัฟ” จะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนศาสนาตามขั้นตอนอย่างเป็นทางการ ผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา และได้เปลี่ยนชื่อตัวเองจาก “สุรศักดิ์” เป็นชื่ออิสลามว่า “อามีน”
เอกสารอีกฉบับหนึ่งเป็นเอกสารพินัยกรรมของผู้เสียชีวิต คล้ายกับเป็นการสั่งเสีย ความว่า “ต้องทำพิธีศพของข้าพเจ้าตามหลักศาสนาอิสลามเท่านั้น” พร้อมเขียนข้อความย้ำเพื่อให้มีผลทางกฎหมายว่า ขณะที่ทำพินัยกรรมนี้ ยังมีสติเป็นปกติดี
เรื่องราวอลวนการแย่งศพผู้ตายเกิดขึ้นเมื่อ นายอามีน หรือ ร้อยโทสุรศักดิ์ เสียชีวิตหลังเข้ารักษาตัวเป็นคนไข้ฉุกเฉินด้วยโรคมะเร็งระยะที่ 4 และได้จากไปอย่างสงบที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา แต่ศพของ นายอามีน ถูกภรรยาเก่าที่เป็นคนพุทธและลูก ชิงตัดหน้ารับไปจากโรงพยาบาล คาดว่าสาเหตุที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยอมมอบศพให้ เพราะฝ่ายภรรยาเก่ามีทะเบียนสมรสมายืนยัน
ฝั่งภรรยาใหม่ที่เป็นมุสลิมและญาติๆ ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีเอกสารพินัยกรรมแสดงเจตนาของผู้ตายมายืนยัน ขณะที่ทางโรงพยาบาลเองก็ได้พยายามประสานเจ้าหน้าเพื่อสกัดรถยนต์ที่บรรทุกศพไปประกอบพิธีทางศาสนา แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะภรรยาเก่ามีการสับเปลี่ยนรถเป็นระยะ จนยากในการติดตาม
กระทั่งวันที่ 1 ม.ค.2566 ฝ่ายภรรยาใหม่ได้เบาะแสว่า ศพของนายอามีนไม่ได้ถูกนำกลับไป จ.สระบุรี ซึ่งเป็นบ้านของภรรยาเก่า แต่กลับนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดสะตือพระพุทธไสยาสน์ จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้ฝั่งภรรยาใหม่ทำเรื่องขออายัดศพ เพราะไม่อยากให้เผา หรือฌาปนกิจ เนื่องจากศพเป็นมุสลิมจะเผาไม่ได้โดยยึดตามคำสั่งเสียในพินัยกรรมที่ผู้ตายได้ทำไว้ก่อนแล้ว
ฝั่งภรรยาใหม่ บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า อยากให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ช่วยประสานพูดคุยเพื่อยับยั้งการเผาศพ เพราะศพนั้นเป็นมุสลิมโดยสมบูรณ์มาหลายปีแล้ว และยังมีชื่อเรียกว่า “นายอามีน” ด้วย
ทีมข่าวได้ขอพูดคุยกับภรรยาใหม่ของนายอามีน เพื่อขอทราบเรื่องราวทั้งหมด ภรรยาใหม่ชาวมุสลิมเล่าว่า เธอชื่อว่า “แมะนะ” พร้อมเปิดใจว่า หลังจากได้ใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน ผู้ตายไม่เคยติดต่อกับภรรยาเก่าอีกเลย จนกระทั่งระยะหลังๆ ผู้ตายเริ่มมีอาการป่วย และตรวจพบว่าเป็นมะเร็งก่อนที่จะเกษียณอายุราชการเมื่อเดือน ก.ย.2565 ที่ผ่านมา ระหว่างที่ป่วยอยู่ที่บ้าน ลูกสาวของผู้ตายได้เดินทางมาหา และพยายามชวนพ่อกลับไปอยู่บ้านที่สระบุรี แต่ผู้ตายก็ได้ปฏิเสธลูกสาวไป แม้ลูกสาวจะพยายามอ้อนวอนพ่อ แต่ผู้ตายยืนยันว่าพร้อมจะตายและฝังร่างในกุโบร์ (สุสาน) ที่นี่
ต่อมาผู้ตายป่วยหนัก เข้าโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2565 และเสียชีวิต แต่โรงพยาบาลกลับไม่แจ้งให้ทราบ มารู้ข่าวอีกทีคือลูกและภรรยาคนเก่าของผู้ตายมาจากสระบุรี และมารับศพไป จึงเกิดปัญหาการยื้อแย่งศพกัน
“อยากให้ทางโรงพยาบาลชี้แจงด้วยว่า เห็นอยู่ว่ามีภรรยาอิสลามเฝ้าคนไข้อยู่หน้าห้องทุกวันกลับไม่แจ้งให้ทราบ เกิดอะไรขึ้น ทำไมโรงพยาบาลทำเช่นนี้ จนสร้างความวุ่นวาย มีเจตนาอะไรหรือไม่อย่างไร” แมะนะ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าการเจรจาเพื่ออายัดศพ นำมาประกอบพิธีตามหลักศาสนาอิสลามนั้น ปรากฏว่า ณ วันพุธที่ 4 ม.ค.2566 การเจรจายังไม่เป็นผล และมีข่าวว่าทางภรรยาเก่ายืนยันจะประกอบพิธีฌาปนกิจศพ ร้อยโทสุรศักดิ์
@@ 2 ยุค “ทหารมูอัลลัฟ” ชายแดนใต้
เรื่องราวการแย่งศพ “ทหารมูอัลลัฟ” กำลังเป็นทั้งอุทาหรณ์ และภาพสะท้อนปัญหาระดับครอบครัวที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะระยะหลังมีทหาร หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ลงไปปฏิบัติภารกิจชายแดนใต้ ตัดสินใจเปลี่ยนศาสนาเพื่อแต่งงานอยู่กินกับสาวมุสลิมในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ
คำว่า “มูอัลลัฟ” หมายถึงคนที่เปลี่ยนศาสนา จากศาสนาอื่น โดยเฉพาะศาสนาพุทธ (สำหรับประเทศไทย) แล้วเข้ารับอิสลาม
เมื่อคนที่เปลี่ยนศาสนาป็นทหาร จึงเรียกว่า “ทหารมูอัลลัฟ”
ปรากฏการณ์ “ทหารมูอัลลัฟ” เกิดขึ้นเยอะมากที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีทหารจากภาคอื่นๆ ของประเทศ สลับสับเปลี่ยนกันลงไปปฏิบัติภารกิจแก้ปัญหาความไม่สงบมานานเกือบ 20 ปีแล้ว จึงมีทหารจำนวนหนึ่ง ซึ่งนับได้ไม่น้อยเหมือนกันที่ตัดสินใจเปลี่ยนศาสนา โดยเหตุผลเกือบจะร้อยทั้งร้อย เพราะไปได้ภรรยาเป็นมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้
“ทหารมูอัลลัฟ” แต่เดิมถือว่ามีวิบากกรรม เพราะในช่วงที่เกิดปัญหานี้ใหม่ๆ ช่วงปีแรกของสถานการณ์ความไม่สงบ ทหารเหล่านี้ตกเป็นเป้าสังหารของกลุ่มก่อความไม่สงบ เนื่องจาก
1.เป็นการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ว่าคนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ยอมรับการเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับคนนอกศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะที่เป็น “ทหาร” ซึ่งฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้คำว่า “ทหารของสยาม” ซึ่งเป็นเป้าโจมตี สังหารอยู่แล้ว ยิ่งทหารคนนั้นมามีสัมพันธ์กับหญิงมุสลิม ยิ่งทำให้เกิดความชอบธรรมในการปองร้าย
2.ความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวในอดีต มักเป็นแบบลักลอบพบปะได้เสียกัน เพราะในพื้นที่ไม่ยอมรับ แทบไม่มีการแต่งงานอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา และประเพณีวัฒนธรรม หลายกรณีต้องหนีตามกันไป สร้างความอับอาย คับแค้นให้กับครอบครัวฝ่ายหญิงมากขึ้นไปอีก
3.หลายกรณี ฝ่ายหญิงมีสามีอยู่แล้ว แต่ปันใจมาให้ทหารหนุ่มจากต่างภาคต่างถิ่น แน่นอนว่าเมี่อเกิดเรื่องแบบนี้ ย่อมมีศัตรูตามมาแน่นอน
ต่อมาเมื่อสถานการณ์ความรุนแรงเริ่มคลี่คลาย ทหารอยู่ในพื้นที่มานานร่วม 2 ทศวรรษ แม้จะสลับหน่วย สลับหน้ากันมา แต่ก็มีบางคนขออยู่ถาวร กระแสต่อต้านก็น้อยลง เพราะมีทหารจำนวนมากที่ตัดสินใจเปิดตัวคบหากับสาวมุสลิมอย่างถูกต้อง มีการแต่งงานตามประเพณี และเปลี่ยนศาสนามารับอิสลาม กระทั่งครอบครัวพอใจ
ประกอบกับทหารหาญทั้งหลาย โดยเฉพาะทหารอีสาน ส่วนใหญ่จะนิสัยดี ยิ้มเก่ง ทำให้มีเสน่ห์ และทหารเป็นอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ มีความมั่นคง ทำให้เป็นที่หมายปองของสาวๆ ส่งผลให้ “ทหารมูอัลลัฟ” ตกเป็นเป้าสังหารน้อยลง และมีการสร้างครอบครัวอยู่กินกันในพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม
@@ “ทหารมูอัลลัฟ” กับปัญหาใหม่ “รักสามเส้า”
แต่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือ ทหารหลายคนมีภรรยาอยู่แล้ว เป็นคนพุทธ แต่งงานร่วมหอลงโรงกันตั้งแต่ก่อนลงไปปฏิบัติภารกิจชายแดนใต้ บางคนมีบุตรแล้ว ซ้ำร้าย บางคนยังจดทะเบียนสมรสแล้ว และไม่ได้หย่าขาดอีกด้วย
เหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ประการ เช่น
- เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เมียเก่าตามมาแย่งชิง อาละวาด
- เกิดปัญหาการแบ่งผลประโยชน์ของฝ่ายชาย เนื่องจากทหารจะมีเงินเดือน และมีบำเหน็จบำนาญกรณีเกษียณอายุราชการแล้ว มีทั้งแบบรับเป็นก้อน หรือรับรายเดือน ใครจะเป็นคนรับ เมียตามทะเบียนสมรส หรือเมียใหม่มุสลิม (กรณีไม่ได้หย่าขาดจากคนเก่า)
- เกิดปัญหาการแบ่งมรดก กรณีฝ่ายชายเสียชีวิต เพราะทหารจะมี “บำเหน็จตกทอด” มอบให้กับภรรยาและทายาทอีกก้อนหนึ่ง ยิ่งหากเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เงินก้อนหนี้อยู่ที่หลักล้านบาท หรือหลายล้านบาท จึงเกิดปัญหาตามมามาก โดยเฉพาะหากไม่ได้หย่าขาดกับภรรยาเก่าให้เรียบร้อย
@@ เปิดกฎหมายอิสลาม “ครอบครัว-มรดก” 4 จังหวัดใต้
มีเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ ก็คือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ตามหลักอิสลาม เฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล โดยบังคับกับคนมุสลิมที่มีหลักศาสนาเรื่องมรดก และครอบครัว แตกต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย
โดยหน่วยงานหรือองค์กรที่ดูแลข้อพิพาทเรื่องครอบครัว มรดก ทั้งการแต่งงาน การหย่า การจัดการทรัพย์สิน คือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือที่เรียกว่า “มัจลิส” และถ้าตกลงกันไม่ได้ ไปฟ้องศาล ก็จะมี “ดาโต๊ะยุติธรรม” เป็นผู้ตัดสิน
ฉะนั้น “ด่านหน้า” ที่รับรู้ปัญหา “ทหารมูอัลลัฟ” ก็คือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
@@ กก.อิสลามรับปัญหาหนัก “ทหารมูอัลลัฟ” ไม่หย่าเมียเก่า
“ทีมข่าวอิศรา” พูดคุยกับ ซอลาฮุดดีน ยูโซะ เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ทำให้ทราบข้อมูลของปัญหาที่เกิดขึ้นว่า กรณีมูอัลลัฟ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ แล้วมาเปลี่ยนศาสนาจากพุทธมานับถืออิสลาม และได้แต่งงานใหม่กับสาวมุสลิม กำลังเป็นปัญหามาก เพราะบางคนแต่งงานมีครอบครัวเป็นพุทธมาแล้ว มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้หย่ากัน แม้จะได้อยู่กินฉันท์สามีภรรยากับสาวมุสลิมในช่วงปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม แต่เมื่อเสียชีวิตขึ้นมาก็จะเกิดปัญหาแย่งศพกันขึ้น เพราะภรรยาและลูกที่แต่งงานกันแล้วมีทะเบียนสมรส ก็จะอ้างความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่จัดการศพของคนในครอบครัวในฐานะทายาท
แม้อีกฝ่ายที่เป็นภรรยาคนใหม่มุสลิมจะอ้างความเป็นสามีภรรยากัน มีหนังสือรับรองการสมรส มีหนังสือพินัยกรรมที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นผล
อย่างกรณีล่าสุดที่เป็นข่าวกรณีทหารมูอัลลัฟเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ก็ถูกลูกและภรรยาเก่าที่เป็นพุทธแย่งศพต่อหน้าภรรยาใหม่กลับไปประกอบพิธีแบบพุทธ แม้จะมีการอ้างพินัยกรรมให้จัดการศพแบบอิสลามที่ผู้ตายได้เขียนสั่งเสียก่อนตายแล้วก็ตาม
ต่อจากนี้คงต้องนำเรื่องเหล่านี้เป็นวาระสำคัญเพื่อรับมือและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะในพื้นที่ยังมีทหารแต่งงานกับสาวมุสลิมเป็นจำนวนมาก คงต้องหารือกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและเครือข่ายในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อกำหนดแนวทางให้ชัดเจน อาจต้องเปิดเวทีเสวนาร่วมกันระหว่างผู้รู้จากหลากหลายหน่วยงานและองค์กร เพื่อหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะในนามของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามฯ จะปล่อยให้สตรีมุสลิมเหมือนถูกกระทำอย่างไม่ชอบธรรมแบบนี้ไม่ได้
@@ “เมียเก่า - เมียใหม่” ใครสิทธิดีกว่ากัน?
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบประเด็น “ทหารมูอัลลัฟ” ที่เสียชีวิตนี้ กับนักกฎหมายชื่อดัง ว่าภรรยาคนไหนมีสิทธิมากกว่ากัน
นักกฎหมายให้ข้อมูลว่า ต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือ พินัยกรรมที่แสดงเจตนาของผู้ตาย กับทรัพย์สินของผู้ตายที่เป็นทรัพย์มรดก
เรื่องแรก พินัยกรรมที่แสดงเจตนาของผู้ตายให้จัดการศพแบบอิสลาม ถือว่าสมบูรณ์ แม้จะไม่มีเรื่องทรัพย์มรดกว่าจะยกให้ใคร แต่เรื่องการแสดงเจตนาว่าเมื่อตายแล้ว ให้จัดการศพแบบไหน ให้ใครเป็นผู้จัดการศพ ก็ชัดเจน และมีผลทางกฎหมาย ทางฝ่ายภรรยาที่เป็นมุสลิมก็ต้องไปเจรจา หากเจรจาไม่ได้ และไม่ยอมกัน ก็คงต้องเป็นคดีความให้ศาลตัดสิน ซึ่งก็จะเป็นบรรทัดฐานต่อไป
เรื่องที่สอง เรื่องทรัพย์มรดกของผู้ตาย แม้ภรรยาที่มีทะเบียนสมรสจะมีสิทธิ์ที่ดีกว่า แต่ฝ่ายภรรยามุสลิม ก็ยังอ้างเรื่องการอยู่กินกันตามหลักศาสนา ประเพณี และการแต่งงาน ซึ่งทรัพย์ที่ได้มาหลังจากนั้น น่าจะมีส่วนที่ภรรยามุสลิมน่าจะได้รับด้วย
@@ แม่ทัพภาค 4 ชี้ กฎเหล็กห้ามเฉพาะชู้สาว แต่ห้ามแต่งงานไม่ได้
พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวเรื่องนี้กับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า เรื่องทหารที่ไปแต่งงานกับหญิงมุสลิม และเกิดมีกรณีพิพาทกันขึ้น ทางหน่วยไม่สามารถบังคับอะไรได้ เพราะเป็นการตกลงกันภายในครอบครัว ก็ต้องคุยกันให้เข้าใจภายในครอบครัวเท่านั้น
แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมา กองทัพได้พยายามป้องกันปัญหา เรามีกฎเหล็กห้ามอยู่แล้วในเรื่องชู้สาว ระหว่างทหารที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ชายแดนใต้กับหญิงมุสลิมในพื้นที่ ถ้าพบก่อน เราจะลงโทษตามวินัย แต่ถ้าเขาเกิดมีความรักชอบพอกัน ก็เป็นไปตามวิธีการขั้นตอนทางศาสนา หน่วยต้นสังกัดไม่สามารถทราบได้ว่าหญิงชายได้ตกลงอะไรกัน ตัวกำลังพลก็ไม่ได้รายงานให้หน่วยรับทราบ แต่ถ้าเป็นเรื่องชู้สาว ทางกองทัพต้องลงโทษทางวินัยอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาก็ได้เน้นย้ำไม่ได้ปล่อยปละละเลย