กรณี “สิบตำรวจโทหญิง” สังกัดกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ที่มีชื่อไปช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ยังไม่ชัดว่า ลงไปทำงานจริงหรือไปแต่ชื่อ เพราะเป็น “เด็กนาย” รู้จัก “ผู้หลักผู้ใหญ่ - ผู้มีอำนาจ” นั้น
เรื่องนี้ได้สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจและความรู้สึกเหลื่อมล้ำให้กับกำลังพลส่วนใหญ่ที่เป็นแค่ลูกชาวบ้าน ไม่มีเส้นสาย แต่ต้องทำงานเสี่ยงอันตราย ไม่รู้จะตายหรือพิการวันไหน
หลังจากที่ “ทีมข่าวอิศรา” ได้เปิดข้อมูลให้เห็นกันแล้วว่า การมีชื่อลงไปช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นพื้นที่ความมั่นคง มีเหตุการณ์ความไม่สงบมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 18 ปี มีสิทธิพิเศษได้เบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย เดือนละเกือบ 10,000 บาท (9,200 บาท) ทำให้มีการแย่งกันลงพื้นที่ วิ่งเต้นนาย เอาชื่อไปใส่ แต่ตัวไม่ไป หรือแม้แต่ลักลอบขายสิทธิให้กันก็มี เพราะใครที่เคยลงใต้ จะได้สิทธิในการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือนก่อนคนอื่น
เรื่องเหล่านี้แม้เป็นเพียงส่วนน้อยและต้นสังกัดพยายามป้องกัน ป้องปราม แต่การปล่อยให้มีข่าวฉาวอยู่ ก็ยิ่งลดความเชื่อมั่นของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง
ทีมข่าวลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติราชการสนามที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า หลายคนที่รู้ข่าวเรื่อง “สิบตำรวจโทหญิง” ก็รู้สึกเสียใจ น้อยเนื้อต่ำใจ เพราะความจริงจาก “กองร้อยปลายด้ามขวาน” ก็คือ จริงๆ แล้ว ทหารหลัก ทหารพราน และตำรวจที่ออกลาดตระเวน รปภ.ครู รปภ.สถานที่ เสี่ยงตายกันอยู่ทุกวันนั้น ไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัยครบทุกคนเหมือน “เด็กนาย”
@@ เบี้ยเสี่ยงภัยได้ไม่ครบ - กันงบ ล็อกอัตราให้ “เด็กนาย”
ทหารชั้นผู้น้อยนายหนึ่ง เล่าข้อมูลว่า เรื่องเด็กนายยืนยันว่า “มีจริง” นอกจากไม่ได้มาทำงานในพื้นที่แล้ว ยังมาเบียดเงินเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ด้วย หลายกองร้อยที่จำนวนกำลังพล ไม่เท่ากับเบี้ยเสี่ยงภัยที่ กอ.รมน.เบิกให้ เช่น 1 กองร้อย มีกำลังพล 150 นาย จะมีคนได้เบี้ยเสี่ยงภัยประมาณ 3 ใน 5 เท่านั้น ที่เหลือไม่ได้
ถ้า ผบ.ร้อยเป็นคนดี ก็จะจัดระบบ นำเบี้ยเสี่ยงภัยมารวม แล้วหารให้ได้ทุกคน คนละเท่าๆ กัน เช่น 1 กองร้อย มี 150 นาย ได้เบี้ยเสี่ยงภัย 100 นาย อัตราละ 2,500 บาทต่อเดือน ก็จะได้เงิน 250,000 บาท ก็เอาเงินนั้นมาหาร 150 ก็จะได้คนละ 1,600 บาท แต่ 3 เดือนจึงจะตกเบิกครั้งหนึ่ง บางกองร้อยได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่านี้ หารแล้วเหลือคนละ 750 บาทก็มี
ทางหน่วยทำเรื่องขอเพิ่มอัตราจาก กอ.รมน.ทุกปี แต่ กอ.รมน.ปฏิเสธตลอด บอกว่าโควต้าเต็ม เท่าที่สอบถามเพื่อนในกองร้อยอื่นๆ ก็มีสภาพแบบเดียวกัน
“แบบนี้แปลว่า เสี่ยงเฉพาะเด็กนาย ส่วนลูกตาสีตาสาอย่างเราไม่เสี่ยงหรืออย่างไร เขาถึงไม่ให้เบี้ยเสี่ยงภัย”
@@ นอนป่า-แบกปืน ได้เท่ากับนอนแอร์ ลงใต้แต่ชื่อ
ดาบตำรวจอีกนายหนึ่ง เล่าข้อมูลให้ฟังอย่างสะท้อนใจว่า คนที่จะได้รับเบี้ยเสี่ยงภัย ต้องมีชื่อบรรจุในอัตรา กอ.รมน.ถึงจะได้ ถ้าไม่มีชื่อก็..อด
“ตัวผมเอง แบกปืนมา 28 ปี ปะทะกับคนร้ายในป่าไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ตอนนี้ยศนายดาบ ได้เงินเดือน 35,000 บาท เบี้ยเสี่ยงภัย 2,500 บาท เบี้ยเลี้ยง 6,000 บาท พสร. หรือเงินเพิ่มสู้รบ 2,200 บาท และวันทวีคูณ ทำงานเข้าป่าคราวละ 3 วัน 2 คืน ต่างจากเด็กนายที่สบาย ได้สิทธิ์เต็มทุกอย่าง”
ขณะเดียวกันทางทีมข่าวได้ทดลองโทรศัพท์เข้าไปในหน่วยงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขอสายตำรวจหญิงที่เป็นข่าว ปรากฏว่าไม่มีใครรู้จัก และสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินที่ต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเสี่ยงภัย ก็ไม่เคยได้ยินชื่อ
แต่ทาง พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ตำรวจหญิงคนที่ตกเป็นข่าว มาช่วยราชการและลงมาทำงานจริง แต่ช่วงนี้ลาพัก
@@ แฉกลางสภา “ส.ต.ท.หญิง” รับเงิน 3 ทาง
กรณี “สิบตำรวจโทหญิง” ต้องบอกว่าบานปลาย นำไปอภิปรายถึงในสภา
เมื่อวันอังคารที่ 23 ส.ค.65 มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วันสุดท้าย ก่อนโหวตวาระ 3
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ลุกขึ้นอภิปรายมาตรา 38 เกี่ยวกับงบประมาณแผนงานบุคลากรภาครัฐ
พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ทุกฝ่ายไม่ค่อยสนใจกับงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ อาจจะเพราะมองว่าเป็นงบประจำ เบี้ยหวัด เงินเดือน ถึงอย่างไรก็ต้องจ่าย แต่เมื่อเจาะลึกไปจะพบว่า การใช้ช่องทางของมาตรา 38 จะพบการดำเนินการที่เรียกว่า “ไม่สามารถตรวจสอบได้ ส่อไปในทางมิชอบ มีการใช้ช่องทางเป็นการทุจริตเชิงงบประมาณ ที่นำงบประมาณหลบจากรายจ่ายภาครัฐ ไปสู่การใช้จ่ายในรูปแบบอื่นๆ เช่น หมวดรายจ่ายอื่นของ กอ.รมน.”
พ.ต.อ.ทวี ยกตัวอย่างงบบุคลากรของ กอ.รมน.ในปีนี้ ตั้งงบไว้ 700 กว่าล้านบาท จากงบประมาณของ กอ.รมน.ทั้งหมด 7,000 กว่าล้านบาท ตัวเลข 700 กว่าล้านแสดงว่ามีกำลังพลไม่มากนัก แต่พอเราไปดูในรายการใช้งบรายจ่ายอื่น จะพบมีการเขียนว่า รายจ่ายกำลังพลและการดำเนินการอีกประมาณเกือบ 4,000 ล้านบาท นี่คือช่องทางที่จะให้กำลังพลมาใช้เงินก้อนนี้
ว่าแล้ว พ.ต.อ.ทวี ก็ยกตัวอย่างกรณี “สิบตำรวจโทหญิง” ที่ไปทำร้ายร่างกายสิบตรีหญิงที่เป็นทหาร
“อย่างกรณี ส.ต.ท.หญิงที่ไปทำร้ายร่างกาย ส.ต.หญิงทหาร ทราบหรือไม่ว่า พอไปดูการใช้เงิน ปรากฏว่าเขารับเงินจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเงินเดือน ส.ต.ท. แล้วยังรับเงินค่าตอบแทนจาก กอ.รมน.ที่มี 2 ส่วน คือ เบี้ยเสี่ยงภัย 2,500 บาท และเงินกำลังพล กอ.รมน.อีก 7,000 บาท นี่คือตัวอย่าง เท่านั้นยังไม่พอ ทราบว่า อไปตรวจให้ลึก ยังเป็นที่ปรึกษาของสมาชิกวุฒิสภาอยู่ด้วย ก็คือรับเงินถึง 3 ส่วน อันนี้คือรูปแบบหนึ่งที่สำนักงบประมาณไม่ตรวจสอบ”
เลขาธิการพรรคประชาชาติ ยังเปิดตัวเลขงบบุคลากรของกองทัพบก ปี 64 จำนวน 58,000 ล้านบาท แต่พอไปดูการใช้จริง พบว่ามีการใช้งบบุคลากร 69,000 ล้านบาท เกินกว่าที่ตั้งปกติไปอีก 10,000 ล้านบาท มากกว่างบของอีกหลายกระทรวงรวมกัน ลักษณะเช่นนี้มองเป็นการฉ้อฉล หรือเป็นการรับงบประมาณที่ไม่เป็นธรรมตามกฎหมายหรือไม่
“ขอตำหนิสำนักงบประมาณที่ไม่มีการตรวจสอบ ถ้าตรวจสอบไปทุกหน่วยผมเชื่อว่ามีลักษณะนี้เกือบแสนล้านบาท” พ.ต.อ.ทวี ระบุ