ผู้ประสบอุทกภัยในเขตเทศบาลนครยะลาแห่ลงทะเบียนขอรับ “เงินเยียวยาน้ำท่วม” ครัวเรือนละ 9 พันบาท ด้าน ปภ.จังหวัดใต้สุดสยาม เผยยอดคนเดือดร้อน 8 อำเภอ กระทบเกือบ 7 หมื่นครัวเรือน โรงเรียนเปิดวันแรกหลังน้ำลด เด็กโหรงเหรง
วันจันทร์ที่ 9 ธ.ค.67 ประชาชนชาวยะลาทยอยเดินทางนำหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และภาพถ่ายทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ไปเข้าคิวลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท ซึ่งเทศบาลนครยะลาเริ่มรับลงทะเบียนผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 เป็นวันแรก และจะเปิดลงทะเบียนไปจนถึงวันที่ 16 ธ.ค. ตามมติคณะรัฐมนตรี
โดยหลังปิดรับลงทะเบียนแล้ว ทางเทศบาลนครยะลาจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และสรุปรายชื่อผู้เสียหาย ก่อนประชุมคณะกรรมการและเบิกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยต่อไป
ดร.โกสินทร์ ชี้ทางดี ผู้อำนวยกองสวัสดิการสังคมเทศบาลนครยะลา กล่าวว่า ทางเทศบาลเปิดรับลงทะเบียนพร้อมกัน 3 จุด คือ ที่อาคารศรีนิบง ศูนย์เยาวชนของเทศบาล, โรงเรียนเทศบาล 1 และโรงเรียนเทศบาล 6 โดยทั้ง 3 จุดจะมีการแยกประเภทอย่างชัดเจน อย่างกรณีบ้านตัวเอง, บ้านพักอาศัยที่ไม่ใช่ของตัวเอง แต่มีทะเบียนบ้านไม่ตรงกัน, กลุ่มบ้านเช่า และกลุ่มบ้านที่ยังไม่มีเลขที่
“แต่ละกลุ่มแบ่งชุมชน แยกรายละเอียดแต่ละชุมชน แต่ละจุดรับลงทะเบียนจะมีประมาณ 6-7 ชุมชนในแต่ละวัน เปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9-16 ธ.ค. ล็อตแรกจะทำในวันที่ 9 -11 ธ.ค. ใน 3 แหล่งรวม 23 ชุมชน ส่วนล็อตที่ 2 วันที่ 12-16 ธ.ค อีกครึ่งหนึ่งแยกเป็น 3 ชุมชน ถ้าท่านเตรียมเอกสารมาครบ เราจะมีคนเขียนให้ มีคนคัดกรอง ตรวจสอบ เสร็จแล้วก็จะมีใบยืนยันให้ว่าลงทะเบียนแล้ว กรณีเจ้าบ้านอายุมาก ก็จะดำเนินการช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความสะดวก” ผอ.กองสวัสดิการสังคมฯ ระบุ และย้ำว่า ขอให้ประชาชนเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน จะได้รวดเร็วขึ้น โดยสามารถดูได้ที่เฟซบุ๊กเทศบาลนครยะลา
@@ ผู้ประสบภัยหวังรับเงินเยียวยาไปซ่อมบ้าน
น.ส.ดียานา ดือมอ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย บอกว่า ได้มายื่นเยียวยาน้ำท่วม ปกติแถวบ้านอยู่หลังโรงพยาบาลสิโรรส น้ำไม่เคยน้ำท่วมเลย แต่ปีนี้หนักมาก ท่วมเข้าไปถึงในบ้านเลย ได้รับความเสียหาย ตู้ไม้เสียหายหมด ตู้แช่เสียหายหมด
“วันนี้ก็ได้เตรียมเอกสารมาตามที่กำหนด ถ้าได้รับเงินก็จะเอาไปซ่อมแซมบ้านก่อน ก็อยากให้ช่วยเหลือเยียวยามากกว่านี้ แต่ก็เข้าใจว่าทุกครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบต้องได้รับการเยียวยาเหมือนกัน ก็เฉลี่ยๆ กันไป”
@@ สะเตงนอกอ่วม เดือดร้อนน้ำท่วม 99%
นายแวฮาซัน แวะหะยี สมาชิกสภาเทศบาลเมืองสะเตงนอก กล่าวว่า เป็นวันแรกที่รับลงทะเบียน คาดว่าผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้มีจำนวน 99% ก็ขอเชิญชวนพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ในเขต ต.สะเตงนอก ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมให้มาลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือ โดยนำเอกสารหลักฐานที่กำหนดไว้มาให้พร้อม อย่าให้เสียสิทธิ์
สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยของ ต.สะเตงนอก ในปีนี้ ทั้งตำบล 17,000 ครัวเรือน 13 หมู่บ้าน ประมาณ 38,000 คนที่มีชื่อตามสำเนาทะเบียนบ้าน ประชากรแฝงอีกประมาณ 15,000 คน ได้รับผลกระทบทั้งหมดโดย ต.สะเตงนอก ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกกระทบจากอุทกภัยหนักมาก
@@ ตัวเลขผู้ประสบอุทกภัยยะลาเกือบ 7 หมื่นครัวเรือน
ด้านข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ณ วันที่ 9 ธ.ค.67 ระบุว่า จ.ยะลา เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จำนวน 8 อำเภอ 58 ตำบล 378 หมู่บ้าน 57 ชุมชน ดินสไลด์ 156 จุด ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,383 ครัวเรือน 215,148 คน เสียชีวิต 6 ราย (เมืองยะลา 5 ราย และรามัน 1 ราย) อพยพ 3,193 ครัวเรือน 9,959 คน (ยะหา รามัน และเมืองยะลา)
มีบ้านเสียหายทั้งหลัง 17 หลัง บางส่วน 110 หลัง ถนน 196 สาย สะพาน 10 แห่ง เสาไฟฟ้า 127 ต้น โรงเรียน 169 แห่ง วัด 8 แห่ง โบสถ์ 1 แห่ง มัสยิด 43 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 52,353 ไร่ ประมง 352 ไร่ 275 ตรม. และปศุสัตว์ 283,987 ตัว
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 8 อำเภอของ จ.ยะลา ที่คลี่คลายแล้ว มีจำนวน 58 ตำบล 378 หมู่บ้าน 57 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,383 ครัวเรือน 215,148
@@ เปิดเรียนวันแรก รร.บ้านท่าสาป เด็กมาเรียนแค่ 20%
ที่โรงเรียนบ้านท่าสาป หมู่ 1 ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ได้เปิดทำการเรียนการสอนวันแรก หลังถูกน้ำท่วมสูงเกินกว่า 2 เมตร ครูและบุคลากรการศึกษาได้ช่วยกันตรวจสอบทรัพย์สินของโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย
สำหรับโรงเรียนบ้านท่าสาป มีเด็กนักเรียนทั้งหมด 321 คน เปิดเรียนวันแรกหลังน้ำลดมีเด็กนักเรียนเข้ามาเรียนเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
น.ส.รุสนา สะยาคะ ครูโรงเรียนบ้านท่าสาป กล่าวว่า โรงเรียนค่อนข้างเงียบเหงา เด็กนักเรียนในแต่ละห้อง จากการประเมินแล้วมาเรียนประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ เพราะที่บ้านของเด็กๆ อาจจะจัดข้าวของยังไม่เรียบร้อย ก็ไม่สามารถมาโรงเรียนได้ ส่วนโรงเรียนท่าสาปเอง อาจจะยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็อยากจะเปิดเพื่อให้เด็กนักเรียนที่มีความพร้อมได้มาเรียน ไม่อยากหยุดเรียนหลายๆ วัน
จากข้อมูลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 1 ระบุว่า มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษายะลา (สพป.ยะลา) ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูง และได้รับความเสียหายมาก จำนวน 42 แห่ง ส่วนที่เหลือถูกน้ำท่วมเล็กน้อยประมาณ 133 แห่ง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโซนที่ติดกับลุ่มน้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี พื้นที่ ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา จ.ยะลา
@@ เปิดศูนย์ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า - ยานพาหนะผู้ประสบอุทกภัย
ที่ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) แบบถาวรประจำจังหวัดปัตตานี วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ fix it center อาชีวะรวมใจช่วยชาวใต้ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายราตรีสวัสดิ์ ธนานันต์ ผู้อำการศูนย์พัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะผู้บริหารธนาคารออมสิน ตลอดจนเยาวชนนักเรียนเข้าร่วม
ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งยานพาหนะ เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์เกิดความเสียหาย จึงจัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อประชาชน หรือ Fix it Center ซึ่งทางอาชีวะจะเป็นแม่งานหลัก โดยการสนับสนุนของ ศอ.บต. เนื่องจาก ศอ.บต. เอง ก็ได้รับนโยบายจากรัฐบาลในการเป็นศูนย์กลางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เป็นโครงการดีๆ ที่จะช่วยบรรเทาความเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
@@ ชาวเบตงนำถุงยังชีพช่วยชาวบ้านปัตตานี
นายสมบูรณ์ ดือรือมอ ประธานชุมชนบ้านจาเราะกางาเทศบาลเมืองเบตง พร้อมคณะกรรมการชุมชน ได้นำถุงยังชีพที่ได้รับการสนับสนุนของบริจาคชาวบ้านชุมชนบ้านจาเราะกางา เดินทางไปมอบให้ชาวบ้าน บ้านบุโบะ หมู่ 9 ต.ตะลุโบะ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมส่งกำลังใจและความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ด้วยความเชื่อมั่นว่า “เราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน”
เช่นเดียวกับ นายเกษม บือโต ประธานกลุ่มมูตูบือตง จากพื้นที่ อ.เบตง พร้อมเพื่อนสมาชิก ได้เดินทางไปมอบถุงยังชีพ ข้าวสาร น้ำดื่ม อาหารแห้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ บ้านดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยได้การสนับสนุนของบริจาคจากเครือข่ายองค์กรมุสลิมอำเภอเบตง