ชาวบ้านปัตตานี 150 ครอบครัวทำสถิติหนีน้ำท่วมตั้งเต็นท์นอนบนถนนนาน 9 วัน บางรายมีเสื้อผ้าติดตัวมาชุดเดียว เดือดร้อนหนักมาก ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด ด้านวิศวกรรมสถานฯ ยังไม่อนุญาตให้ใช้งานอาคารเทศบาลเบตงถูกดินสไลด์ ส่วนทัพ 4 ส่งทหารติดตั้งสะพานแบบเร่งด่วนช่วยชาวสุคิรินถนนขาดจากอุทกภัย
วันพฤหัสบดีที่ 5 ธ.ค.67 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปัตตานี หลายพื้นที่ระดับน้ำได้ลดลง จนทำให้ชาวบ้านเริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ จากเดิมที่น้ำท่วมสูงเกือบทุกพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ แต่ขณะนี้เหลือเพียงพื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำปัตตานีเท่านั้นที่ยังคงน้ำท่วมอยู่
อย่างในพื้นที่ หมู่ 1 บ.บาซาปาแย ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ชาวบ้านกว่า 150 หลังคาเรือน ยังคงต้องอาศัยอยู่บนถนนสาย ยะลา-ปัตตานี โดยชาวบ้านได้ใช้เต็นท์เป็นที่พักอาศัยหลบนอนชั่วคราวมาเป็นเวลา 9 วันแล้ว เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 – 2 เมตร เป็นผลจากฝนที่ตกหนักและมวลน้ำจากพื้นที่ จ.ยะลา ไหลเข้ามาสมทบจนทำให้ระดับน้ำสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ
ชาวบ้านได้ตั้งเต็นท์บนถนนตลอดเส้นทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร บางเต็นท์พบว่า มีครอบครัวมากกว่า 1 ครอบครัวเข้าอาศัยร่วมกัน เพราะเต็นท์มีจำนวนไม่เพียงพอ
ชาวบ้านรายหนึ่งบอกว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ระดับน้ำสูงมากและใช้เวลานานกว่าน้ำจะลง ตอนนี้ชาวบ้านต้องอาศัยเต็นท์เป็นที่หลบนอนแทนบ้านมา 9 วันแล้ว
ชาวบ้านอีกราย เล่าให้ฟังว่า บ้านของตนเสียหายหนักมาก ต้องอาศัยอยู่บนร้านที่อยู่บนถนนเป็นวันที่ 9 วันแล้ว ตอนนี้ต้องการเสื้อผ้า เพราะตนมีเสื้อผ้าเพียงตัวเดียวติดตัวออกมาเท่านั้น เพราะตอนออกมาต้องรีบ เนื่องจากน้ำมาเร็วมาก
นายมะลาวี เกะรา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านบาซาปาแย กล่าวว่า น้ำท่วมสูงตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา น้ำมาเร็วมาก ไม่คิดว่าน้ำจะมาแรงมาก บางบ้านก็ไม่ทันจะช่วยเหลือ ทีมงานที่เข้าช่วยเหลือก็ไม่พอ ชาวบ้านจึงอพยพขึ้นมาอยู่บนถนน บางรายก็ไม่ทันเอาอะไรมาสักอย่าง เอาแต่ตัวออกมา ตอนนี้กำลังขาดแคลนน้ำดื่ม เพราะบ่อน้ำในหมู่บ้านจมหมด อยากได้น้ำดื่มมาก่อน
“ขณะนี้ชาวบ้านยังไม่สามารถเข้าบ้านได้ ต้องรอให้น้ำลดลงก่อน น้ำท่วมที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนรวมกว่า 150 ครัวเรือน”
@@ จนท.วิศวกรรมสถานฯ เร่งตรวจสอบอาคารเทศบาลเบตงถูกดินสไลด์
วันที่ 5 ธ.ค.67 ที่สำนักงานเทศบาลเมืองเบตง จ.ยะลา นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง พร้อมด้วย รศ.ดร.สราวุธ จริตงาม ประธานวิศวกรรมสถาน แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคใต้และคณะกรรมการ วสท. สาขาภาคใต้, อาจารย์ประสิทธิ์ สาระมาศ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ดำเนินการช่วยเหลือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยภาคใต้ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองเบตง เพื่อประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้น และหารือแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดินสไลด์หลังสำนักงานเทศบาลเมืองเบตง จ.ยะลา
โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่กองช่างเทศบาลเมืองเบตง เจ้าหน้าที่กองบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองเบตง เจ้าหน้าที่โยธาธิการจังหวัดยะลา และเจ้าหน้าที่โยธาธิการจังหวัดปัตตานี
จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า ตัวอาคารยังมีความมั่นคงแข็งแรง แต่แนะนำให้ทำตรวจสอบโครงสร้างทั้งส่วนเหนือดินและใต้ดินเพิ่มเติม และห้ามใช้อาคารจนกว่าจะทำการจัดการและป้องกันดินสไลด์ แล้วเสร็จเรียบร้อย เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้อาคารต่อไป
ทั้งนี้เพื่อประเมินความเสี่ยงของตัวอาคารที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นก่อน วันนี้จึงได้มีการปักหมุดเพื่อดึงพิกัดจากดาวเทียม และบินโดรนเก็บภาพมุมสูงเพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อหาแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดินสไลด์หลังสำนักงานเทศบาลเมืองเบตง จ.ยะลา ต่อไป
@@ ทหารติดตั้งสะพานแบบเร่งด่วนช่วยชาวสุคิรินถนนขาด
วันเดียวกันนี้ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้ พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผบ.ฉก.นราธิวาส นำกำลังพลพร้อมเครื่องจักรกลออกให้การช่วยเหลือชาวบ้าน 14 หมู่บ้าน ต.มาโมง อ.สุคิริน จำนวน 1,000 ครัวเรือน รวม 5,000 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากถนนสายบ้านไอปูลง หมู่ 7 ถูกตัดขาดจากกระแสน้ำป่ากัดเซาะท่อลอดใต้ถนน เมื่อวันที่ 30 พ.ย.67 ที่ผ่านมา จนชาวบ้านไม่สามารถสัญจรผ่านได้ และหากชาวบ้านจำเป็นต้องเดินทางสู่ตัว อ.สุคิริน ก็ต้องเดินทางอ้อมไปใช้ถนนสายบ้านปารีย์ ซึ่งมีระยะทางไกลถึง 10 กิโลเมตร
ความเสียหายที่เกิดขึ้นในจุดดังกล่าว เป็นผลจากมวลน้ำป่ากัดเซาะทำให้ถนนถูกตัดขาดลึก 5 เมตร กว้าง 20 เมตร พล.ต.เฉลิมพร ได้สั่งการให้ พ.ท.ฐาปกรณ์ หรั่งอินทร์ ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 15 กองพลทหารราบที่ 15 นำกำลังพลพร้อมรถแบคโฮ มาทำการปรับพื้นที่ ก่อนที่จะติดตั้งสะพานเครื่องหนุนมั่นแบบเร่งด่วน หรือ Modular Fast Bridge (MFB) จำนวน 1 ท่อน ยาว 15 เมตร กว้าง 3.8 เมตร ที่สามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 60 ตัน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ผบ.ฉก.นราธิวาส ยังได้ถือโอกาสพูดคุยให้กำลังใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งได้ถือโอกาสแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคและน้ำดื่ม ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.มาโมง ซึ่งชาวบ้านทุกคนต่างดีใจที่แสดงออกทางสายตาและรอยยิ้ม ที่ทางเจ้าหน้าที่ทหารไม่ทอดทิ้งประชาชนในยามทุกข์ยาก
@@ ก.แรงงานยกทีมมอบถุงยังชีพ ต.หน้าถ้ำ ยะลา
นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน เดินทางลงพื้นที่มอบถุงยังชีพจากกระทรวงแรงงาน ให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา จังหวัดยะลา รวม 500 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นด้านการดำรงชีพ
โดยจุดแรกเดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ หมู่ 1 และหมู่ 4 ต.หน้าถ้ำ มอบถุงยังชีพ จำนวน 250 ชุด จุดที่ 2 มัสยิดดารุสสลามบันนังลูวา หมู่ 2 ต.หน้าถ้ำ มอบถุงยังชีพ จำนวน 125 ชุด และ จุดที่ 3 ที่ทำการกำนัน หมู่ 3 ต.หน้าถ้ำ มอบถุงยังชีพ จำนวน 125 ชุด พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมการออกหน่วยให้บริการซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยายนยนต์ โดยความร่วมมือของ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา ร่วมกับโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ และวิทยาลัยเทคนิคยะลา
นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ภายหลังจากที่น้ำลดเข้าสู่สภาวะปกติ กระทรวงแรงงานมีแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยจะใช้แนวทางการช่วยเหลือ “เชียงรายโมเดล” ในการดูแลประชาชนภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย หลังจากที่น้ำลดเข้าสู่สภาวะปกติ จะดำเนินการตามภารกิจของกระทรวงแรงงาน
“โดยให้บัณฑิตแรงงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลความเสียหายที่จะได้รับการดูแลจากกระทรวงแรงงาน แบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มนายจ้าง ลูกจ้าง กลุ่มเจ้าหน้าที่ และกลุ่มประชาชน และจะช่วยเหลือตามภารกิจของกรม กลุ่มนายจ้าง ลูกจ้าง ในเรื่องของประกันสังคม ในเรื่องการประกันการว่างงาน ในส่วนภาคประชาชน ไม่ว่าด้านอาชีพ การฝึกอาชีพ การซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์การเกษตร บ้านเรือนที่เสียหาย โดยจะร่วมบูรณาการกับจังหวัดโดยใกล้ชิด”
@@ ศูนย์พัฒนาอาชีพฯ ร่วมทำดีเพื่อพ่อหลวง ร.9
วันที่ 5 ธ.ค.67 ทางศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ ได้ระดมกำลังชาวบ้านทำดีเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นวันชาติและวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวา โดยร่วมกันพัฒนาบ้านเกิดอีกทั้งล้างพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้งมีการ นำดินโคลน ออกจาก โรงอิฐ ศูนย์พัฒนาอาชีพฯ น้ำป่าไหลท่วม และมีดินโคลนจากน้ำท่วมโรงอิฐ ทำให้เครื่องอัดอิฐบล๊อก วัสดุ อุปกรณ์ ที่ใช้ทำอิฐ ได้รับความเสียหายทั้งหมด รวมถึงโรงผลิตสินค้าของศูนย์ฯ ก็ได้รับความเสียหายทั้งหมดเช่นเดียวกัน
แม้โรงอิฐและโรงครัวของศูนย์พัฒนาอาชีพฯจะได้รับความเสียหายทั้งหมด จนทำให้ศูนย์พัฒนาอาชีพฯต้องยุติการผลิตและจำหน่ายสินค้า เพื่อนำกำไรมาช่วยชาวบ้านอย่างต่อเนื่องได้ รวมถึงสมาชิกของศูนย์ฯ บางส่วนประมาณ 136 ครอบครัวยังประสบปัญหาน้ำท่วมบ้านได้รับความเดือดร้อน แต่ยังมีสมาชิกอีกหลายคนที่ไม่ได้รับผลกระทบก็ยังสามารถช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างต่อเนื่อง
ภายใต้การช่วยเหลือสนับสนุนจาก ผู้ใหญ่ใจดี อาทิ บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี บรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้ นายธีระชัย รัตนกมลพร ผู้ก่อตั้งบริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นายฐกร รัตนกมลพร และ ครอบครัว รวมทั้ง ทีมผู้สื่อข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างร่วมขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือเราพี่น้องประชาชน ผ่านศูนย์พัฒนาอาชีพฯมาอย่างต่อเนื่องมาตลอด
@@ มอบถุงยังชีพ - ตั้งโรงครัว ช่วยผู้ประสบภัย
วันเดียวกัน น.ส.พัชรรินทร์ ประทุมเมฆ ทีมเบตงเพื่อสังคม พร้อมเพื่อนสมาชิก ได้นำถุงยังชีพและอาหารกล่องแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่บ้านตาเซะ หมู่ 3 อ.เมือง จ.ยะลา ที่ยังไม่สามารถประกอบอาหารได้ แต่เข้าพักได้ โดยได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบ อุปกรณ์ในการจัดตั้งโรงครัวชุมชน จากองค์กรทำดีของ “บุ๋ม ปนัดดา” ช่วยผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับของให้เร็วที่สุดและได้รับทั่วถึงทุกครอบครัว นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือนของชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมภายหลังน้ำลดอีกด้วย
ด้านพระมหากรกฎ เขมปญฺโญ รองเจ้าคณะจังหวัดยะลา / เจ้าอาวาสวัดคอกช้าง พระครูประภากรรัตนานุกูล เจ้าคณะตำบลเบตง พระครูเกษมธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดจันทร์ธาดาประชาราม (วัด ก.ม.7) ร่วมกับนางสาวอมร สะอาด ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดยะลาและชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเบตง ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและมอบถุงยังชีพแด่พระสงฆ์และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดยะลา จำนวน 200 ชุด ให้แก่วัด 4 แห่ง ในพื้นที่ จ.ยะลา ได้แก่ วัดท่าสาป, วัดคูหาภิมุข, วัดยุโปและวัดรังสิตาวาส เพื่อนำไปเเจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป
ขณะที่นายโยธิน ประชามติรัฐ หัวหน้าชุดกู้ชีพ-กู้ภัยมุสลิมเบตง พร้อมด้วยนายมูฮัมหมัดกอรี กาเซ็ง. กำนันตำบลยะรม ได้นำสมาชิกอาสาสมัครกู้ชีพ-กู้ภัยมุสลิมเบตง ร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่ เปิดครัวทำอาหารช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อแจกจ่ายให้ทั่วทุกชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
@@ ทัพเรือภาค 2 ช่วยผู้ประสบภัยสงขลา
ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัยวาตภัย และดินโคลนถล่ม 2567 ของจังหวัดสงขลา โดย พล.ร.ต.โชคชัย เรืองแจ่ม เสนาธิการ ทัพเรือภาคที่ 2 / เสนาธิการ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ได้เปิดเผยว่า ทัพเรือภาคที่ 2 เราได้รับมอบหมายพื้นที่ในการดูแลคือ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อ.ระโนด อ.สิงหนคร อ.เมือง และ อ.จะนะ ซึ่งจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทัพเรือได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมาทางทัพเรือภาคที่ 2 จึงได้ดำเนินการเชิงรุกเข้าพื้นที่ พบผู้ใหญ่บ้านสำรวจพื้นที่และนำกำลังทหารเรือช่วยเปิดร่องน้ำคูคลองเพื่อช่วยในการรองรับการระบายน้ำจากนั้นก็ได้ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและขนของขึ้นที่สูงมาตลอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนกระทั้งถึงวันนี้
“หลังทางจังหวัดได้มอบหมายภารกิจพิเศษที่หน่วยอื่นทำไม่ได้ เช่น พื้นที่น้ำสูงและน้ำหลากเราจะใช้กำลังทางเรือโดยชุดปฏิบัติการพิเศษเข้าไปดำเนินการในพื้นที่นั้นๆ เช่นเดียวกับในพื้นที่ควนลังทัพเรือภาคที่ 2 ก็ได้จัดกำลังเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยตามที่หน่วยงานหรือจังหวัดร้องขอ เรายืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่อยู่เคียงข้างประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนทั้งในภาคพื้นดินและในทะเลตามภารกิจของกองทัพเรือแน่นอน” เสนาธิการ ทัพเรือภาคที่ 2 กล่าว