ผลตรวจปลอกกระสุนปลิดชีพ “นายกเล็กรือเสาะ” ยิงจากอาวุธสงคราม AK102 แฉเป็นปืนกองกลางของกลุ่มป่วนใต้ใช้เวียนก่อเหตุในพื้นที่ตากใบ-รือเสาะรวมแล้ว 24 คดี
ความคืบหน้ากรณีคนร้ายใช้อาวุธปืนบุกยิง นายวิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม หรือ “นายกอาร์ม” อายุ 55 ปี นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ และที่ปรึกษา หจก.แฮนด์ อิน แฮนด์ โรงงานผลิตเสื้อผ้าซึ่งจ้างงานนับร้อยคนในพื้นที่ชายแดนใต้ จนเสียชีวิตคาห้องประชุมของโรงงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดวันเสาร์ที่ 9 พ.ย. มีรายงานผลการตรวจสอบปลอกกระสุนปืนที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุจากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 พบว่า ปลอกกระสุนปืนดังกล่าวยิงมาจากอาวุธปืน AK 102 ซึ่งสามารถใช้กระสุนขนาดเดียวกับปืนเอ็ม 16 ได้ โดยอาวุธปืนกระบอกนี้คนร้ายเคยใช้ก่อเหตุคดีความมั่นคงในพื้นที่ อ.ตากใบ และในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มาก่อนหน้านี้รวมทั้งสิ้น 23 คดี
เช่น คดีคนร้ายใช้อาวุธปืนตามประกบยิง สมาชิกเอกอมร บุตรทองบุญ และสมาชิกเอก สนธยา ชัยสิทธิ์ ซึ่งสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ทำหน้าที่เป็นชุดรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) ของโรงเรียนสิทธิสารประดิษฐ์ ต.พร่อน อ.ตากใบ เสียชีวิตทั้ง 2 นาย เมื่อวันที่ 19 ก.พ.67 ที่ผ่านมา คนร้ายก็ใช้อาวุธปืนกระบอกเดียวกันในการก่อเหตุ
ส่วนคดีบุกยิงนายวิเชษฐ์ นายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ นับเป็นคดีที่ 24 ของอาวุธปืน AK102 กระบอกนี้
ขณะที่ทางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า มีคนภายในโรงงานรู้เห็นหรือแจ้งเบาะแสอย่างแน่นอน ทำให้กลุ่มคนร้ายเจาะจงบุกเข้าไปยิงนายวิเชษฐ์ถึงในห้องประชุมได้ โดยที่ไม่ต้องมีการค้นหาเป้าหมาย และคนร้ายก็ล็อกเป้าไว้แล้วจึงไม่ทำร้ายบคุคลอื่นอีก 3 คนที่กำลังคุยกับนายวิเชษฐ์ขณะเกิดเหตุ
@@ เปิดข้อมูล “ปืนเวียน-กองกลาง” ตากใบ-รือเสาะ
แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง ระบุว่า จากการจับกุมสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงรายหนึ่งในพื้นที่ อ.ตากใบ คือ นายซูกิฟรี มือราเฮง ในช่วงก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบปากคำเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสมาชิกในกลุ่ม พบว่าจะมีความเชื่อมโยงกันระหว่างสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.ตากใบ กับ อ.รือเสาะ โดยจะมีอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นของส่วนรวม หรือ “อาวุธปืนกองกลาง” หรืออาจจะเรียกว่า “ปืนเวียน” ที่ใช้ร่วมกัน
โดยจะเป็นที่รู้กันในสมาชิกกลุ่มว่า ปืนกองกลางซุกซ่อนไว้ที่ใด โดยสมาชิกในกลุ่มจะสามารถนำออกมาใช้ก่อเหตุได้ทันที และเมื่อก่อเหตุเสร็จแล้ว จะต้องนำกลับไปไว้ที่เดิม จากนั้นจะมีการเคลื่อนย้ายที่เก็บอาวุธกองกลางอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น และป้องกันการตรวจยึดของเจ้าหน้าที่