เมื่อถึงเดือนรอมฏอน (ถือศีลอด) ของพี่น้องมุสลิมในทุกปี สิ่งที่ขาดไม่ได้และมีความสำคัญคือ "อาหารละศีลอด"
หนึ่งในเมนูของหวานติดลมบนของมุสลิมชายแดนใต้คือ "อาเก๊าะ" ที่หวานนุ่ม ละมุนลิ้น แทบละลายในปาก
"อาเก๊าะ" เป็นขนมของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภารใต้ที่ปรุงจากแป้ง ไข่เป็ด น้ำตาล และกะทิ เนื้อขนมคล้ายขนมหม้อแกงสังขยา รูปร่างคล้ายขนมไข่ หรือเป็นรูปดอกไม้ รูปร่างของตัวขนมแตกต่างกันจากการหยอดแป้งลงในพิมพ์ขนมทองเหลือง ทำให้สุกด้วยการผิงไฟ หรืออังความร้อนทั้งบนและล่าง
ในปัตตานีมี "อาเก๊าะ" ขึ้นชื่อหลายเจ้า ทั้งสะบารัง หน้าวังเก่า จะบังติกอ ตะลุโบะ บางปู และอีกหลายแห่งที่มีเอกลักษณ์ความอร่อยเป็นของตัวเอง แฟนพันธุ์แท้ก็จะติดตามเจ้าประจำกันอย่างเหนียวแน่น
จากปากซอย 6 ถนนยะรัง หรือ "ย่านจะบังติกอ" ตรงไปเกือบสุดซอย ด้านขวามือคือที่ตั้งร้าน "อาเก๊าะซารีม๊ะ" ที่หลายคนปักหมุดเอาไว้ เพราะคงความอร่อยจากสูตรโบราณมานานกว่า 16 ปี โดยฝีมือของ ซารีม๊ะ แวมูซอ
เมื่อไปถึงร้าน เด็กหนุ่มลูกมือกำลังย้าย "อาเก๊าะ" รูปวงรีจากหลุมหนึ่งไปวางอีกหลุมหนึ่งในพิมพ์ขนมทองเหลืองอันใหญ่ที่มีถึง 30 หลุม ท่ามกลางความร้อนจากถ่านและอากาศในเดือนรอมฏอนปีนี้
เหตุผลที่ต้องย้าย "อาเก๊าะ" ซารีม๊ะ บอกว่า เพื่อให้สุกทั่วถึงกันทุกชิ้น
"เราต้องทนกับความร้อนของถ่านไฟที่เผาให้ขนมสุกกันทั้งวัน เผากันทั้งด้านบนและด้านล่างของพิมพ์ขนม เพื่อให้ความร้อนทั่วถึงกันทุกชิ้น การใช้ถ่านจะร้อนได้ตลอดและร้อนนาน แต่ละถาดใช้เวลาไม่เท่ากัน ต้องคอยดู ไม่ละเลย หมั่นยกดู ต้องตั้งไฟให้ตรงกับขนมที่ยังไม่สุก และลดระดับความร้อนของถ่านได้เมื่อขนมเริ่มสุกแล้ว ส่วนมากจะใส่ไฟตรงกลางแล้วย้ายไปให้ร้อนทั่วถึง" เธอบอกถึงความใส่ใจในการทำอาเก๊าะ
"เราหยอดใส่พิมพ์ให้พอดี พอสุกขนมจะเต็มสวย ไม่ล้นไม่ขาด เลือกใช้ไข่เป็ดเพราะแข็งตัวได้ดีกว่าไช่ไก่และไม่เหลว"
ขนม "อาเก๊าะ" ของซารีม๊ะ หวาน หอม มัน พอดีๆ จากวัตถุดิบที่ใหม่สดทุกวัน ทั้งไข่เป็ด น้ำตาล แป้งสาลี และน้ำกะทิสด ใช้การผสมและคนด้วยมือ ไม่ใช้เครื่องตีผสม จากนั้นก็กรอง และพักรอประมาณ 15-20 นาที จึงหยอดลงในพิมพ์ขนม
"ละหมาดซุโบร (ละหมาดก่อนรุ่งเช้า) เสร็จก็ลงงานกันเลย เสร็จราว 4-5 โมงเย็นของแต่ละวันในเดือนนี้ ทำตามออเดอร์และขายหน้างาน ไม่ต้องออกไปขายข้างนอก ถือว่าเข้ากันกับสถานการณ์โควิด แต่ไม่ได้รับผลกระทบอะไร ขายได้ตามปกติของเดือนรอมฏอน อาจมียอดขายลดลงบ้าง เพราะปกติจะทำกันถึง 2-3 ทุ่ม"
เมื่อทำเสร็จ ก็จะบรรจุลงกล่อง โดยในแต่ละกล่อง จะมี "อาเก๊าะ" วงรี 4 ชิ้น ถ้าเป็นรูปดอกไม้จะมี 1 ชิ้น เพราะเป็นชิ้นใหญ่ ทุกกล่องขายราคาเดียวคือ 20 บาทจากหน้าร้าน ใครจะรับหิ้วหรือนำไปขายต่อก็ทำราคาได้เอง ในช่วงเวลาปกติซารีม๊ะทำ "อาเก๊าะ" ในวันอาทิตย์เพื่อนำไปขายที่ตลาดจาบังมากัน ซึ่งอยู่ริมคลองจะบังติกอ
จากจะบังติกอไปทางถนนปัตตานี-ยะลาสายเก่า จากสามแยกตะลุโบะไปประมาณ 2 กิโลเมตร ก่อนถึงปั๊มน้ำมัน ปตท.ตะลุโบะ ด้านซ้ายมือมีศาลาเล็กๆ ริมถนนใหญ่คือที่ตั้งของ "อาเก๊าะชินตา" น้องใหม่ในวงการอาเก๊าะ หากรสชาติเป็นที่ถูกปากของคนชิม
ควันโขมงจากการเผากาบมะพร้าวเพื่อส่งความร้อนให้ "อาเก๊าะ" สุกทั้งบนและล่าง คือภาพจำของลูกค้าขาจรและขาประจำของชินตา จากฝีมือของบรรณารักษ์วัยเกษียณ ปรียานุช อีซอ หรือ "ก๊ะนิ" เธอลาจากงานประจำออกมาเมื่อสถานการณ์โควิดรอบแรก หาความรู้การทำ "อาเก๊าะ" จาก YouTube และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองปัตตนี ทำให้ได้พัฒนาฝีมือและรสชาตของ "อาเก๊าะ" จนเป็นที่รูจักในเวลาไม่นาน
"วันปกติทำกันทุกวัน เช้ายันเย็นกับผู้ช่วยสองคน วันหนึ่งสูงสุดทำได้ที่ 400 กล่อง ลูกค้ามีทุกระดับ จอดรถง่าย หาง่าย ลูกค้าบอกกันปากต่อปาก มีออร์เดอร์เข้ามาตลอด มีคนรับหิ้วทำให้ได้ช่วยกระจายรายได้กันไป" ก๊นิ เล่าถึงกิจวัตรการทำขนมขาย
"ช่วงรอมฏอนก็ทำกันทุกวันเหมือนเดิม ลูกค้าเพิ่มขึ้น เราเชื่อว่าเราให้เต็มที่ด้วยคุณภาพและปริมาณ รสหวานน้อย ใส่เต็มพิมพ์ หม้อหนึ่งได้กำไรเพียง 90 บาท วันหนึ่งต้องทำหลายหม้อ เห็นลูกค้ามีความสุข เราก็มีความสุข" เป็นความรู้สึกของคนขายอาหาร
"อาเก๊าะชินตา" ขายส่งและปลีกราคาเดียวคือ 20 บาท มีทั้งแบบดอกไม้และวงรี เธอทำมาหลายเดือนและบอกว่าต้องเรียนรู้กันต่อไป เพราะการทำขนมไม่เหมือนกันสักวัน
กลิ่นหอมของ "อาเก๊าะ" จากเตาลอยมาปะทะจมูกอย่างตั้งใจ เกือบเสียบวชแล้ว ถ้าได้ทาน "อาเก๊าะ" ตอนอุ่นๆ หลับตาฟินตาม เหมือนว่าละลายในปาก ไม่ต้องเคี้ยวให้เมื่อยปาก
ใครชอบเจ้าไหน รสชาติที่ใช่ เชิญเสาะหามาละศีลอดหรือทานปกติกันได้ ช่วงรอมฏอนคือเลือกได้ตามใจชอบ มีให้ซื้อหากันทั่วเมือง...