พื้นที่นาร้างล้อมรอบด้วยนาเกลือในชุมชนตันหยงลุโละ เมืองปัตตานี เต็มไปด้วยคนทุกวัยที่มาร่วมชมและแข่งขันว่าว
ปีนี้นับเป็นปีแรกที่งานว่าวจัดโดยชุมชน มีว่าวเข้าร่วมแข่งขันถึง 80 ตัว ตลอดงานเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสุข สมดั่งเจตนาของผู้จัดงาน
"เราอยากเห็นรอยยิ้ม ความสุข และความภาคภูมิใจของคนตันหยงลุโละ" แบดิง หนึ่งในแกนนำจัดกิจกรรม เอ่ยถึงความรู้สึกของเขา
หลังมัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมืองปัตตานี คือทางเข้าชุมชนตันหยงลุโละ เมื่อตรงเข้าไปจนสุดทางจะเป็นนาเกลือ ถัดไปอีกนิดคืออ่าวปัตตานี มีพื้นที่นาเกลือร้างผืนหนึ่งให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่น ขณะที่รอบข้างเป็นนาเกลือที่ยังทำมาหากิน เป็นวิถีปกติของชาวบ้าน
ช่วงฤดูข้าวออกรวงสีทองใกล้เก็บเกี่ยวจนถึงเวลาเกี่ยวข้าวเสร็จ คือช่วงเวลาเล่นว่าวของเด็กๆ และผู้ใหญ่ในทุกพื้นที่ ในฤดูร้อนของเดือนมีนาคมของทุกปี ตรงกับจังหวะของการทำนาเกลือที่ไม่มีฝนมากล้ำกลาย ฝั่งอื่นเป็นการทำนา ส่วนตันหยงลุโละที่ใกล้ทะเลนั้น...ทำนาเกลือ
"ปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มจัดการแข่งขันว่าวในชุมชน โดยคนในชุมชน ได้รับความร่วมมืออย่างดีมากจากสมาชิกทุกวัยส่งว่าวเข้าแข่งขันกันถึง 80 ตัว ใน 3 ประเภทคือ ว่าวดิ่งสูง ว่าวสวยงาม และว่าวความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งว่าวโดนใจกรรมการ ไม่มีการจำกัดวัย เน้นว่าวอย่างเดียว" แบดิง บอก พร้อมอธิบายต่อ
"ว่าวดิ่งสูง หลายคนฟังแล้วอาจจะงง กติกาง่ายๆ ก็คือ ว่าวของใครบินสูงที่สุดในระยะเวลาที่กำหนดคือผู้ชนะ"
เรื่องราวแห่งความสุขนี้มาจากความร่วมมือร่วมใจชาวบ้านตันหยงลุโละที่ร่วมกันจัดแข่งว่าว มีของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ มอบให้แทนใจ กิจกรรมได้รับความสนใจจากชาวบ้านและเด็กๆ เป็นจำนวนมาก จิตอาสาที่ร่วมกันจัดกิจกรรมมีความสุขที่ได้ทำให้เด็กๆ มีรอยยิ้ม สร้างความรักความสามัคคีภายในชุมชนได้เป็นอย่างมาก
"ปีหน้าจะเปิดกว้างให้ชุมชนอื่นเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย ปีนี้เราได้ความสุขกันอย่างเต็มที่จริงๆ" แบดิงบอก และตัวแบดิงเองก็มีความสุข เป็นความสุขที่ฉายออกจากแววตา
แข่งว่าวแค่เรื่องราวธรรมดา...แต่เปี่ยมไปด้วยความสุข