เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือมีรถยนต์ "เมอร์เซเดสเบนซ์" คันงามหลายรุ่นจอดเรียงรายให้เลือกใช้บริการได้ตามใจชอบ ในฐานะ "รถแท็กซี่"
รุ่นฮิตติดลมบนคงต้องยกให้ "เบนซ์ตาหวาน" และ "เบนซ์หางปลา" ซึ่งถูกเซียนกว้านซื้อไปเกือบหมด เหลือรุ่นหลังๆ ที่วิ่งบริการเส้นทางสายปัตตานี-ยะลา ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
จากสภาพพื้นที่ชายแดนภาคใต้รอยต่อตะเข็บพรมแดนไทย-มาเลเซีย ตั้งแต่ในอดีตที่มีข้อจำกัดของเส้นทางที่มีสภาพถนนทั้งที่เป็นลูกรัง คดโค้ง ลัดเลาะขึ้นภูเขาสูงชัน หาความราบเรียบไม่เจอ ทำให้รถยนต์สัญชาติอื่นสอบไม่ผ่านความแข็งแรง ทานทน และไม่สามารถทำความเร็วได้เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่สำหรับรถยุโรปตราดาวสามแฉกนี้ ถือเป็นข้อยกเว้น
รถเบนซ์แม้จะมีราคาสูง หากแต่คุณภาพ ความแข็งแกร่ง ทนทาน ปลอดภัย คือคุณสมบัติของเมอร์ซิเดส ที่สำคัญคือระบบช่วงล่างดี เกาะถนนเป็นเยี่ยม กลายเป็นจุดขายที่ครองใจผู้ใช้บริการ สะดวกในการนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย หาชิ้นส่วนจำพวกอะไหล่ได้ไม่ยากในฝั่งเพื่อนบ้าน ทำให้ตลาด "เบนซ์แท็กซี่" ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
30 กว่าปีที่ผ่านมา "คิวรถสามัคคี" สายหาดใหญ่-ยะลา คือเส้นทางให้บริการ "รถแท็กซี่เบนซ์" สายแรกที่วิ่งรับส่งคนระหว่างหาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจของ จ.สงขลา กับเมืองยะลา หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีทางออกทะเล ก่อนจะขยายไปอีกอย่างน้อย 5-7 คิว ครอบคลุมหาดใหญ่และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในยุคเฟื่องฟูมีรถต่อคิวมากกว่า 100 คัน
จากจุดเริ่มต้นที่มีการเช่า-เหมารถเบนซ์เพื่อการโดยสารเส้นทางปกติ ให้ไปส่งตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะมาแบบกลุ่ม หรือแบบเดี่ยว เมื่อเป็นที่พึงพอใจ กระแสการเรียกร้องก็เพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดให้บริการ "แท็กซี่เบนซ์" อย่างเป็นทางการ ขยายไปยังเส้นทางยะลา-ปัตตานี, ยะลา-สุไหงโก-ลก, ยะลา-เบตง เป็นต้น
"จุดเด่นของรถเบนซ์นอกจากความแข็งแรงทนทานแล้ว ยังมีห้องโดยสารกว้าง จึงรองรับผู้โดยสารได้มาก เฉลี่ยครั้งละ 6-7 คนได้อย่างสบายๆ ข้อเสียของการนั่งแท็กซี่เบนซ์ คือ ร้อนมาก เพราะไม่มีแอร์" โชเฟอร์รุ่นใหญ่เล่าให้ฟัง
สำหรับปัตตานีก็มีคิวรถแท็กซี่ไปยะลา ใช้เส้นทางถนนสายเก่า ระยะทางรวมราวๆ 38 กิโลเมตร
"คนที่ขับรุ่นแรกและยังขับอยู่ก็ยังมี ผมนี่รุ่นกลางแล้ว ตั้งแต่คิวน้ำใสในเมือง ค่าโดยสาร 20 บาท คนเยอะ เช้าๆ นี่คนนั่งคอยกันเป็นแถว รุ่นตาหวานคือ รุ่นที่นิยมคือรุ่น 230E 300D 500 ตัวเลขน้อยคือรุ่นก่อนๆ E คือเบนซิน D คือดีเซล ส่วนรุ่นตากลม หางปลา รุ่นตั๊กแตน สามรุ่นนี้หายไปเกือบหมด ราคาแพง เขาจะหาซื้อไปเก็บกัน เพราะคงทน ใช้กันมานาน" มะดิง เจ๊ะสะอิ คนขับแท็กซี่เบนซ์สายปัตตานี-ยะลา บอกเล่าความหลัง
เขาขับแท็กซี่เบนซ์มาหลายสิบปี คันสีน้ำเงินปัจจุบันนี้คือรุ่น 300D ขับมา 15 ปี และขายไปสองคันแล้ว
ปัจจุบันคิวแท็กซี่เบนซ์ "คิวน้ำใส" ต้องย้ายไปอยู่ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดปัตตานีแห่งใหม่ ริมถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ซึ่งตั้งอยู่นอกตัวเมืองปัตตานี ระยะทางที่ผู้โดยสารต้องมายัง บขส. ถือว่าไกลพอประมาณ ต้องใช้รถส่วนตัวหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างมา ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นเป็นเท่าตัว ประกอบกับค่านิยมการใช้รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้โดยสารแท็กซี่เบนซ์น้อยลงทุกวัน
"ค่าโดยสารวินมอเตอร์ไซค์มายังสถานีขนส่งแพง ทำให้ผู้โดยสารมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่าตัว เราอยากย้ายไปในเมือง เพราะลูกค้าไม่ไหวกับค่าวินมอเตอร์ไซค์มาที่ บขส. บางทีก็ขูดรีด ทั้งที่มีอัตราตกลงไว้แล้ว" โชเฟอร์แท็กซี่เบนซ์ บ่น
สำหรับราคาค่าโดยสารของแท็กซี่เบนซ์ เดิมราคา 50 บาทต่อคน นั่งได้ 6 คน เมื่อมีโควิด-19 ระบาด ทางการประเกาศให้นั่งได้ 3 คน ก็ต้องเก็บคนละ 100 บาท พอโควิดจาง นั่งได้ 4 คน เหมานอกพื้นที่ก็เพิ่มราคาไป แล้วแต่ไปพื้นที่ไหน เช่น ไปนราธิวาส 1,200 บาท ไปปาดังเบซาร์ (อ.สะเดา จ.สงขลา) ก็ 1,500 บาท"
แม้ผู้โดยสารจะลดลงจากที่ต้องย้ายคิวรถไปอยู่ที่ บขส.แห่งใหม่นอกตัวเมือง แต่แท็กซี่เบนซ์ก็ยังพอมีรายได้จากการรับฝากส่งของ
"อีกทางที่ช่วยพยุงรายได้ คือการฝากส่งของ ราคาต่ำสุดที่ 40 บาท ส่งถึงที่ รับ-ส่งสินค้าในเส้นทางสายปัตตานี–ยะลา ไม่ว่าจะของหนัก ของเบา ของคาว ของหวาน ของสด ของแห้ง"
แต่ด้วยพิษโควิด และภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้จำนวนแท็กซี่เบนซ์เหลือน้อยลง อย่างคิวปัตตานี- ยะลา เหลือ 21 คัน วนตามคิวแต่ละวัน ทุกคนจะรู้คิวของตัวเอง เมื่อลูกค้าเต็มก็ออกเลย คันต่อไปก็มารอเลย การออกแต่ละเที่ยวจะจ่าย 30 บาทต่อคิว เช่น ไปจากปัตตานี 30 บาท กลับมาจากยะลาอีก 30 บาท
เขาเล่าถึงชะตากรรมที่เกิดกับเพื่อนรถแท็กซี่โดยสารคิวอื่นๆ ที่เจอผลกระทบไม่ต่างกัน
"ที่ บขส.ปัตตานี มีหลายคิว บางคิว เช่น ปาดังเบซาร์-ด่านนอก ปิดมาหลายเดือนจากโควิด เพราะด่านนอกปิด (ด่านนอก เป็นเมืองเศรษฐกิจริมชายแดนฝั่ง อ.สะเดา จ.สงขลา) ส่วนปัตตานี-ยะลา ยะลา-เบตง ยะลา-ยะหา ที่ใช้แท็กซี่เบนซ์ เหลือรวมทุกคิวตอนนี้ราว 60 คัน รถยังมีแต่ไม่มีคนนั่ง ปัตตานี-ยะลา ระยะทาง 30 กว่ากิโล ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ช่วงเช้าจะมีลูกค้า ยิ่งเย็นลูกค้าหายหมด จะเยอะอีกทีช่วงวันอาทิตย์ที่เด็กกลับจากบ้านมาเรียนที่ปัตตานี คนทำงานต้องกลับมาทำงานวันจันทร์"
ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงไม่มีลง ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุปัจจัยที่กระทบกับแท็กซี่เบนซ์ ทำให้หลายคันหันมาใช้แก๊สแอลพีจีแทน เพื่อลดการขาดทุน แต่ก็ต้องลงทุนติดตั้งถังแก๊สและระบบ โดยหาก 1 วัน หรือ 1 เที่ยวได้ 300 บาทจึงจะถือว่าคุ้ม แต่ระบบแก๊สไม่ค่อยเหมาะกับเบนซ์ เมื่อวิ่งไปนาน ๆ จะร้อนและมีกลิ่น ต้องกลับมาใช้ระบบเดิมคือ เติมน้ำมันโซลาร์ เมื่อมีปัญหาต้องเข้าอู่ ยังดีที่แท็กซี่เบนซ์มีมานาน ทำให้มีช่างซ่อมที่เข้าใจและชำนาญ อู่ที่ยังมีตั้งอยู่ก็แถวกรือเซะ ยะรัง และโคกโพธิ์ (ทั้งหมดอยู่ในปัตตานี)
"ผมคงทำไปเรื่อยๆ ตอนนี้อายุ 70 กว่า ได้ออกมาพบเพื่อนๆ กินข้าว คุยกัน ได้วันละ 200-300 บาทก็โอเคแล้ว" มะดิงบอกด้วยประกายตาเป็นสุข
ถึงวันนี้จะไม่ใช่ยุคเฟื่องฟูของรถโดยสารตราดาวสามแฉก แต่ลมหายใจแห่งวิถีแท็กซี่เบนซ์ที่พวกเขาชื่นชอบยังคงโลดแล่นไปบนท้องถนนชายแดนใต้ ตราบจนพวกเขาอ่อนแรง...