หลังจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้เร่งสำรวจ "โอรัส อัสลี" ที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สัญชาติ อีก 178 คน จากเดิมเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ทำบัตรประชาชนให้กับกลุ่มโอรัง อัสลี ในพื้นที่บ้านนากอ อ.เบตง จ.ยะลา จำนวน 44 ราย จาก 56 ราย ที่เหลืออีก 12 คนยังเป็นเด็ก
ในขณะเดียวกัน "โอรัง อัสลี" ในพื้นที่ อ.จะแนะ 30 กว่าคนเข้าได้รับอิสลาม และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โดยชาวบ้านให้สร้างบ้านในที่ดินของชาวบ้าน ในพื้นที่ ม.7 ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
นายประเวศ หมีดเส็น ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ ศอ.บต. กล่าวว่า โอรัง อัสลี ที่อยู่ในพื้นที่ อ.บันนังสตา 50 ราย ที่ อ.ธารโต 80 ราย ที่ อ.จะแนะ 38 ราย ที่ อ.ศรีสาคร 10 ราย รวม 178 ราย ซึ่งรอบที่แล้ว ได้ดำเนินการไปแล้วที่ บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เว อ.เบตง จ.ยะลา
โดยก่อนปีใหม่ได้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านครบทุกคน จำนวน 56 คน และออก บัตร ปชช.ไปแล้ว ครบทุกคนที่คุณสมบัติครบจำนวน 44 คน. อีก12 คนยังเป็นเด็ก ทุกคนเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ พร้อมจัดสรรที่ทำกินที่ยังคงเอกลักษณ์และอนุรักษ์ป่าให้ 30 ไร่
ล่าสุดได้ขึ้นเขามาทำความเข้าใจกับ ชาวโอรัง อัสลี อีกกลุ่มในพื้นที่ อ.บังนังสตา และ อ.ธารโต จ.ยะลา บ้านเขาน้ำตก ต.ตลิ่งชัน อ.บังนังสตา เป็นที่หมายแรกขึ้นเขาไปพอสมควร จากเขื่อนบางลางเดินทางไปตามหุบเขาประมาณ 1 ชม. พบกับกลุ่มนี้มี ประมาณ 50 คน มี หัวหน้าทับหรือหัวหน้าเผ่า อายุเกือบ 90 ปี ยังคงเอกลักษณ์และอนุรักษ์ความเป็น โอรัง อัสลี แบบดั่งเดิม
และจุดที่ 2 ได้ไปที่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 7 ต. แม่หวาด อ.ธารโต จุดนี้พบ โอรัง อัสลี แตกออกเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละประมาณ 30 คน เนื่องจากหัวหน้าเผ่า เพิ่งเสียชีวิต คนรุ่นถัดมาจึงออกมาสร้างอาณาจักรของตนเอง
สำหรับชาวโอรัง อัสลี ในพื้นที่ อ.บันนังสตาและ อ.ธารโต ได้มีการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด เพราะที่นี้เป็นป่าที่ล้อมรอบไปด้วยน้ำเหนือเขื่อนบางลาง พื้นที่ป่าหายไปเกือบหมด วิถีที่อยู่กับป่าก็ต้องเปลี่ยนไป ต้องทำอาชีพรับจ้างและกรีดยาง
ผู้คนคุ้นเคยที่นี้ เล่าให้ฟังว่า โอรัง อัสลี ที่นี้ หาปลาเก่งกว่าชาวบ้าน ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ เล่น YOUTUBE เล่น LINE แต่ยังคงเอกลักษณ์และรักษาพื้นป่าที่เหลือน้อยนิด ทางเราจะต้องขึ้นมาที่นี้อีกหลายครั้ง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของ โอรัง อัสลี กลุ่มนี้ รวมปถึงการดำเนินการทำบัตรประชาชนและมอบที่ทำกินให้
ส่วนกลุ่มโอรัง อัสลี ที่อาศัยอยู่ตามแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี อ.ศรีสาคร และ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส มีอยู่ 35 คน อาศัยอยู่ ม.7 ต.ช้างเผือก หัวหน้าเผ่า มีชื่อตามอิสลามว่า อับดุลลาซิ อับดุลเลาะ เนื่องจากเพิ่งเข้ารับอิสลาม เขาเป็นลูกชาย คนที่ 3 ของหัวหน้าเผ่า บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เดินทางข้ามภูเขามาเมื่อ 10 ปีก่อน แต่มาหลงเสน่ห์สาวชาวมานิ ในพื้นที่ ต.ช้างเผือก จึงได้แต่งงานสร้างครอบครัว มีลูกด้วยกันและปักหลักสร้างเผ่า ทำมาหากินกับสมาชิกโอรังอัสลี ในกลุ่มอีก 28 คน
กลุ่มนี้จะแตกต่างจากโอรังอัสลี ที่บ้านนากอ คือ ไม่ออกหาอาหารในป่าแล้ว จะหาเลี้ยงชีพ ด้วยการรับจ้างถางป่าตัดยางและพวกเขายังโชดดีที่เจอเจ้าของที่ดินใจบุญ อนุญาตให้อาศัยปลูกบ้านอยู่และให้ตัดยางถางป่าได้
นายอับดุลอาซิ อับดุลเลาะ หรือชื่อที่หลายคนเรียกกันว่า "นากอ" อายุ 34 ปี ได้เล่าว่า กลุ่มของเรามีชื่อเรียกว่า "ออแรสาแก" เรามีลูก 9 คน เมีย 1 คน และมีสมาชิกในกลุ่ม 30 กว่า คนที่เข้ารับศาสนาอิสลาม หลังจากผู้นำศาสนารับปากจะดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ตอนนี้เราละหมาดเป็นแล้ว พูดได้ 3 ภาษาไทย ภาษายาวีและภาษา "ออแรสาแก" ซึ่งเป็นภาษาของพวกเรา เพราะพวกเราจะเรียนหนังสือด้วย ในหนึ่งสัปดาห์ เราจะได้เรียนหนังสือ 3 วันเกี่ยวกับหลักศรัทธา หลักปฏิบัติและหลักการเขียน จนสามารถพูดตอบโต้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษายาวี
"ทุกวันนี้เราไม่กินหัวมันแล้ว ไม่ล่าสัตว์แล้ว เรากินข้าว กินปลา กินไก่ จากตลาด เพราะความยากลำบากหลายอย่าง ถ้ายังอยู่ในป่าในพวกเราหากินยากอยู่ก็ยาก จึงตัดสินใจออกมา ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ตอนนี้มีญาติพี่น้องชาวโอรัง อัสลี อีกเป็นร้อยคนอยากจะออกมาอยู่แบบพวกเรา ถ้าเขาเห็นว่าพวกเราได้รับการดูแลเป็นอย่างดี"
นากอ หัวหน้าเผ่า บอกถึงเล่าวิถีชีวิตแบบเดิมว่า เมื่อก่อนพวกเราจะย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลของกินหมดหรือเมื่อมีคนตายในบ้าน เราก็จะหนีทันที ไม่อยู่แล้วที่นั้นย้ายคนไปหากินที่อื่นต่อ ทิ้งศพบนบ้านแล้วพวกเราก็ย้ายไป และจะไม่กลับไปหาอีกเลย เพราะคิดว่า เราเชื่อว่าวิญญาณจะมาหา เรามองวิญญาณไม่เห็น แต่เราจะได้ยินเสียง วิญญาณจะตามหาลูกหลานและคนในครอบครัว
"เมื่อก่อนตอนอยู่ในป่า เราทำงานพอได้กินไม่มีเหลือ แต่ละวันจะออกไปหาของป่า ขุดหัวมันต้มหมดพรุ่งนี้ไปหาอีก เวลาไปหาอาหารต้องไปคนเดียว ไปเยอะ ๆ ก็ไม่ได้ ของในป่ามีไม่เยอะ พอได้มาก็ต้องแบ่งไม่พอกินอีก เวลาไปก็จะเจอหมด ทั้งเสือ ช้าง สัตว์ดุร้าย ผีด้วย ผี ไม่มีตัวตนแต่มีเสียง ทุกคนได้ยินพร้อม ๆ กัน คิดแบบนั้นก็เลยสงสารลูกหลาน จึงเข้ารับอิสลาม ไม่ย้ายถิ่นไปไหนแล้ว ถ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดีตามที่ผู้นำรับปาก ทุกวันนี้ข้าวสาร 5 กก. ก็สามารถกินได้นานถึง 5 วัน เรามีเวลาไปทำงานอื่นและมีเก็บไว้กินได้" หัวหน้าเผ่ารายเดิม กล่าว
สำหรับเส้นทางเข้าชุมชนโอรัง อัสลี ม.7 ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส จาก อบต. ช้างเผือกเข้าไปประมาณ 20 กม. รถยกสูงหรือรถขับเคลื่อน4ล้อเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ กลุ่มโอรัง อัสลี กลุ่มนี้ยังคงต้องการของใช้ที่จำเป็นอย่าง ของใช้สำหรับเด็ก เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าผู้หญิง ชุดชั้นใน และผ้าอนามัย และลิปสติก กระจก ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของหญิงสาวในกลุ่ม หากใครสนใจเดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจชาวโอรัง อัสลี ก็สามารถติดต่อได้ที่ อบต.ช้างเผือก ในวันเวลาราชการได้
การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโอรัง อัสลี ชนพี้นเมืองดังเดิม ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงต้องถึงเวลาในการเปิดรับวัฒนธรรมการดำรงชีวิตในรูปแบบใหม่ เพื่อความอยู่รอดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ก็ยังคงอยู่ของวิถีวัฒนธรรมและภาษาของชนเผ่าโอรัง อัสลี ดังเดิมผสมผสานอยู่
ขอบคุณภาพ จาก youtube ช่อง Stevens VTG