"ดีใจมาก ที่ได้เป็นคนไทย ได้รับสิทธิ์เหมือนคนไทยทุกคน ขอบคุณที่ช่วยเหลือ ที่ช่วยทุกเรื่อง" เป็นคำพูดของนายนิสูปิน รักษ์ฮาลา ชายวัย 41 ปี ชาวโอรัง อัสรี หลังได้รับบัตรประจำตัวประชาชนที่ทางเจ้าหน้าที่จาก ศอ.บต.และอำเภอเบตง ได้ออกบัตรให้
การออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ชาวโอรัง อัสรี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา โดย พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ ผอ.สำนักงานเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.พร้อมด้วย น.ส.บุศริน เถาวัลย์ ปลัดอำเภอเบตง หัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตรอำเภอเบตง นำเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เดินทางไปยังบ่อน้ำร้อน บ้านนากอ หมู่ 9 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ใบหน้าและถ่ายรูปทำบัตรประจำตัวประชาชนแก่กลุ่มโอรัง อัสลี จำนวน 40 คน ให้ได้สิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน ให้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐ สวัสดิการด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ ผอ.สำนักงานเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า หลังได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ทาง ศอ.บต. จะดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยช่วยดูแลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ ให้นิคมสร้างตนเองจัดสรรที่ดินทำกินในแต่ละครัวเรือน หารือจัดหาอาชีพที่เหมาะสม ส่งเสริมการศึกษาบุตรหลานในกลุ่มโอรัง อัสลี ให้อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ แต่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์และสอดคล้องความต้องการของกลุ่มฯ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ที่อาจตกเป็นเครื่องมือของผู้แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งประสงค์ให้ ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้เป็นรูปธรรม
ก่อนที่ทางอำเภอจะมีการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้นั้น ทาง น.ส.บุศริน เถาวัลย์ ปลัดอำเภอเบตง พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่ร่วมกันในกระบวนการสอบสวน ซึ่งใช้เวลาถึง 3 เดือน ทำให้ทราบว่า ชาวโอรัง อัสรี กลุ่มนี้เป็นญาติพี่น้องกันหมด จึงใช้นามสกุลว่า "รักษ์ฮาลา" ส่วนชื่อบางคนก็จะใช้ชื่อตามที่คนในกลุ่มเรียก บางคนก็ให้เจ้าหน้าที่ช่วยตั้งชื่อให้ หลังจากที่โอรัง อัสรี กลุ่มนี้ได้รับบัตรประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะได้รับสิทธิ์ต่างๆในการเป็นพลเมือง มีสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาล การรับเงินค่าครองชีพตามรัฐบาลที่ให้และเงินผู้สูงอายุ อีกมากมาย
ในพื้นที่บ้านนากอ หมู่ 9 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา มีชาวโอรัง อัสรี อาศัยอยู่จำนวนทั้งหมด 54 คน เป็นเด็กอายุไม่ถึง 6 ปี จำนวน 14 คน ส่วนผู้มีอายุมากสุดเป็นชาย ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มมีอายุถึง 81 ปี พวกเขาได้มาสร้าง "ทับ" หรือ ที่พักอาศัยในพื้นที่บ้านนากอ มานานแล้วและไม่ได้อพยพไปไหน
โอรัง อัสลี เป็นชนเผ่าในชาติพันธุ์นิกรอยด์ หรือ "เนกริโต" มาจากภาษาสเปน แปลว่า "นิโกรเล็ก" ในทางวิชาการ หมายถึง กลุ่มคนที่มีเชื้อสายนิกรอยด์ คือ ผิวดำ ผมหยิก ริมฝีปากหน้า ส่วนคำว่า "โอรัง อัสรี" ( Orang Asli ) เป็นชื่อที่มาเลเซียใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ มีความหมายว่า "ชนพื้นเมืองดั้งเดิม" คำนี้เป็นคำที่ใช้ในราชการของประเทศมาเลเซียหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้อพยพเข้าสู่คาบสมุทรมลายูและเชื่อว่า ชนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นบรรพบุรุษของชาวมลายู
กลุ่มชาติพันธุ์นี้ มักจะเรียกตัวเองว่า "มานิ" (Mani) แต่คนทั่วไปจะเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น โอรัง อัสลี ,เซมัง ,ซาไก ,เงาะป่า โดยจะมีถิ่นอาศัยอยู่ในเทือกเขาบรรทัดและได้มีการเคลื่อนย้ายที่ทำกินไปในพื้นที่ป่าของจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส
นายอับดุลอาซิส ยานยา นายกสมาคมปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ทางกลุ่มผู้นำศาสนา จ.ปัตตานี 100 กว่าคน เป็นทีมขบวนคาราวานกิจกรรมเผยแพร่อิสลามให้กับชาวโอรัง อัสลีหรือชาวเขาซาไก จำนวน 32 คน ในป่าลึกของพื้นที่เขต ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ถือเป็นมิติใหม่สำหรับคนทำงานด้านศาสนา ที่ต้องเดินทางโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจาก ฉก.ปัตตานี เข้าร่วมอำนวยความสะดวกในการเดินทางบุกป่าฝ่าดงข้ามลำธาร ด้วยรถยนต์และเดินเท้าอีก 1 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง จึงถึงหมาย เพื่อนำสิ่งของอาหารแห้งกล่องปันสุขและปุ๋ยเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งมอบพันธุ์ไม้ เสื้อผ้าและคัมภีร์อัลกุรอ่าน พร้อมแนะนำและให้ความรู้การทำสวนพืชไร่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อไปมอบให้นายอับดุลอาซิ อับดุลเลาะ หัวหน้าเผ่ากลุ่มคนอัสลี (ซาไก)
"นอกจากนี้ทางอุลามะห์และผู้นำศาสนา ต่างร่วมกันช่วยเหลือพี่น้องเผ่าซาไก ให้มีความรู้ มีการศึกษาและรับอิสลามเป็นศาสนาตามแนวทางท่านศาสดานบี มูหัมหมัด (ซ.ล.) ซึ่งได้วางแผนการช่วยเหลือต่อไป คือ การร่วมกันจัดซื้อที่ดินวากัฟ อีกประมาณ 15 ไร่ ให้พี่น้องเผ่าโอรัง อัสลี (ซาไก) และการประสาน ศอ.บต.ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ และยื่นขอทำบัตรประชาชน เพราะทราบข้อมูลมาว่า ยังพี่น้องที่ตกหล่นและอยู่ในป่าเขาลึก 200 คน ที่ยังใช้ชีวิตกระจายเป็นเผ่าๆ เร่ร่อนอยู่ในเขตภูเขาบูโด สุไหงปาดี รอยต่อชายแดนมาเลเซีย คาดว่า จะมีกิจกรรมครั้งต่อไปในปีหน้า" นายอับดุลอาซิซ กล่าว
ก่อนหน้านี้ที่ จ.สตูล ทางภาครัฐได้มีการออกบัตรประชาชนชั่วคราวแก่กลุ่มโอรัง อัสลี ไปแล้วจำนวน 313 คน ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านต่างๆจากภาครัฐ ทั้งนี้ยังมีกลุ่มโอรัง อัสลี ที่ดำรงชีพในป่าและได้เคลื่อนย้ายมามีปฏิสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่มากขึ้น ประมาณไม่ถึง 500 คน โดยอีกส่วนหนึ่งอยู่ใน จ.พัทลุง กว่า 70 คน
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเอาไว้ว่า ทาง ศอ.บต.มีนโยบายที่จะดูแลกลุ่มคนเหล่านี้เสมือนคนไทยที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยอย่างเต็มความสามารถด้วยการรับรองสถานะ และขยายการดำเนินงานไปยังกลุ่มโอรังอัสรี กลุ่มอื่นๆในบริเวณใกล้เคียงต่อไป ทั้งยังมีการดำเนินการดูแลช่วยเหลือในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์มานิ ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ควบคู่กับการพัฒนา
แนวทางการดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (โอรัง อัสลี) จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีการนำร่องหมู่บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ในระยะที่ 1 มีการบริหารจัดการของชุมชนโดยชุมชนเป็นผู้จัดการ มีหน่วยงานรัฐสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น มีการสนับสนุนด้วยการจัดสรรที่ดินของนิคมสร้างตนเองอำเภอเบตง เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวและที่ดินเกษตรกรรม การสนับสนุนให้เข้าถึงบริการของรัฐ ส่วนระยะที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระหว่างชุมชนกับกลุ่มโอรัง อัสลี และระยะที่ 3 การดูแลสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ทาง ศอ.บต.ในฐานะหน่วยสนับสนุน ประสานงาน และอำนวยการให้หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบดูแลกลุ่มชาติพันธุ์มานิฯ ได้กำหนดกิจกรรมการจัดทำบัตรแสดงตัวบุคคลและบัตรประกันสุขภาพ เพื่อจะทำให้คุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้
"สำหรับกลุ่มโอรัง อัสลี บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา กลุ่มนี้คือเสน่ห์ในพื้นที่ จ.ยะลา เนื่องจากผืนแผ่นดินแห่งนี้ มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ทั้งไทย มลายู จีน และโอรัง อัสรี ในวันข้างหน้าเมื่อทุกชาติพันธ์สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม โดยไม่มีความหวาดระแวงต่อกัน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริงและจะทำให้แผ่นดินใต้เป็นที่ต้องการของผู้มาเยือนในพื้นที่"
ถือเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ 2564 จากภาครัฐที่มอบแก่พี่น้องชาวโอรัง อัสลี ทั้ง 40 คน บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ให้พวกเขาได้มีสถานะเป็นพลเมืองของแผ่นดินไทยอย่างสมบูรณ์เต็มตัว