ลวดลายสวยงามสีสันฉูดฉาดสะดุดตาที่ถูกบรรจงวาดลงบนเรือกอและ เรือประมงประจำถิ่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรือที่เป็นสุดยอดแห่งนาวาศิลป์ ลายเส้นพลิ้วไหวบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตและวัฒนธรรมผสมผสานความเป็นมลายู ไทย และจีน ผ่านจินตนาการจากปลายพู่กันของปราชญ์แห่งศิลปะลังกาสุกะ สะท้อนความเป็นดินแดนแห่งพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง...
นายซามาน อูมา หรือ "แบมัง" วัย 58 ปี ช่างเขียนลายเรือกอและ ชาว อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เล่าให้ฟังว่า ตนเกิดมาพร้อมวิถีชาวประมง ชีวิตส่วนใหญ่จึงผูกพันกับคลื่นลม ทะเล และเรือกอและ เพราะชาวปะนาเระมีอาชีพหลักคือทำประมง ตนเห็นเรือกอและทุกวัน จึงเกิดการเรียนรู้วิถีต่างๆ ของเรือ รวมทั้งศิลปะลวดลายบนท้องเรือ กระทั่งซึมซับจนทำให้ชื่นชอบลวดลายบนเรือกอและมาก เพราะเป็นลวดลายที่สวยงาม รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็น
ด้วยความชอบในลวดลาย ทำให้ "แบมัง" พยายามศึกษาด้วยตัวเอง โดยการฝึกหัดเขียนลวดลาย ฝึกการใช้พู่กันเองทุกวัน ทุ่มเทจนปวดแขน บางครั้งถึงขั้นล้มป่วย แต่เขาบอกว่า อาการปวดจะหายเป็นปลิดทิ้งทุกครั้งที่เขาได้ลงมือวาดลวดลายบนเรือกอและ ด้วยความพยายามบวกกับความชอบที่ทุ่มเท ทำให้สามารถเรียนรูู้การแกะลายได้เองแบบไม่ต้องมีครูสอนเลย
"ตอนผมอายุ 20 ปี นับเป็นครั้งแรกที่จับพู่กันหัดวาดลวดลายลงบนเรือจริง ผมใช้ความตั้งใจทั้งหมดที่มีจนวาดลวดลายบนเรือกอและเสร็จ ซึ่งตอนนั้นได้ค่าแรง 250 บาทต่อวัน เรือ 1 ลำใช้เวลา 20 วันในการวาด ก็จะได้ประมาณ 4,000 - 5,000 บาท ก็รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ปัจจุบันราคาในการวาดลวดลายก็สูงขึ้นตามยุคสมัย มีตั้งแต่ราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น"
แบมัง บอกอีกว่า ลวดลายที่ใช้เขียนบนเรือกอและ เป็นศิลปะที่มีการผสมผสานระหว่างลายไทยกับลวดลายของวัฒนธรรมจีน มลายู จนตกผลึกมาเป็นลายอัตลักษณ์ประจำเรือกอและ นอกจากนี้ยังมีลายที่มาจากจินตนาการ อย่างเช่น ภาพสัตว์น้ำ ภาพวิถีชีวิต และภาพอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าช่างแต่ละคนที่วาดลายเรือจะรังสรรค์ผลงานออกมาจากจินตนาการของตนเองอย่างไร
"ทุกวันนี้แบมังก็อายุมากขึ้นแล้ว ชีวิตจะถูกพรากไปจากสิ่งนี้เมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้เลย ได้แค่หวังว่าคนรุ่นหลังจะมาสืบทอดต่อ แต่จนทุกวันนี้ก็ไม่มีคนรุ่นใหม่สนใจมาเรียนรู้ เทคโนโลยีมันพรากชีวิตของเด็กๆ ในชุมชนไปหมด แม้กระทั่งลูกเราเองก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญหรือสนใจเลย" เขากล่าวด้วยความน้อยใจ
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่เพียงแค่คนเท่านั้นที่เปลี่ยน แต่รูปแบบการจับปลาและการใช้อุปกรณ์ก็เปลี่ยนไปด้วย ทำให้เรือกอและเหลือน้อยลง ช่างวาดลายเรือกอและก็น้อยลงด้วยเช่นกัน จากสภาพการณ์ที่เกิดขุึ้นทำให้ "แบมัง" พยายามรวบรวมลายต่างๆ ที่มี พร้อมที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ไปสู่ผู้ที่สนใจ เพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา รวมไปถึงการพยายามปรับเปลี่ยนนำลวดลายที่เคยวาดบนเรือกอและ ไปวาดลงบนผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เสื้อผ้า ร่ม รองเท้า ของที่ระลึก เรือกอและจำลอง รวมไปถึงนำลวดลายที่เคยวาดบนเรือกอและไปวาดบนเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่
"อย่างตอนนี้ เจ้าของ เรือ น.ลาภประเสริฐ ได้ให้ผมวาดลวดลายบนเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้ออกหาปลา เพราะเขาต้องการอนุรักษ์ลวดลายเหล่านี้ไว้ ผใได้วาดลวดลายบนกระโจมเรือและส่วนต่างๆของเรือ ทำมาแล้ว 27 วัน พยายามทุ่มเททำอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความจดจำให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักและหันมาสนใจช่วยกันอนุรักษ์ลวดลายบนเรือแบบนี้เอาไว้"
ช่างเขียนลายเรือกอและ วัย 58 ปี กล่าวด้วยว่า การได้มีโอกาสวาดลวดลายบนเรือพาณิชย์ ถือว่าเป็นอะไรที่ดีมาก ศิลปะแห่งลวดลายจะได้ขยายพื้นที่และมีคนร่วมกันอนุรักษ์ ก่อนที่จะต้องไปหาดูกันแต่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งถ้าเด็กๆ นักเรียนสนใจอยากเรียน "แบมัง" ก็มีเวลาให้ และยังฝากบอกถึงคนรุ่นใหม่ว่า จริงๆ การเขียนลวดลายไม่ยากเลย ถ้าดูภาพรวมเหมือนจะยาก เพราะลายเส้นมันเยอะจนมั่วไปหมด
"หากใครชื่นชอบและสนใจการวาดลวดลายบนเรือกอและ ก็สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กเพจ zaman ouma ที่ผมเปิดไว้เป็นสื่อกลางส่งต่อการวาดลวดลายไปสู่ผู้ที่สนใจ" แบมัง กล่าว
นายสุรัตน์ รัตนศิธร เจ้าของเรือประมง เรือ น. ลาภประเสริฐ ผู้ว่าจ้าง "แบมัง" ให้เขียนลวดลายบนกระโจมเรือ และส่วนต่างๆของเรือประมงพานิชย์ บอกว่า สาเหตุที่ตัดสินใจวาดลวดลายบนเรือ เกิดจากความผูกพันของตนเอง สืบเนื่องจากคุณแม่สร้างฐานะจากอาชีพนี้ และตนได้เจริญเติบโตในสังคมพหุวัฒนธรรมของปัตตานีที่มีทั้งส่วนของความเป็นคนมุสลิม คนจีน หรือคนไทยพุทธ เราอยู่ร่วมกันด้วยความรักความสามัคคี จึงอยากมีส่วนในการช่วยถ่ายทอดศิลปะลวดลายต่างๆ ที่ถือว่าค่อนข้างหาดูได้ยากแล้วในตอนนี้ เพื่อที่จะให้คนทั่วๆ ไปได้เห็นถึงความงดงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความอลังการ ถือเป็นศิลปะประจำถิ่นที่ไม่สามารถหาดูที่ไหนได้ นอกจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
"สำหรับช่างที่มีฝีมืออย่าง 'แบมัง' แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางศิลปะ แต่ก็เป็นคนที่มีพรสวรรค์และมีความชอบในการวาดลาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งยังเป็นคนที่มีความเข้าใจในวิถีชีวิต ความเป็นชุมชน ประเพณี วัฒนธรรม และศาสนาต่างๆ 'แบมัง' สามารถนำมาถ่ายทอดลงในลวดลายได้อย่างลงตัว เช่น ที่วาดออกมาเป็นมังกร นก และลายกนก ที่ปรับเปลี่ยนจากลายกนกเดิมของไทย นำมาผสมผสานกับขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมความเชื่อของท้องถิ่น จนออกมาเป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ"
"ผมให้ 'แบมัง' วาดลายทั้งส่วนของข้างเก๋งเรือ ซึ่งเป็นที่พักของคนบนเรือ รวมทั้งบริเวณกระโจมเรือ อุปกรณ์หาปลา และบริเวณใต้ท้องเรือ โดยมีเงื่อนไขแค่ต้องมีตัว ป.ปลา ตามกฎของกรมเจ้าท่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเรือลำนี้เป็นเรือประมง นอกจากนั้นก็ขอให้มีชื่อเรือภาษาอังกฤษ ส่วนลวดลายบริเวณอื่นๆ ให้ 'แบมัง' คิดและวาดได้โดยอิสระ" เจ้าของเรือประมง น. ลาภประเสริฐ กล่าว และว่าผลงานของ "แบมัง" ทุกชิ้น สร้างความประทับใจอย่างมาก
สำหรับผลงานศิลปะที่สื่อสารเรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างการวาดลวดลายบนเรือกอและเช่นนี้ หากทุกคน ทุกฝ่ายไม่ร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้ ในอนาคตก็คงจะสูญหายไปตามกาลเวลา และหาดูที่ไหนไม่ได้...นอกจากในพิพิธภัณฑ์