"อีแกกือเลาะห์" หรือ "ปลาพลวงชมพู" ปลาประจำจังหวัดยะลา กลับมาสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาว อ.เบตง จ. ยะลา อีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มานาน เผยราคาล่าสุดพุ่งไปที่กิโลกรัมละ 3,500 บาท!
วันที่ 1 ธ.ค.63 ที่บ่อปลาของเกษตรกร ในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่นายชนธัญ นฤเศวตานนท์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปี 2559 ได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านประมงน้ำจืดการเลี้ยงปลาในเชิงพาณิชย์ตามนโยบายสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคใต้ ที่มีการเลี้ยง อีแกกือเลาะห์ หรือ ปลาพลวงชมพู เป็นหนึ่งในตระกูลปลาพลวง รูปร่างคล้ายปลาตะเพียน เป็นปลาเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยในปี พ.ศ. 2556 ทางการได้ประกาศให้ปลาพลวงชมพูเป็นปลาประจำจังหวัดยะลา
นายชนธัญ กล่าวว่า ปัจจุบันปลากือเลาะห์ ได้รับความนิยมมากทั้งในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียและไต้หวัน โดยขนาดตัวที่หนัก 1 กิโลกรัม จะขายได้กิโลกรัมละ 3,500 บาท ซึ่งหากนำไปขายที่ประเทศมาเลเซีย ราคาจะเพิ่มเป็นเท่าตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 7,000 บาท และหากส่งไปที่ประเทศไต้หวันราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000 บาทเลยทีเดียว สาเหตุที่ปลาชนิดนี้มีราคาแพง เนื่องจากเป็นปลาที่มีรสชาติดี เนื้อนุ่มอร่อย เหมือนปลาสำลีและหารับประทานได้ยาก ซึ่งจุดเด่นของปลากือเลาะห์ที่บางคนอาจยังไม่ทราบ คือปลาชนิดนี้สามารถกินได้ทั้งเกล็ด โดยในเกล็ดปลายังมีคอลลาเจนสูง
"หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่เดินทางมาลิ้มชิมรสปลากือเลาะห์ที่อำเภอเบตงก็ขาดหายไป ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงปลากือเลาะห์ขาดรายได้ และในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ก็มีนักท่องเที่ยวในประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอำเภอเบตงมากขึ้นและเข้ามาสัมผัสรสชาติความอร่อยของปลากือเลาะห์หลากหลายเมนูทั้งทอด นึ่ง ต้ม เช่น ปลากือเลาะห์ทอดน้ำปลา ปลากือเลาะห์นึ่งซีอิ๊ว"
นายชนธัญ กล่าวอีกว่า ส่วนปลากือเลาะห์ ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ถือว่าอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่เหมือนปลาชนิดอื่นๆ ไม่ค่อยกินอาหารจึงโตได้ช้า ซึ่งในบ่อของตนจะทำการเพาะเลี้ยงในระบบน้ำไหลเหมือนธรรมชาติเพื่อให้ไม่มีกลิ่นคาวและเลี้ยงรวมกับปลานิล เพื่อให้ชี้นำในการกินอาหาร แม้จะมีหน่วยงานราชการและเกษตรกรนำไปเพาะขยายพันธุ์ แต่การเลี้ยงยังไม่กว้างขวางมากนัก เนื่องจากเป็นปลาที่โตช้าให้ไข่น้อย ครั้งละแค่ 500-1,000 ฟองเท่านั้น แตกต่างจากปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน ที่เมื่อวางไข่แล้วจะให้ปริมาณไข่เป็นแสนฟอง อีกทั้งยังมีการตกไข่หรือไข่สุกไม่พร้อมกันอีกต่างหาก แถมยังตกใจง่าย ต้องใช้เวลาเลี้ยงหลายปี โดยตัวใหญ่สุดน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ต้องเลี้ยงนาน 10 ปีขึ้นไป อาหารที่ให้จะเป็นไส้เดือน แมลง และอาหารชนิดเดียวกับที่ใช้เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงในระบบน้ำไหลผ่านจากภูเขา ที่มาจากต้นน้ำป่าฮาลาบาลา ซึ่งปัจจุบันการเลี้ยงปลาชนิดนี้ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
สำหรับปลาพลวงชมพู เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน รูปร่างคล้ายปลาเวียน แต่ลำตัวเพรียวและเป็นทรงกระบอกมากกว่า ส่วนหัวค่อนข้างมน ริมฝีปากหนาปากกว้างเล็กน้อย ใต้คางมีติ่งเนื้อสั้น มีหนวด 2 คู่เห็นชัดเจน ตาอยู่ค่อนไปทางด้านบนหัว เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบหลังมีก้านแข็ง 1 อัน ครีบหางเว้าลึก ครีบก้นสั้น ลำตัวด้านบนมีสีคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างลำตัวสีเงินเหลือบชมพูหรือทอง ครีบสีคล้ำ ด้านท้องสีขาว มีขนาดความยาวประมาณ 25 ซม. ใหญ่สุดที่พบขนาด 35 ซม. อาศัยอยู่ในลำธารหรือแม่น้ำที่มีฝั่งเป็นป่าครึ้มรวมถึงบริเวณน้ำตก พบเฉพาะภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ตั้งแต่แม่น้ำตาปีไปจนถึงมาเลเซีย พบมากที่น้ำตกฮาลา-บาลาภายในอุทยานแห่งชาติฮาลา-บาลา จังหวัดยะลา เป็นปลาที่มีรสชาติดีขึ้นชื่อของจังหวัดยะลา นับเป็นปลาที่มีราคาแพงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้