กิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ตากใบ ในวันที่ 25 ตุลาคมของทุกปี เริ่มลดดีกรีความตึงเครียดและความเศร้าเสียใจลงไปตามระยะเวลาเนิ่นนานที่ผันผ่าน
ในปีหลังๆ มักเหลือเพียงกิจกรรมทำบุญ และพบปะกันของครอบครัวผู้สูญเสีย ซึ่งเกือบทุกคนไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ลืม แต่ก็ไม่อยากสะกิดแผล
เพราะต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 85 ศพในคราวเดียว มากเป็นอันดับ 2 รองจากเหตุการณ์กรือเซะ ไม่ได้ถูกชำระหาตัวคนผิดและรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรม
ทั้งๆ ที่เป็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีการใช้อาวุธ และจับกุมชายชาวมุสลิมจำนวนมากในเดือนแห่งการถือศีลอด สั่งให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วนำไปเรียงซ้อนกันบนรถยีเอ็มซี เพื่อเคลื่อนย้ายไปสอบปากคำและดำเนินคดีที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนมีผู้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจบนรถบรรทุกมากถึง 78 ราย ที่เหลือตายในที่ชุมนุม
แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปปีแล้วปีเล่า ขณะที่ภาครัฐก็พยายามเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาย้อนหลังให้กับครอบครัวของผู้สูญเสียและได้รับบาดเจ็บ ก็ทำให้ความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องดีขึ้นบ้าง และการพยายามสร้างสถานการณ์ด้วยการก่อเหตุรุนแรง รวมไปถึงสร้างกระแสตากใบจากบางกลุ่มบางฝ่ายในข่วงปลายเดือนตุลาคมของทุกปี ก็เริ่มลดน้อยและเจือจางลง
ทว่าในปีนี้ กลับมีเหตุป่วนเกิดขึ้น โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 24 ต.ค.63 ก่อนวาระครบรอบ 16 ปีเหตุการณ์ตากใบเพียง 1 วัน ตำรวจ สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี ได้นำกำลังเข้าไปปลดป้ายผ้าขนาดเล็กที่แขวนไว้บนป้ายบอกทาง และเสาไฟส่องสว่าง ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 (ยะลา-ปัตตานี) ในพื้นที่บ้านบินยะรัง หมู่ 3 ต.ยะรัง
ป้ายผ้าเขียนข้อความว่า "ตากใบ 47" โดยมีภาพวาดรถบรรทุกที่ขนผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมอยู่บนป้ายผ้าด้วย
ขณะเดียวกันในโลกออนไลน์ก็มีการแชร์ภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ รวมถึงข้อความในเพจที่ระบุว่าเป็นของกลุ่ม PerMas หรือ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ที่ออกมารณรงค์ให้พร้อมใจกันเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย ให้เป็นภาพเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมตากใบ ทั้งยังอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนถูกกระทำภายใต้โครงสร้างรัฐเผด็จการ ราชาชาตินิยม ทั้งยังไม่เคยรับผิดชอบต่อการกระทำโดยรัฐ และหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมไม่ได้
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นในปี 2547 ซึ่งอยู่ในช่วงรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และมี ส.ส.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคไทยรักไทยอยู่ในสภา รวมทั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลด้วย
ขณะที่ในปีนี้ มีสถานการณ์ร้อนแรงทางการเมือง มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งที่กรุงเทพฯและในต่างจังหวัด โดยเนื้อหาที่เป็นข้อเรียกร้อง มีเรื่องของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองรวมอยู่ด้วย
จากสถานการณ์สร้างกระแสโดยใช้เหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น "ทีมข่าวอิศรา" ได้สอบถามเรื่องนี้กับ นางแยนะ สะแลแม อายุ 61 ปี ชาวบ้านเจาะเราะ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ในฐานะแกนนำผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ
นางแยนะ หรือ "ก๊ะแยนะ" เล่าว่า ปีนี้มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบ โดยชาวบ้านจัดกันง่ายๆ เตรียมอาหารเลี้ยงกัน และละหมาดฮายัตรให้คนตาย เป็นทำบุญเพื่อคนตาย ไม่ใช่เฉพาะตากใบ แต่เป็นคนทั้งหมดที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนเรื่องความเป็นธรรมนั้น ก๊ะแยนะ บอกว่า จริงๆ แล้วกรณีตากใบ ครอบครัวผู้สูญเสียได้เงินเยียวยามา 7,500,000 บาท ได้แค่นี้ก็ถือว่าดีใจแล้ว หากเทียบกับอีกหลายคน หลายครัวในเหตุการณ์อื่นที่ยังไม่ได้รับ ก็ต้องฝากขอบคุณรัฐด้วย แต่ถ้าบอกว่าเงิน 7 ล้านจะมาแลกกับลูก ก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าไม่ได้เลยก็ไม่ใช่อีก เพราะครอบครัวก็ต้องได้ ต้องทำบุญให้กับคนตาย
สำหรับคดีตากใบ (หาตัวผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะจงใจ หรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้ผู้ที่ถูกจับกุมถึงแก่ความตาย) ที่ยังเหลืออายุความอีก 4 ปีนั้น ก๊ะแยนะ บอกว่า ทุกคนรู้ดี แต่ตอนนี้ไม่มีใครอยากจะไปฟ้องร้องอะไรอีกแล้ว
"มันไม่ใช่ง่ายที่จะไปฟ้องร้อง ไม่มีแล้วที่จะออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ส่วนคนอื่นที่ยังเอาเรื่องตากใบไปพูดนั้น ลึกๆ แล้วเขาไม่ได้มาสัมภาษณ์อะไรคนที่สูญเสีย่ แต่ก็เชื่อว่าเป็นความคิดของเข าและกิจกรรมรำลึกที่เราจัดขึ้นไม่ใช่ต้องการที่จะต่อสู้ แต่เราแค่ไม่อยากให้ลืมว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก"
ด้าน นางมือแย (สงวนนามสกุล) ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า โศกนาฏกรรมตากใบเป็นเรื่องที่อยู่ในใจตลอด มันฝังใจว่ารัฐได้ทำอะไรกับชาวบ้านบ้าง แล้วก็ไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้ ทั้งๆ ที่ทำกับคนเหมือนผักเหมือนปลา
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เคยพูดมาตลอดว่าชาวบ้านได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่เรื่องความยุติธรรม เรื่องของความจริง ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นคนทำให้เกิดการเสียชีวิต ทำไมถึงมีการขนคนด้วยวิธีการแบบนั้น (จับถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง นำไปนอนเรียงซ้อนกันบนรถยีเอ็มซี) และใครต้องรับผิดชอบ
"เรื่องนี้สำคัญ เพราะมันเป็นศักดิ์ศรีของคนมลายู เรื่องตากใบไม่ใช่เรื่องของปัจเจก ไม่ใช่เรื่องของครอบครัว แต่มันเป็นเรื่องสาธารณะ เป็นความสูญเสียของคนมลายู ถ้าพูดถึงตอนนี้ก็มีการประท้วงที่กรุงเทพฯ ช่วงนั้นชาวบ้านเองก็ประท้วง สลายการชุมนุมตาย 6 ศพหน้า สภ.ตากใบ และอีกศพเสียชีวิตที่โรงพยาบาล รวมเป็น 7 ศพ เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่พบว่าใครยิง ซึ่งตรงนี้มันก็มีคำถาม และรายงานของคณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นมาไต่สวน ก็ไม่พบว่าใครใช้อาวุธยิง 7 คนนี้ ไม่มีใครพิสูจน์ความจริง กลายเป็นว่าตายฟรี 7 คน นอกนั้นที่เสียชีวิตจากการขนย้ายอีกด้วย"
นางอังคณา บอกด้วยว่า เมื่อรัฐไม่ค้นหาความจริง และไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นเรื่องราวที่เล่าต่อๆ กันไปเรื่อยๆ ฉะนั้นการที่ชาวบ้านจะจัดกิจกรรมการพูดคุยรำลึก คิดว่าเป็นสิทธิ์ของชาวบ้าน รัฐจะมาห้ามไม่ได้ พยายามจะทำให้คนลืมตากใบ แต่ชาวบ้านลืมไม่ได้ เพียงแต่คิดว่าเราจะจำแบบไหนเท่านั้นเอง
--------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ป้ายผ้าที่พบใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี กับภาพที่แชร์กันเพื่อรณรงค์ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ตากใบ
2 ข้อความในเฟซบุ๊กของกลุ่ม PerMAS
3 ก๊ะแยนะ