"ฉันตั้งชื่อลูกไว้แล้วว่า ด.ช.อิรฟาน ทิพยอและ ขอขอบคุณทุกคน ขอบคุณคนไทยที่ไม่ทิ้งกัน"
เป็นคำกล่าวระคนสะอื้นด้วยความปิติของ นูรฮาลีซา เจะอาแว แม่วัย 18 ปี ที่เพิ่งได้พบหน้าลูกชายซึ่งหลายคนเรียกจนติดปากว่า "หนูน้อยจากมาเลย์" หลังจากถูกพรากจากอกไปเป็นเวลานานถึง 5 เดือนเพราะสถานการณ์โควิด-19
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 ก.พ.63 นูรฮาลีซา คลอดลูกที่โรงพยาบาล Kajang รัฐสลังงอร์ ใกล้กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยเป็นการคลอดก่อนกำหนดตอนที่อายุครรภ์เพียง 7 เดือน ทำให้ลูกของเธอมีน้ำหนักตัวเพียง 1,100 กรัม หรือ 1 กิโลฯกับ 1 ขีดเท่านั้น ทำให้หนูน้อยต้องเข้าตู้อบ และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
18 มี.ค. นูรฮาลีซา จำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อต่อวีซ่า ที่ด่านพรมแดน อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อทำเอกสารเสร็จก็เตรียมจะกลับไปรับลูกที่มาเลเซีย แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเข้าประเทศมาเลเซียได้ เนื่องจากทางการมาเลย์สั่งปิดด่านพรมแดนทุกด่านตามมาตรการล็อคดาวน์ประเทศ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ทำให้เธอต้องเดินทางกลับบ้านที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี เพื่อตั้งหลัก หาเงิน หางานทำ รอกลับเข้าไปรับลูกที่มาเลเซีย
แต่ปัญหาก็คือเมื่อลูกยิ่งอยู่นาน ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่ม เนื่องจากลูกของเธอไม่แข็งแรงจากการที่คลอดก่อนกำหนด ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายไปถึงกว่า 200,000 บาท (ราว 3 หมื่นกว่าริงกิต) เธอแทบจะหมดหนทางหาเงินก้อนนี้ ขณะที่ทางการมาเลย์ก็ปิดประเทศยาว เธอจึงตัดสินใจร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือ
และหลังจากที่ประสานงานกันมาระยะหนึ่ง ล่าสุดความพยายามก็ประสบความสำเร็จ โดยช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 6 ส.ค. นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี นายอำเภอเมืองปัตตานี และเจ้าหน้าที่จากหลายฝ่าย ได้ร่วมกันส่ง นูรฮาลีซา ขึ้นรถตู้จากโรงพยาบาลปัตตานี เดินทางไปรับลูกที่ด่านสะเดา จ.สงขลา
เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียได้นำหนูน้อยมาส่งที่ด่านพรมแดนให้เจ้าหน้าที่ไทยรับตัว นำโดย นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.พร้อมคณะแพทย์ ก่อนส่งต่อหนูน้อยจากมาเลย์สู่อ้อมอกแม่ผู้ให้กำเนิด
จากนั้น นูรฮาลีซา ได้เดินทางกลับโรงพยาบาลปัตตานี เพื่อกักตัว 14 วันตามมาตรการป้องกันโรคระบาด โดยผู้ว่าฯปัตตานีได้เตรียมห้องพิเศษไว้ให้แม่ลูกได้อยู่ร่วมกัน
น้ำหนักของเด็กชายวัย 5 เดือนเศษในวันนี้อยู่ที่ 3,600 กรัม หรือ 3.6 กิโลฯ สภาพร่างกายแข็งแรงดี
"ดีใจมากที่มีหน่วยงานต่างๆ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจและเป็นกระบอกเสียงในการประสานงาน ขอบคุณ ศอ.บต ผู้ว่าฯปัตตานี นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้านที่กะพ้อ และ พม. (กระทาวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ที่ให้คำปรึกษา รวมทั้งประชาชนที่คอยให้ความช่วยเหลือและบริจาคเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาลูกที่โรงพยาบาลในมาเลเซีย ขอขอบคุณทุกคน ขอบคุณคนไทยที่ไม่ทิ้งกัน" นูรฮาลีซา กล่าวทั้งน้ำตา
ก่อนหน้านี้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เดินทางไปที่บ้านของ นูรฮาลีซา ใน อ.กะพ้อ เพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ เพราะเข้าใจหัวอกของคนเป็นแม่ที่ต้องจากลูกนานถึง 5 เดือน
"เป็นความช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกัน โดยไม่คำนึงว่าเป็นคนศาสนาใด ขอให้เป็นคนไทยเราก็พร้อมช่วยเหลือ เช่นเดียวกับการให้ความช่วยเหลือ นายมะยากี ดอมะ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายบุกทำร้ายร่างกายจนแขนขวาขาดที่ประเทศมาเลเซีย แม้จะเป็นความขัดแย้งส่วนตัว แต่เมื่อคนไทยต้องลำบาก ตกทุกข์ได้ยากในต่างแดน หน่วยงานรัฐก็พร้อมยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือ พร้อมยืนเคียงข้าง และไม่ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง" เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
การช่วยเหลือหนูน้อยจากมาเลย์ เป็นความร่วมมือกันระหว่างหลายหน่วยงาน หลักๆ คือ ศอ.บต. กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ รวมถึงสถานกงสุลใหญ่ ณ นครปีนัง
ขณะที่ภาคประชาชนก็มีบทบาทไม่น้อย ย้อนกลับไปเมื่อวันอังคารที่ 28 ก.ค. ที่ร้านน้ำชาในมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตัวแทนเอ็นจีโอ ศอ.บต. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พรรพลังประชารัฐ และพรรคประชาชาติ ได้ร่วมกันหารือเพื่อหาหนทางนำหนูน้อยจากมาเลย์กลับบ้าน มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ช่วยกันบริจาคเพื่อช่วยเหลือนำเงินไปจ่ายให้โรงพยาบาลในประเทศมาเลเซีย เพราะทั้งแม่และเด็กไม่ใช่คนมาเลย์ จึงไม่มีสวัสดิการใดๆ ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนทั้งในเรื่องแพทย์และเนิร์สเซอรี่ (สถานที่ดูแลเด็กอ่อน)
ยอดเงินที่ได้รับบริจาคอยู่ที่ 121,000 บาท เลขาศอ.บต.มอบเงินส่วนตัวช่วยอีก 50,000 บาท นายภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และผู้ทรงคุณวุฒิคนอื่นๆ ร่วมบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 175,000 บาท ส่วนที่เหลือหน่วยงานรัฐที่ให้ความช่วยเหลือเป็นผู้รับผิดชอบ
คอลีเยาะ หะหลี กรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่มองไม่เห็นทาง ทั้งการประสานงานของหน่วยงานรัฐ และเงินบริจาคของทุกคน กระทั่งสามารถนำหนูน้อยจากมาเลย์กลับสู่อ้อมอกแม่ได้สำเร็จ ขณะที่คำยืนยันของรัฐและสามารถทำได้จริง คือความหวังของคนเป็นแม่ที่เฝ้ารอวันได้พบหน้าลูก
และเหตุการณ์นี้คือเครื่องพิสูจน์ว่า...คนไทยไม่ทิ้งกัน!