เหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งท้ายปี 62 คือเหตุเจ้าหน้าที่ทหารพรานอ้างว่า "สำคัญผิด" ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 3 ศพ บนเขาอาปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะเว ท้องที่บ้านอาแน ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 16 ธ.ค.62 และจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน โดยฝ่ายทหารและหน่วยงานรัฐในพื้นที่ คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยอมจ่ายเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ลั่นไกยิงชาวบ้าน แม้จะอ้างว่าเป็นการ "สำคัญผิด" คิดว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธก่อความไม่สงบก็ตาม
แต่ผ่านมาแล้ว 6-7 เดือน ปรากฏว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามจำนวนที่เข้าใจว่ามีการตกลงกัน ขณะที่คดีความก็ไม่คืบหน้า จึงเข้าร้องเรียนต่อ ส.ส.พรรคประชาชาติ และกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
ผู้ที่เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือที่อาคารรัฐสภา คือ นางฟารีดะห์ อาแว มารดาของ นายมะนาซี สะมะแอ อายุ 27 ปี หนึ่งในผู้เสียชีวิต ส่วนอีก 2 คนคือ นายบูดีมัน มะลี อายุ 26 ปี และ นายฮาพีซี มะดาโอะ อายุ 24 ปี โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นผู้รับหนังสือ และรับปากจะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนฯ ต่อไป
เปิดจดหมายร้องขอความเป็นธรรม
สำหรับหนังสือของ นางฟารีดะห์ ระบุว่า "ข้าพเจ้าในนามครอบครัวของนายมะนาซี สะมะแอ นายฮาฟีซี มะดาโอ๊ะ และนายบูดีมัน มะลี ซึ่งทั้งสามรายถูกเจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงเสียชีวิตบนเทือกเขาตะเว ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าทั้งสามคนเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้มีหมายจับตาม ป.วิอาญา และหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแต่ว่าทั้งสามคนได้ขึ้นไปบนเทือกเขาตะเว เพื่อตัดไม้ในพื้นที่ป่าเท่านั้น ซึ่งเป็นอาชีพและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่บ้านอาแน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
บัดนี้ผ่านไปแล้ว 7 เดือน ทางครอบครัวยังไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไรสักอย่าง และยังไม่ได้นำคนผิดมาลงโทษ หรือเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ทางครอบครัวได้รับแค่เพียงค่าเยียวยาจาก ศอ.บต.คนละ 500,000 บาทเท่านั้นเอง ยังไม่ได้รับความคืบหน้าว่ากระบวนการทางคดีไปถึงไหนแล้ว หรือค่าเยียวยาเพิ่มเติมที่ทางรัฐได้สัญญาไว้กับครอบครัวในที่ประชุมกับชาวบ้าน และครอบครัวก็ยังไม่ทราบว่าตอนนี้ถึงไหนแล้ว ทางครอบครัวจึงขอส่งหนังสือฉบับนี้ เพื่อขอให้ท่านช่วยให้ครอบครัวของข้าพเจ้าได้รับความเป็นธรรมด้วยเถิด"
6 เดือนไม่เคยถามไถ่ เยียวยา 1.5 ล้านยังไม่ได้รับ
นางฟารีดะห์ กล่าวเพิ่มเติมกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า 6 เดือนหลังมานี้ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามหรือถามไถ่อะไรเลย เงินเยียวยาก็เงียบหายไปเลย ทางครอบครัวได้รับครอบครัวละ 500,000 บาท ซึ่งได้รับตั้งแต่ช่วงหลังเกิดเหตุใหม่ๆ เท่านั้น ทุกคนจึงเครียดและคุยกันทั้งหมด (หมายถึงทั้ง 3 ครอบครัวที่ต้องสูญเสียลูกชาย) ว่าจะขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"เราชาวบ้านไม่รู้จะหันไปทางไหน มีช่องทางไหนก็ไปทุกที่ แรกๆ ไปหาทนายแวยูแฮ (หมายถึง นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ) ทางทนายเขารับปากว่าจะช่วยตามเรื่องกับ ศอ.บต.และทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง พอกลับมาบ้านยังรู้สึกไม่มั่นใจ ก็เลยพากันไปที่บ้านก๊ะแยนะ (นางแยนะ สะแลแม แกนนำผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ) บังเอิญก๊ะแยนะกำลังจะขึ้นกรุงเทพฯพอดี จึงขอมาด้วย เพื่อมาหาใครก็ได้ที่พอจะช่วยตามหาความเป็นธรรมกับพวกเรา ก็เลยได้มายื่นหนังสือกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน"
ฟางฟารีดะห์ ย้ำว่า เงินเยียวยาที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) บอกว่าให้แล้ว 1,500,000 บาทต่อครอบครัวนั้นไม่เป็นความจริง เงินเยียวยาที่เขาให้คือครอบครัวละ 500,000 บาทเท่านั้น อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาและให้ความยุติธรรมกับชาวบ้านตาดำๆ อย่างพวกเราด้วย
ขณะที่ นางแยนะ สะแลแม หรือ "ก๊ะแยนะ" กล่าวว่า อยากให้ทุกคนร่วมกันให้กำลังใจครอบครัวสามศพอาแนด้วย และช่วยพวกเขาตามหาความยุติธรรมให้ได้ ทั้ง 3 ครอบครัวเป็นชาวบ้าน พูดภาษาไทยก็แทบไม่ได้ การที่อยู่ๆ จะไปหาหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวบ้าน
"ก๊ะเคยอยู่จุดนั้น เข้าใจเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะต่อสู้เรื่องตากใบได้ ก็ทำให้เราเรียนรู้วิธีการ ต้องใช้เวลาพอสมควร"
กอ.รมน.แจงยิบ ช่วยครบ-จบทั้ง 3 ครอบครัว
พ.อ.วัชรกร อ้นเงิน รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงหลังมีข่าวครอบครัวผู้เสียชีวิต 3 ศพบนเขาตะเวร้องเรียนไม่ได้รับการเยียวยาตามที่ตกลงกันไว้ โดยบอกว่า ขอชี้แจงให้สังคมได้รับทราบความคืบหน้า ด้านการอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในห้วงที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้มอบหมายให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระจากผู้แทนของทุกภาคส่วนที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ เข้าทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นอิสระด้วยความโปร่งใสมาโดยตลอด รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้องค์กรอิสระจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่เข้าทำการตรวจสอบคู่ขนานกันไปด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและไม่เกิดความเคลือบแคลงสงสัยของสังคม
ด้านการดำเนินการทางคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทางกองบังคับการภูธรจังหวัดนราธิวาสได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยปัจจุบันพนักงานสอบสวนได้มีการส่งสำนวนไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ไต่สวนการตาย นำมาประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป
ด้านการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต และการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ทั้งเป็นจำนวนเงิน และทางกายภาพ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจของญาติ และครอบครัวของผู้เสียชีวิตมาโดยตลอด ดังนี้
- ศอ.บต. จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตตามระเบียบที่กำหนด รายละ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท
- กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เบื้องต้นให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 50,000 บาท และช่วยเหลือการจัดการศพ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 190,000 บาท
- หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมครอบครัวผู้เสียชีวิต และช่วยเหลือการจัดการศพ รวมเป็นเงิน 519,000 บาท
การอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เช่น การบรรจุทายาทตามโครงการสร้างงานจ้านงานเร่งด่วน (ลูกจ้าง 4,500) โควตาไปประกอบพิธีฮัจย์ ปัจจุบันติดปัญหาโควิด-19 อำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาลให้กับญาติและครอบครัวที่มีโรคประจำตัว ณ สถานพยาบาลในพื้นที่ เยี่ยมเยียนดูแลความเป็นอยู่และมอบเครื่องอุปโภคบริโภค
"กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับกรณีที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้ติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านการอำนวยความยุติธรรม การช่วยเหลือเยียวยา และการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้กับญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย ในส่วนที่เหลือก็จะเป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป" พ.อ.วัชรกร กล่าว
ย้อนดูข้อตกลงจากเวทีเคลียร์ใจ
สำหรับการเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาหลังเกิดเหตุการณ์ยิง 3 ศพบนเขาอาปี ส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะเวนั้น มีการเปิดเวทีกันในหมู่บ้านของผู้สูญเสีย ช่วงปลายสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นเดือน ธ.ค.62 โดยใช้สถานที่โรงเรียนชุมชนสหพัฒนา ต.บองอ อ.ระแงะ
ครั้งนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชนและผู้นำในพื้นที่ และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองพูดกับชาวบ้านสรุปได้ว่า งานเยียวยาที่ทำปกติมี 2 เรื่อง คือ คดีความมั่นคงที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ มี 3 ฝ่ายรับรอง (ทหาร ตำรวจ ปกครอง) ถ้าเสียชีวิตจะต้องเยียวยา 500,000 บาท ได้รับบาดเจ็บสาหัสเยียวยา 50,000 บาท บาดเจ็บปานกลาง 30,000 บาท บาดเจ็บเล็กน้อย 20,000 บาท"
ส่วนเหตุการณ์ยิง 3 ศพ เป็นการเยียวยาที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบ ถ้าเสียชีวิตเป็นอำนาจของเลขาธิการ ศอ.บต. เยียวยา 500,000 บาท จากนั้นจะไปเข้าระเบียบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำเจ้าหน้าที่รัฐอันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบ คณะกรรมการชุดนี้มีรองนายกฯเป็นประธาน ปัจจุบันคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องใช้เวลาราวๆ 6 เดือน จ่ายได้ไม่เกิน 7,000,000 บาท
ตามระเบียบนี้จ่ายเยียวยารวมทั้งหมดไม่เกิน 7,500,000 บาท แต่ 500,000 บาทแรกจ่ายไปแล้ว ที่เหลือจ่ายอีกไม่เกิน 7,000,000 บาท แต่จะจ่ายเท่าไหร่ก็อยู่ที่ กพต. โดยจะพิจารณาว่าใครละเมิดมากกว่า ใครผิดมากกว่า ไปพิจารณากันว่าใครละเมิดกฎหมายมากกว่า แต่ได้ยินมาแว่วๆ ว่าจ่ายประมาณสูงสุด 3,800,000 บาท (อ่านประกอบ : เสนอเยียวยาเพิ่ม 3.8 ล้าน จบปมยิงชาวบ้าน 3 ศพบนเขาตะเว)
จากคำชี้แจงในส่วนนี้อาจทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตเข้าใจว่าจะต้องได้รับเงินเยียวยาเพิ่มพิเศษอีกจำนวนหนึ่ง คือไม่เกิน 7,000,000 บาท โดยระเบียบการจ่ายไม่เกิน 7,500,000 บาท สำหรับผู้ที่เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐนี้ ออกในสมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. แต่ภายหลังในรัฐบาล คสช. ได้มีการหารือเพื่อยกเลิกหรืองดใช้ระเบียบข้อนี้ เพราะมองว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป และอาจไม่ได้ยึดโยงกับระเบียบกฎหมายอื่นๆ แต่ กพต.ในยุคหลังที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็ไม่ได้มีการออกระเบียบใหม่อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
----------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากทีมประชาสัมพันธ์พรรคประชาชาติ หนึ่งในสามครอบครัวผู้เสียชีวิตเข้าร้องเรียนที่อาคารรัฐสภา