สิ่งที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของวันรายอในแง่อาหารการกินและการต้อนรับผู้มาเยือน คือ "ตูป๊ะ" หรือ "ข้าวต้มใบกะพ้อ"
ช่วงฮารีรายออิฎิ้ลฟิตรี หรือเทศกาลเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทบทุกบ้านจะทำ "ตูป๊ะ" เพื่อเตรียมไว้สำหรับรับประทานกันเองและแจกญาติมิตร ซึ่งถือเป็นอาหารเฉพาะฤดูกาล เพราะมีเฉพาะในช่วงฮารีรายอเท่านั้น
"ตูป๊ะ" หรือ "ตูปัต" คือข้าวต้มใบกะพ้อ มีลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด แต่นิยมห่อด้วยใบกะพ้อ หรือใบจาก ห่อเป็นรูปสามเหลี่ยม มักจะทำกันก่อนรายอ 1 วัน โดยนำใบกะพ้อซึ่งควรใช้ยอดจากใบที่ยังไม่กางมาสานเป็นลูก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีสามมุม จากนั้นนำข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำไปผัดกับน้ำกะทิ น้ำตาล เกลือ จะใส่ถั่วขาวหรือถั่วดำเพื่อความอร่อยยิ่งขึ้นก็ได้ แล้วก็นำมาห่อด้วยใบกะพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนึ่งจนสุก ก็จะเป็น "ตูป๊ะ" ที่เหนียวนุ่มละมุนลิ้น
ไม่เฉพาะ "ตูป๊ะ" เท่านั้นที่เป็นดั่งสัญลักษณ์วันรายอ แต่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา ยังมี "ปูโละลือแม" เป็นข้าวเหนียวที่ใช้รับประทานกันเฉพาะเทศกาลฮารีรายอเช่นกัน แต่มีเฉพาะที่เบตง
รอสนี แดเบาะ ชาวอำเภอเบตง เล่าว่า "ปูโละลือแม" ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเบตงอำเภอเดียวเท่านั้น โดยนำไม้ไผ่มาทำข้าวหลาม ไผ่ที่ใช้เป็นไผ่ท้องถิ่นที่มีเฉพาะใน อ.เบตง ซึ่งชาวมุสลิมมักจะเรียกว่า "ปูโละลือแม"
กระบอกไม้ไผ่ท้องถิ่นนี้มีขนาดข้อยาว ตัวเนื้อไม้บาง มีกลิ่นหอม และน้ำหนักเบา
สำหรับขั้นตอนในการทำปูโละลือแม มีความยุ่งยากพอสมควร เพราะต้องเข้าไปในป่า ขึ้นเขาไปหาไม้ไผ่ที่มีขนาดพอเหมาะ มีลำต้นตรง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร เพื่อนำกลับมาเลื่อยเป็นท่อน ท่อนละประมาณ 75-90 เซนติเมตร แล้วแต่จะชอบความยาวขนาดไหน จากนั้นก็นำมาทำความสะอาด แล้วหยอดใบตองที่ม้วนเป็นบ้องยาวเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ โดยไม่ให้ใบตองพับหรือบิดซ้อนกัน และต้องให้ใบตองแนบกับกระบอกไม้ไผ่ หากไม่แนบ เวลาย่างข้าวเหนียวจะติดกระบอกไม้ไผ่ ทำให้ผ่ายาก เพราะใบตองถือเป็นสูตรเด็ดเคล็ดลับที่ทำให้ข้าวหลามไม่ติดกระบอก ยิ่งกว่านั้นยังทำให้ข้าวเหนียวมัน เรียงเม็ดสวย มีกลิ่นหอม และปอกง่าย น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
ส่วนประกอบการทำข้าวหลาม มีเพียงข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำ กะทิสด เกลือ น้ำตาลทราย ถั่วดำ เพียงแค่นี้ก็สามารถนำมาทำข้าวหลามได้แล้ว โดยนำเครื่องปรุงทุกอย่างผสมให้เข้ากัน กะเกณฑ์ความหวานหรือเค็มมากน้อยแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน จากนั้นก็นำไปหยอดใส่ในกระบอกไม้ไผ่ที่มีม้วนใบตองรองอยู่ด้านใน แล้วนำไปเผา เมื่อข้าวหลามสุกแล้ว ก็นำมาผ่า แล้วหันเป็นชิ้นๆ จากนั้นนำมาจิ้มแกงไก่ แกงเนื้อ
หรือจะกินพร้อมน้ำชา "โกปี๊บือตง" หรือ "กาแฟโบราณเบตง" ก็จะเพิ่มอรรถรสความอร่อยมากยิ่งขึ้น
-------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ตระเวนชิม"ตูป๊ะ" บันทึกรายอปอซอที่ปลายขวาน