สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เผชิญวิกฤติหมอกควันไฟป่าจากประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ประชาชนรู้สึกแสบตา คัดจมูก และขับขี่ยานพาหนะลำบาก รบกวนทัศนวิสัย ขณะที่ราชการประกาศให้ประชาชนงดกิจกรรมกลางแจ้ง และใส่หน้ากาก N95
สภาพอากาศและสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ จ.ปัตตานี ถึงแม้ว่าจะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ท้องฟ้าทั่วทั้งจังหวัดยังถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน บดบังแสงแดดจนเป็นเหมือนเมืองในหมอก ในตัวเมืองตามท้องถนนมองเห็นหมอกควันด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในระยะใกล้ ส่งผลให้ประชาชนที่ต้องเดินทางสัญจรและใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้านรู้สึกแสบตาและคัดจมูก การขับขี่ยวดยานเป็นไปอย่างลำบาก โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ เพราะด้วยสภาพหมอกควันทำให้แสบตา
หน่วยงานราชการจังหวัดสามจังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต้องออกประกาศให้ประชาชนงดกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมใส่หน้ากาก N95 เมื่อออกนอกอาคารบ้านเรือน พร้อมเฝ้าระวังสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ส่วนผู้ที่ได้รับผลข้างเคียง ทั้งไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที และขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาในที่โล่งแจ้งทุกชนิด เพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันด้วย เนื่องจากขณะนี้ค่าความเข้นข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ยรายชั่วโมง หรือ PM 2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐาน และรุนแรงที่สุดในรอบ 3 ปี
ส่วนในเขต จ.ยะลา ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน ค่า PM 2.5 ทะลุเกินมาตรฐาน วัดค่าได้ 56 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เฉพาะที่ ต.สะเตง อ.เมืองยะลา สูงถึง 82 ไมโครกรัมฯ สูงสุดในภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้ทั้งเทศบาลนครยะลา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาออกประกาศแจ้งเตือนประชาชน พร้อมแจกจ่ายหน้ากากอนามัย โดยสามารถขอรับได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข เทศบาลนครยะลา
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เกิดจากทิศทางลมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้พัดพาเอาฝุ่นควันเข้ามา ขณะที่จุดความร้อน หรือ Hot spot บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียมีเพิ่มขึ้น กลายเป็นหมอกควันข้ามแดนกระจายไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย
"ขณะนี้ทิศทางลมทำให้หมอกควันแพร่กระจายในวงกว้าง จากเดิมมี 5 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ คือ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตอนนี้เพิ่ม จ.ตรัง และพัทลุง เข้ามาอีก และคาดการณ์ว่าหากกระแสลมยังเป็นเช่นนี้ มีโอกาสที่หมอกควันจะขยายต่อไปถึง จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี" นพ.สงกรานต์ กล่าว
ล่าสุดมีข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า สถานการณ์ไฟป่าและการจุดไฟเผาซังพืชผลหลังเก็บเกี่ยวยังคงร้ายแรง บางจังหวัดถึงขนาดท้องฟ้าแดงฉาน และอุณหภูมิพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับอันตรายของ PM 2.5 คืออนุภาคขนาดเล็กของฝุ่น มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร เส้นผมของคนเราที่ว่าเล็กแล้ว แต่ฝุ่นชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 20 เท่า เพราะฉะนั้นจึงสามารถสูดเข้าสู่ปอดและหลอดเลือดได้ง่ายมาก ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ และฝุ่นจากการก่อสร้าง รวมถึงกิจกรรมบางอย่างที่เราทำในชีวิตประจำวันก็มีส่วนสร้างฝุ่นละอองขึ้นมาได้เหมือนกัน เช่น การเผาขยะ ควันจากท่อไอเสีย หรือแม้กระทั่งควันบุหรี่
การป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 คือ สวมหน้ากากกันฝุ่นชนิดพิเศษ (N95) เมื่อต้องออกกลางแจ้ง เพราะหน้ากากอนามัยธรรมดาไม่เพียงพอ หากหาซื้อไม่ได้ สามารถใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดจมูกและปากแทนได้, หากเลี่ยงได้ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท, ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิดเมื่ออยู่ในบ้าน และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรอง HEPA เป็นอีกตัวช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ภายในห้องได้
ด้านสถานการณ์หมอกควันที่ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นอำเภอใต้สุดแดนสยาม เป็นเขตติดต่อกับ เปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ปรากฏว่าสภาพการณ์ยังไม่นิ่ง ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กขึ้นลงสลับกันไป เนื่องจากบางวันมีฝนตกลงมาช่วยชะล้าง แต่สภาพอากาศโดยรวมก็ยังไม่ดีนัก ทำให้ประชาชนเริ่มมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไอ หายใจลำบาก และเคืองตา
นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง กล่าวว่า ช่วงนี้ทางสาธารณสุขอำเภอได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นควันในเบื้องต้น แต่ประชาชนควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้านหรืออาคาร