ผลพวงจากคดีลอบวางระเบิดนับสิบจุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 1-2 ส.ค.62 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่เป็น "ทีมปฏิบัติการ" ล้วนมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น
ทำให้เกิดคำถามโยงไปถึงกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ซึ่งส่วนหนึ่งร่วมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอยู่กับรัฐบาลไทย ว่าเป็นการพยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อยกระดับการพูดคุยขึ้นเป็นการเจรจาหรือไม่
7 ส.ค.62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามเรื่องนี้ระหว่างเดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเปิดอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยย้ำชัดว่าเป็นคนละเรื่องกัน และยังยืนยันเป็นครั้งแรกว่าจะยังคงให้ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และสมาชิกวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขต่อไป
"เรื่องการสร้างสถานการณ์ กับการพูดคุยมันเป็นคนละประเด็น เพราะเรากำลังอยู่ในกระบวนการพูดคุย สาเหตุนั้นมีหลายอย่าง ประเทศไทยเราก็รู้ปัญหามันเยอะ ประเทศอื่นก็เหมือนกัน ประเทศที่เขาเจริญแล้วเขาก็มีปัญหา ซึ่งวันนี้คณะพูดคุยเขาก็ทำงานอยู่แล้ว นโยบายก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ต้องประสานกับรัฐบาลใหม่ และวันนี้ก็มีความคืบหน้า หลายอย่างก็กำลังขับเคลื่อน หลายอย่างก็ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งในการพูดคุยนั้นเป็นทางลับ เปิดเผยไม่ได้ และหัวหน้าคณะพูดคุยก็ยังเป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทีมงานทั้งหมดที่ยึดถือนโยบายลงไป เพราะนายกฯก็เป็นคนเดิม และผมก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย เพียงแต่ต้องไปปรับแก้บางอย่างให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง"
ก่อนหน้านี้มีข่าวเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้จาก พล.อ.อุดมชัย เป็นบุคคลอื่น เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยฯของรัฐบาลชุดใหม่ โดยมีชื่อ พล.อ.วัลลภ รักเสนา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นแคนดิเดต แต่ล่าสุดนายกฯยืนยันแล้วว่าหัวหน้าคณะพูดคุยฯยังคงเป็น พล.อ.อุดมชัย
จริงๆ แล้วกระแสการเปลี่ยนตัว พล.อ.อุดมชัย มีมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ พล.อ.อุดมชัย ได้รับการเสนอชื่อจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ให้ทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลายคนมองว่าสถานะการเป็น ส.ว.ไม่เหมาะกับการทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เพราะ ส.ว.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนคณะพูดคุยฯเป็นตัวแทนของฝ่ายบริหาร
พล.อ.อุดมชัย หรือ "บิ๊กเมา" เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเจ้าของผลงานเด่น "โครงการพาคนกลับบ้าน" ซึ่งเป็นการนำผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หลบหนีอยู่ในป่าเขาและในประเทศเพื่อนบ้าน ให้วางอาวุธ ออกมามอบตัว และกลับไปใช้ชีวิตในภูมิลำเนาเดิมของตน โดยภาครัฐจะอำนวยความยุติธรรมให้อย่างเต็มที่
พล.อ.อุดมชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ แทน พล.อ.อักษรา เกิดผล เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว (อ่านประกอบ : เปิดแนวคิด "บิ๊กเมา-อุดมชัย" ว่าที่หัวหน้าคณะพูดคุยดับไฟใต้คนใหม่) และได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการพูดคุยเป็นแบบ "ปิดลับ" มากขึ้น พร้อมประสานงานกับทางการมาเลเซียที่แต่งตั้ง "ผู้อำนวยความสะดวก" กระบวนการพูดคุยฯคนใหม่อย่างใกล้ชิดมากกว่าเดิม มีรายงานความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยฯเป็นระยะ
แต่ในทางเปิดกลับเผชิญปัญหาความขัดแย้งกับแกนนำกลุ่ม "มารา ปาตานี" องค์กรร่มของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 องค์กรที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยในรัฐบาล คสช. ถึงขั้นที่ นายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝั่ง มารา ปาตานี ตัดสินใจลาออกจากการทำหน้าที่ ส่งผลให้การพูดคุยหยุดชะงักไป (อ่านประกอบ : "สุกรี ฮารี" ไขก๊อกหัวหน้าคณะพูดคุยฯฝั่ง "มาราฯ" จับตารื้อสองฝ่าย) โดยฝ่ายมารา ปาตานี แสดงท่าทีว่าเป็นปัญหาของฝ่ายรัฐบาลไทย และกล่าวอ้างผ่านสื่อแขนงต่างๆ หลายครั้งว่า กระบวนการพูดคุยต้องหยุดชะงักลงเพราะฝ่ายรัฐบาล
แต่ในความเป็นจริงแล้ว คณะทำงานชุดเล็กของ พล.อ.อุดมชัย ยังคงเดินหน้าพบปะพูดคุยกับแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสมาชิกมารา ปาตานีเอง โดยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งแกนนำบางปีกของ มารา ปาตานี อ้างว่ากระบวนการพูดคุยฯหยุดชะงักนั้น แท้ที่จริงแล้วกระบวนการยังคงเดินหน้ามาเป็นลำดับ มีการเปิดวงพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ขณะที่การประสานงานกับ ตันสรี อับดุลราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยคนใหม่ที่ ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแต่งตั้งขึ้น ก็เป็นไปด้วยดี โดย ตันสรี ราฮิม เดินทางมาประเทศไทยหลายครั้งเพื่อหารือและรายงานความคืบหน้าการชักชวนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจาก "มารา ปาตานี" เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยฯ โดยเฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น
ตันสรี ราฮิม เดินทางเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการรอบล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย.62 และได้เข้าพบปะหารือกับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ หรือ "บิ๊กเดฟ" แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมเปิดวงรับฟังข้อมูลจากกลุ่มต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคมด้วย ก่อนจะเดินทางกลับไปทำงานต่อ จากนั้นก็ยังเดินทางมาไทยอย่างไม่เป็นทางการอีก 1-2 ครั้ง เพื่อหารือกับคณะทำงานของ พล.อ.อุดมชัย โดยล่าสุดมีข่าวดีว่า "โต๊ะพูดคุยฯรอบใหม่" น่าจะมีตัวแทนตัวจริงจากกลุ่มบีอาร์เอ็นเข้าร่วมด้วย