“ทุกตำนานมีคุณค่า ทุกภูมิปัญญามีพลัง เมื่อนำสตอรี่เหล่านี้มาพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ จะกลายเป็นสินค้าที่มีคุณค่าไม่รู้จบ”
นี่คือ “คีย์เวิร์ด” หรือ “ใจความสำคัญ” ที่ค้นพบจากการพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมยะลา ระยะที่ 2 ปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่มี อาจารย์มีนา ระเด่นอาหมัด เป็นหัวหน้าโครงการและผู้มีบทบาทขับเคลื่อนที่สำคัญ
โครงการวิจัยนี้มีชื่อว่า “การยกระดับงานคราฟท์ครัวเรือนยากจนด้วยนวัตกรรมกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากลวดลายอัตลักษณ์เชิงสร้างสรรค์ชายแดนใต้” โดยทีมงานได้ร่วมพัฒนาลวดลายอัตลักษณ์ของ อ.รามัน จ.ยะลา สู่สายตาผู้คนในทุกแพลตฟอร์ม
นิยามของ “งานคราฟท์” คือ งานศิลปะหรือหัตถกรรมที่ประยุกต์หรือสร้างสรรค์ขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ แตกต่าง สวยงาม ทรงคุณค่า และใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
อาจารย์มีนา รับผิดชอบพื้นที่ 2 ตำบล คือ ต.วังพญา และ ต.โกตาบารู
ในปีที่แล้วได้มีการออกแบบลายรวงข้าว และลายซุ้มประตูเมือง เนื่องจากวังพญาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเจ้าเมืองโกตาบารู จึงนำสตอรี่มาออกแบบเป็นลายรวงข้าว ส่วนลายซุ้มประตูเมือง เป็นลายโบราณ นำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋า ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
“ปีนี้ได้เพิ่มลูกเล่น โดยมีลายใหม่ เป็นลายผ้าปาเต๊ะ สตอรี่พรุลานควาย มีเรื่องของควายในลายผ้า ซึ่งเดิมเป็นกระเป๋าใบหนาม นำมาต่อยอด โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาสอนลายพรุลานควาย ทำเป็นของที่ระลึก ซองกุญแจ พวงกุญแจตุ๊กตาควาย ตัวผู้ชื่อ ‘น้องบัฟ’ ตัวเมียชื่อ ‘บัฟฟี่’ ตัวผู้มี 6 แบบ ตัวเมีย 6 แบบ ขายดีมาก ชาวบ้านคิดสตอรี่ว่า น้องบัฟตัวนี้หูหนวก กำลังหาคู่ เป็นจุดขายในแพกเกจ มีสตอรี่ข้างหลังที่ได้รับการตอบรับดีมาก”
“ส่วนของโกตาบารูมีลายอัตลักษณ์คือ ลายซุปไก่บ้าน ที่อร่อยเป็นอาหารเด็ด เป็นไก่ หัวหอม พริกและเครื่องปรุง กับลายโกตารามัย เป็นผ้าพิมพ์ ชื่อลายเป็นชื่อเดิมของเมืองรามัน เป็นเมืองที่มีความสนุกสนาน ในอดีตเจ้าเมืองจะจัดงานอีเวนท์ บันเทิง จัดมหรสพบ่อย”
“ผลิตภัณฑ์ของสองตำบลนี้เน้นขายเป็นชิ้น ปรับทำเป็นปลอกหมอน หมวก งานชิ้นเล็ก พวงกุญแจ ราคาหลักสิบ ขายได้ง่าย ขายวัยรุ่น และตามงานกิจกรรม สามารถได้เงินกลับมาเร็วที่สุด” อาจารย์มีนา เล่าถึงความเป็นมาของการผลิตงานคราฟท์ และการต่อยอดสู่ธุรกิจ นำมาสู่รายได้ระดับชุมชน
โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือ เวิร์คชอป จากผู้ประกอบการหลากหลายแบรนด์ เช่น แบรนด์ Sureeya สุริยา ซูละ ถ่ายทอดการตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากผ้ามัดย้อม อาทิ หมอน หมวก กระเป๋า เพิ่มมูลค่าชิ้นงานให้หลากหลาย จัดทำให้เพียงพอกับเดือน ธ.ค.ที่จะนำไปจำหน่ายในงานโอทอป ซิตี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
แต่การอบรมไม่ได้มีแค่การผลิตงานคราฟท์ แต่มีการพัฒนาทักษะอาชีพของสมาชิกในกลุ่ม ฝึกการสนทนากับลูกค้า และฝึกหน้างานจริงด้วย
ทั้งยังมีตัวแทน 4 ตำบลไปดูงานของพื้นที่อื่น เพื่อนำมาพัฒนางานของตัวเอง มีการจัดอบรมการถ่ายภาพในสตูดิโอ จัดวาง แสง เพื่อถ่ายภาพงานนำไปโพสต์ประชาสัมพันธ์หรือจำหน่าย เรียกว่าให้เรียนรู้ในทุกกระบวนการ รวมถึงงานขายออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม ทำเพจ หน้าปก ให้ไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อจบการอบรม ก็ประเดิมสู่หน้างานจริง...
“ผ่านมา 5 เดือน รายได้เข้ามาไม่เท่ากัน แล้วแต่อีเวนท์ อย่างไปร่วมงานปัตตานีดีโคตร ที่ปัตตานี ขายได้เป็นหมื่น พร้อมรับงานผลิตตามออเดอร์ เช่น ราชภัฏยะลาสั่งผลิตแจกช่วงปีใหม่ จำนวน 900 ชิ้น เป็นพวงกุญแจ กระจายงานเย็บไปทั้ง 4 ตำบล หรือกระเป๋าในงานอบรม สัมมนา จ้างผลิตครั้งละเป็นพันใบ” อาจารย์มีนา เล่า
ปัจจุบันได้ขยายผลต่อยอดงานกลุ่มของชาวบ้าน มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้ว 2 กลุ่ม สามารถสร้างรายได้ได้จริง ไม่ใช่แค่อบรมแล้วจบ มีงานเข้ามาตลอด ได้เปิดบัญชีกลุ่ม แบ่งหน้าที่กันทำ มีแกนนำ ฝ่ายบัญชี รับออเดอร์ ทุกครั้งที่ทำงานจะมีการจดบันทึก แบ่งค่าแรง บริหารจัดการกันในกลุ่ม จนกลุ่มแข็งแรงขึ้น โดยมีนักวิจัยดูอยู่ห่างๆ
“เมื่อนำเรื่องราวของพื้นที่มาพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ กลายเป็นสินค้าที่มีคุณค่าไม่รู้จบ และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้จริง” อาจารย์มีนา สรุป