“อิสลาม” ไม่ใช่แค่ศาสนาที่นับถือ แต่คือวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การแสวงบุญของพี่น้องที่นั่น เป็นทั้งความปรารถนา และความศรัทธา จึงเป็นการทั้งความเข้าถึงแก่นแห่งหลักธรรม (อ่านว่า “ทำ”) และพื้นฟูพัฒนาจิตใจ
การแสวงบุญที่พี่่น้องมุสลิมทั่วโลก รวมถึงไทย เดินทางไปที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียนั้น ไม่ได้มีเฉพาะการประกอบพิธีฮัจย์ ที่เรารู้จักกันดี แต่ยังมี “อุมเราะห์” ซึ่งบางคนเรียกว่า “ฮัจย์เล็ก” คือการแสวงบุญในลักษณะเยี่ยมบ้านของพระเจ้า หรือ “บัยตุลเลาะห์” ที่สามารถทำได้ทั้งปี ไม่กำหนดเฉพาะบางช่วงเวลา ปีละหนึ่งครั้ง เหมือนการไปทำฮัจย์
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เข้ามามีบทบาทสนับสนุนการแสวงบุญของพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ อำนวยความสะดวกและควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบพิธีให้มีความเป็นธรรม เรียบร้อย และดูแลให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ได้ไปแสวงบุญ ทั้งอุมเราะห์ และฮัจย์ เพื่อเยียวยาจิตใจ
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่ยังคงยืดเยื้อ การเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ ศอ.บต.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศอ.บต.เพิ่งพาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในภาคใต้ จำนวน 200 คน เดินทางไปประกอบพิธีอุมเราะห์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ได้ปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อเติมเต็มศรัทธาตามความเชื่อทางศาสนา และฟื้นฟูจิตใจ สร้างกำลังใจแก่ผู้ที่เคยผ่านผลกระทบจากความรุนแรงที่ตนเองไม่ได้ก่อ…จากปัญหาความไม่สงบ
นายนิพนธ์ ชายใหญ่ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. บอกว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ทุกศาสนามีโอกาสในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะพิธีฮัจย์และอุมเราะห์ที่เป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติสำคัญ 5 ประการในศาสนาอิสลาม
“การเดินทางไปยังดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามทุกคน ศอ.บต.และรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีโอกาสได้ไปปฏิบัติศาสนกิจทุกปี เมื่อกลับมาแล้วไม่ได้มุ่งหวังให้ตอบแทนสิ่งใดแก่ ศอ.บต. หรือรัฐบาล แต่มุ่งให้นำความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักศาสนามาเผยแผ่แก่ครอบครัว สังคม และชุมชน”
“นำหลักการของศาสนา คือ ‘สันติ’ ในการสร้างความสุข ความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญที่สุด การเดินทางไปประกอบพิธีอุมเราะห์ ทุกคนไปในนามคนไทย อยากให้ทุกคนนำความเป็นเอกลักษณ์อันสวยงามของประประเทศไทยไปเผยแผ่แก่ผู้ร่วมเดินทางด้วยกัน ตลอดจนชาวต่างประเทศ ให้รู้ว่าคนไทยคือคนดี” ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว
อีกด้านหนึ่ง...ผู้ที่เคยได้รับโอกาสเข้าร่วมพิธีฮัจย์เมื่อปี 2551 และได้ร่วมคณะไปทำอุมเราะห์อีกครั้งในปีนี้ นายอับดุลหาลีม ล่าเต๊ะ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา บอกว่า การได้มีโอกาสไปทำอุมเราะห์เปรียบเสมือนการเยียวยาจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ เมื่อกลับมาแล้วก็สามารถเป็นกระบอกเสียงในการสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงคนในชุมชนได้
กิจกรรมเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความใส่ใจและความจริงใจจากทางรัฐบาล และ ศอ.บต. ในการดูแลพี่น้องชาวไทยมุสลิมอย่างแท้จริง
โครงการนี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนอีกจำนวน 100 คนไปประกอบพิธีฮัจย์ในเดือนพฤษภาคม ปี 2568 ด้วย
“แน่นอนที่สุด โครงการแบบนี้เป็นการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างได้ผล เป็นขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อ สิ่งสำคัญที่สุด การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คนเหล่านี้จะเป็นปากเสียง เป็นกระบอกสำคัญที่จะบอกกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เราจะร่วมหาทางแก้ไข เราจะหาทางป้องกัน หรือจะทำอย่างไรให้เกิดความสันติขึ้นในพื้นที่ เชื่อว่าทุกคนที่ได้ไป จะนำสิ่งๆ ดีกลับมา และเกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิต”
“สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ได้มีโอกาสเดินทางในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางคนแขนขาขาด จึงมองเห็นถึงความจริงใจของรัฐบาล ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่น ทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้อยู่ในผืนแผ่นดินนี้ ได้อยู่ในประเทศไทยที่ ได้รับการให้ความสำคัญจากทางรัฐบาลและผู้ที่ดูแลพื้นที่ คือ ศอ.บต.”
“อยากบอกว่าโครงการนี้ดีมาก ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการดำเนินการเรื่องของฮัจย์ต่อไป” อับดุลหาลีม ตั้งความหวัง
นอกจากกิจกรรมแสวงบุญที่จัดให้กับพี่น้องมุสลิมแล้ว ในส่วนของพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธ ทาง ศอ.บต. ก็มีโครงการพาผู้ได้รับผลกระทบ และผู้ที่ได้รับเลือกจากชุมชน ไปศึกษาสังเวชนียสถานในประเทศอินเดียและเนปาล เพื่อให้พี่น้องพุทธได้ปฏิบัติธรรมในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของตน ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต.
การเยียวยาจิตใจ นอกเหนือจากตัวเงิน อาชีพ และโอกาสของการสร้างรายได้ ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจของทุกศาสนา จึงเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของ ศอ.บต. และรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหา ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อสร้างสันติสุขให้กับพื้นที่อย่างยั่งยืน