คณะทูตจาก 15 ชาติสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ที่จะลงพื้นที่เยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่วันนี้ (11 มิ.ย.) เป็นต้นไปนั้น
กิจกรรมหลักๆ ไม่ใช่แค่การเสริมสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์ในลักษณะรับฟังการบรรยายจากหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการพาคณะทูตลงพื้นที่สัมผัสวิถีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ผ่านของดีปลายด้ามขวาน ทั้งงานทำมือ งานจากแรงศรัทธาในศาสนา และอาหารที่ขึ้นชื่อของพี่น้องมลายู
หนึ่งในสถานที่ที่ทางคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมจะได้ไปเยี่ยมชม คือ วิสาหกิจชุมชน “ยาริง บาติก” ซึ่งเป็นกลุ่มทำผ้าบาติกที่ใช้ฝีมือในการวาดและเขียนลวดลายต่างๆ จากความคิด จินตนาการ หรือเอกลักษณ์วัฒนธรรมของพื้นถิ่น เช่น ป่า ต้นไม้ ดอกไม้ เรือกอและ เป็นต้น
ความโดดเด่นของวิสาหกิจชุมชน “ยาริง บาติก” คือ มีการพัฒนารูปแบบการทำผ้าบาติกให้มีความหลากหลาย ด้วยเทคนิคการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการพิมพ์ผ้าด้วยบล็อกไม้ ผสมผสานเทคนิคการแครกเทียน สะบัดเทียน โรยเกลือ ประกอบกับการนำลายผ้าพระราชทานมาประยุกต์ให้เกิดการพัฒนาลวดลายใหม่ๆ ที่สวยงาม ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดหลายระดับ
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ยาริง บาติก” ได้สกัดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น เปลือกไม้โกงกาง เปลือกตะเคียนทอง เปลือกมะพร้าว ดอกคำแสด ใบสาบเสือ ใบหูกวาง ใบมะม่วง ใบยูคาลิปตัส ฯลฯ แล้วนำมาแต้มลงบนผืนผ้าให้มีความสวยงามโดดเด่นไม่ซ้ำใคร และปลอดภัยต่อซื้อที่นำไปใช้
จุดเด่นหรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์กลุ่ม คือความโดดเด่นด้านเทคนิคการซ้อนลายผ้า มีการพัฒนารูปแบบลวดลายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น มีการนำวัตถุดิบธรรมชาติมาสกัดเป็นสีเพื่อใช้ในการย้อม ระบาย เพนท์ ทำให้ผ้าบาติกของกลุ่มมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและนอกประเทศ
@@ เยือนยี่งอ...ศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอานพันปี
อีกหนึ่งสถานที่ที่คณะทูตโอไอซีจะได้ไปเยียมชมเช่นกัน ก็คือ “พิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน” ตั้งอยู่ที่ บ้านศาลาลูกไก่ หมู่ 6 ต.ละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส
พิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีพื้นที่ 7 ไร่ 25 ตารางวา โดยในปี 2559 มูลนิธิพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งคัดด้วยลายมือ ได้ยินยอมให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมใช้ที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองของมูลนิธิฯ เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์
เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้เก็บรวบรวมและดูแลรักษาคัมภีร์อัลกุรอานโบราณไว้ประมาณ 70 เล่ม โดยคัมภีร์ดังกล่าวได้รับบริจาคมาจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี สเปน และเยเมน เป็นต้น
คัมภีร์ดังกล่าวเป็นเอกสารที่เขียนด้วยลายมือ มีอายุประมาณ 100 - 1,100 ปี โดยใช้น้ำหมึกสีดำเป็นภาษาอาหรับโบราณ ปกส่วนใหญ่หุ้มด้วยหนังสัตว์ บางหน้าตกแต่งลวดลายโดยใช้สี ประดับกรอบด้วยทองคำเปลว เขียนด้วยศิลปะลายมลายูนูซันตารา จีน และอาหรับ ผสมผสานกัน
ทุกภาคส่วนเล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของคัมภีร์เหล่านี้ ซึ่งถือเป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมอิสลาม จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมา
ภายในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการ ได้แก่ ห้องวิถีชีวิตมุสลิมและห้องจัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งมีการจัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ และวัตถุที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร
@@ เปิดเมนูต้อนรับคณะทูต ฝีมือ “เชฟแอลลี่ - กลุ่มลูกเหรียง”
อีกไฮไลต์สำคัญในการต้อนรับคณะทูตโอไอซี คือ อาหารที่จะเสิร์ฟขึ้นโต๊ะเพื่อเลี้ยงต้อนรับ ในช่วงค่ำของวันที่ 11 มิ.ย. ที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้
อาหารที่ได้รับเลือกให้เป็นเมนูจัดเลี้ยงครั้งสำคัญ ได้รับการรังสรรค์โดย “กลุ่มลูกเหรียง” หรือที่รู้จักกันในชื่อเป็นทางการว่า “สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้” โดยนำเสนอเอกลักษณ์อาหารพื้นถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่ เป็นเมนูต่างๆ ให้คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมได้ลิ้มลอง
อิสมาแอ ตอกอย หรือ “เชฟแอลลี่” ประจำครัวลูกเหรียง เล่มว่า เมนูที่เตรียมเสิร์ฟเป็นเมนูที่มีความโดดเด่น สะท้อนวัฒนธรรม ความผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อโชว์ความอุดมสมบูรณ์และเป็นการยกระดับอาหารในท้องถิ่นชายแดนใต้
โดยมีเมนูอาหารที่จะนำขึ้นโต๊ะเสิร์ฟ อาทิ สลัดผักพื้นบ้าน กินคู่กับน้ำสลัดปลากุเลา ซึ่งเลือกหยิบเอาผักต่างๆ เช่น ดอกดาหลา ใบบัวบก ผักกาดนกเขา ยอดผักกูด ใบมะกอก ผักน้ำ กินคู่กับน้ำสลัดปลากุเลาที่ใช้ปลากุเลาจากบางตาวา และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ของดีจังหวัดปัตตานี มาทำเป็นน้ำสลัด เพื่อให้เกิดความมัน คลุกเคล้ากับผักท้องถิ่นที่มีรสขม หวาน และฝาด เพิ่มอรรถรสในการรับประทาน
อีกหนึ่งเมนูที่แนะนำคือ “ซอเลาะ” เป็นการนำปลา 2 ชนิดคือ ปลาทู กับ เนื้อปลากราย มาเป็นซิกเนเจอร์ สอดไส้เนื้อปลากรายในปลาทู นำไปทอดและกินคู่กับอาจาด
และยังมี “เมนคอร์ส” เป็น “นาซิดาแฆ” ที่ใช้ข้าว 3 ชนิดมาเป็นนาซิดาแฆ มีข้าวสังข์หยดจากคอกกระบือของปะนาเระ ปัตตานี ข้าวมือลอของบุดี จ.ยะลา และข้าวเหนียวที่ชาวบ้านปลูก มาหุงกินคู่กับเนื้อย่างกอและจากนราธิวาส
เชฟแอลลี่ กล่าวว่า รู้สึกดีใจและประทับใจมากที่ได้รับคัดเลือกให้ทำเมนูอาหารต้อนรับคณะทูตโอไอซี งานนี้ไม่ได้เป็นความภูมิใจของเชฟคนเดียว แต่รวมไปถึงน้องๆ ทีมงานทุกคนที่รู้สึกตื่นเต้นประทับใจ ปกติคนภายนอกมองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะนึกถึงความรุนแรง ระเบิด เสียงปืน ดีใจมากที่เป็นส่วนหนึ่ง เป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่จะสะท้อนเรื่องราวดีๆ ที่อยู่ในพื้นที่ให้คนภายนอกได้เห็น
“ตื่นเต้นมากที่ได้นำวัฒนธรรมทางอาหารและความอร่อยไปเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติได้ลองชิม เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของพื้นที่ให้คนทั่วไปได้รู้จักมากยิ่งขึ้น”
สำหรับเมนูอาหารที่จะขึ้นโต๊ะเสิร์ฟให้คณะทูตประเทศมุสลิมได้ลิ้มลอง เริ่มจาก เวลคัม ดริงค์ เป็น “โซดาซ่าตาลโตนด” ตามด้วยอาหารเรียกน้ำย่อย หรือ Appetizer เป็น เมี่ยงลูกมุดหน้าปู, ซำบูซะไส้ปลาอินทรีย์, ตูปะซูตง
ส่วนเมนคอร์ส เป็นสลัดผักพื้นบ้าน ซอสปลากุเลาตานี, ต้มพริมพรำปลากะพง, นาซิดาแฆข้าวหุงสมุนไพร, เนื้อย่างกอและนราธิวาส และของหวาน ได้แก่ หวานเย็นโตนดตานีทรงเครื่อง และกล้วยหินบางลางทอด