9 นักกิจกรรมจัดงานรวมพลแต่งชุดมลายู เข้าพบตำรวจ สภ.สายบุรี ปัตตานี รับทราบข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่น” บอกงงถูกฟ้อง ทั้งที่ขออนุญาตเจ้าหน้าที่แล้ว ด้าน กอ.รมน.แจงหมายเรียกรับทราบข้อหา ไม่เกี่ยวปมแต่งกายตามอัตลักษณ์ แต่พบกิจกรรมแอบแฝงปลุกระดม แถมธงบีอาร์เอ็นสะบัดในพื้นที่จัดงาน
วันอังคารที่ 9 ม.ค.66 นักกิจกรรม 9 คน ประกอบด้วย นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ, นายฮาซัน ยามาดีบุ, นายสอบูรี สาอิ, นายมาหมูด บือซา, นายมะยุ เจ๊ะนะ, นายอานัส ดือเระ, นายซัมบรี ตาลี, นายซูกิฟลี กาแม เเละ นายซาลา ฮูดดีน ซึ่งร่วมกันจัดกิจกรรมแต่งกายในชุดมลายู ในงานฉลองวันฮารีรายอ เมื่อเดือน พ.ค.65 ในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ได้เดินทางไปยัง สภ.สายบุรี ตามหมายเรียกของตำรวจ
โดยทั้งหมดแต่งกายด้วยชุดมลายู และใช้เทปกาวปิดปาก เพื่อเเสดงสัญลักษณ์ว่า การออกหมายเรียกเเละดำเนินคดีครั้งนี้ เพื่อต้องการปิดปากนักกิจกรรม พร้อมชูป้าย “we are malayu”
สำหรับข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ระบุข้อหา “ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือกระทำเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, อั้งยี่ ซ่องโจรฯ”
โดยข้อหาหลักเป็นข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
@@ ขอแล้วยังโดน? เตือนน้ำผึ้งหยดเดียว
นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ หนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกออกหมายเรียก กล่าวว่า งงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะก่อนจัดงานได้พูดคุยกับทาง กอ.รมน.ภาค 4 หลายครั้ง เเละได้รับอนุญาตเเล้ว เเต่หน่วยงานด้านความมั่นคงกลับฟ้องตามหลัง โดยบางคนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเลย ซึ่งการกระทำครั้งนี้ ก็เหมือนการปิดปากนักกิจกรรม และยืนยันจะเสนอขอจัดงานนี้อีกในปีต่อไป
ขณะที่ นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความ กล่าวว่า รัฐต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ความผิด ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่มีประโยชน์ หากรัฐต้องการเพียงฟ้องปิดปาก ก็เท่ากับเป็นการทำลายการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กลุ่มเยาวชนเเละกลุ่มผู้คิดต่าง ส่วนกรณีนี้จะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหรือไม่ เห็นว่ารัฐก็ควรตระหนักให้มาก เพราะเยาวชนเหล่านี้ก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตต่อไป
@@ กอ.รมน.แจงไม่เคยห้ามแต่งชุดมลายู - ดำเนินคดีปมปลุกปั่น
วันเดียวกัน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ออกคำแถลงชี้แจงว่า การออกหมายเรียกในคดีดังกล่าวนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการแต่งกายด้วยชุดมลายู เพราะการแต่งกายชุดมลายู ถือเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่การออกหมายเรียกกรณีการรวมกลุ่มของนักจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 4 และ 10 พ.ค.65 ซึ่งกลุ่มเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมชุมนุมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ภายใต้หัวข้อ “เยาวชน คือ ความหวังแห่งสันติภาพ” ณ หาดวาสุกรี เขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี นั้น เนื่องจากมีกิจกรรมแอบแฝง และมีธงของขบวนการบีอาร์เอ็น ปรากฏอยู่ในกิจกรรม
รวมทั้งมีการปลุกปั่นยุยงผ่านบทกวี ที่มีการแสดงออก สื่อความหมายได้ว่า เป็นถ้อยคำปลุกระดมให้กลุ่มเยาวชนยอมสละชีวิตต่อสู้เพื่อชาติมลายู เป้าหมาย คือ แยกออกเป็นประเทศเดียวหรือประชาชาติเดียว ให้กลุ่มเยาวชนต่อสู้ ชูธงปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง อันเป็นการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเอกราช ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าว จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการแต่งกายชุดมลายู ขออย่ามีการบิดเบือนข้อมูลใดๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง และทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง
@@ แม่ทัพ 4 ยันหนุนแสดงออกทางอัตลักษณ์
ขณะที่ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวยืนยันว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้สนับสนุนและส่งเสริมความงดงามของวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา อาหาร และการแต่งกายที่สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการสืบสานวัฒนธรรม และถือเป็นอัตลักษณ์ที่งดงาม อันเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วนของแม่ทัพภาคที่ 4 ทุกท่านที่ผ่านมาโดยตลอด