อุทกภัยชายแดนใต้คลี่คลาย โรงเรียน 168 แห่งในยะลาเริ่มทยอยเปิดการเรียนการสอน ส่วนที่บันนังสตา ทหารช่างติดตั้งสะพานแบริ่ง หลังสะพานเข้า-ออกหมู่บ้านบายิถูกน้ำป่าเซาะพัง ด้านนักศึกษา ม.นราธิวาสฯ ออกหน่วยบริการซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ถูกน้ำท่วมเสียหาย
วันอังคารที่ 2 ม.ค.67 หลังสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดชายแดยภาคใต้หลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดยะลา ได้สรุปข้อมูลสถานการณ์อุทกภัย ณ วันที่ 1 ม.ค.67 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ (ยกเว้น อ.เบตง) 52 ตำบล 300 หมู่บ้าน 24 ชุมชน ได้รับผลกระทบ 21,185 ครัวเรือน จำนวน 80,710 คน เสียชีวิต 4 ราย บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 25 หลัง บางส่วน 60 หลัง
ส่วนพื้นที่ทางการเกษตร 8,112 ไร่ ประมง 66.615 ไร่ (กระชัง) 2,175 ตารางเมตร ปศุสัตว์ 296,268 ตัว ถนน 18 สาย คอสะพาน 5 แห่ง เสาไฟฟ้า 55 ต้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 11 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง มัสยิด 68 แห่ง วัด 5 แห่ง ศาลเจ้า 3 แห่ง และสถานศึกษาปิดการเรียนการสอน ช่วงวันที่ 25-28 ธ.ค.66 จำนวน 168 แห่ง
@@ โรงเรียนยะลา 168 แห่งทยอยเปิด
หลังสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ยะลา เริ่มคลี่คลาย ล่าสุดโรงเรียนทั้ง 168 แห่งที่ปิดการเรียนการสอนเนื่องจากน้ำท่วม ได้เริ่มทยอยกลับมาเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติอีกครั้ง
อย่างที่โรงเรียนบ้านลิมุด (บุญชอบ สาครินทร์) หมู่ 3 บ้านลิมุด อ.เมืองยะลา ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 1 ถือว่าน้ำท่วมหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา และในช่วงน้ำท่วมได้ใช้ห้องเรียนชั้นที่สองของอาคารเป็นที่พักอาศัยของผู้ประสบภัยชั่วคราวจำนวน 30 ครอบครัว
นางกชกร แท่นรัตน์ ผอ.โรงเรียนบ้านลิมุด กล่างว่า หลังน้ำลดได้มีหน่วยงานต่างๆ มาช่วยครูทำความสะอาดโรงเรียนเมื่อวันที่ 29-30 ธ.ค.66 ส่วนนักเรียนทั้ง 119 คนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทางโรงเรียนรักและห่วงใยนักเรียนทุกคน ก็ได้จัดถุงยังชีพไปแจกให้กับนักเรียนเรียบร้อยแล้ว
“ในวันนี้เป็นการเปิดเรียนวันแรกรับปีใหม่ นักเรียนอาจจะมาน้อย แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่โรงเรียนก็จะเร่งจัดการเรียนการสอนให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว ทางโรงเรียนขอขอบคุณบุคคล หน่วยงานต่างๆ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำความสะอาดช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้” ผอ.โรงเรียน กล่าว
@@ ทหารช่างติดตั้งสะพานแบริ่ง ช่วยชาวบ้านบันนังสตา
จากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นเหตุให้น้ำป่าไหลหลากกัดเซาะสะพานข้ามคลองบายิ ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกหลักของหมู่บ้านบายิ หมู่ 4 ต.ตลิ่งชัน พังเสียหาย เป็นระยะทาง 15 เมตร ทำให้ชาวบ้าน 200 ครัวเรือนกว่า 900 คน ไม่สามารถสัญจรไปมาได้นั้น
ล่าสุดทางศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองพลทหารราบที่ 15 พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ได้มอบหมายให้ พ.ท.ศุภฤกษ์ ชื่นจิต ผบ.กองพันทหารช่างที่ 15 พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ นำรถสะพาน Modular Fast Bridge (MFB) สะพานแบริ่ง จำนวน 1 คัน ลงพื้นที่ติดตั้งสะพานแบริ่งชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
@@ อบต.ยะรม นำของบริจาคมอบผู้ประสบภัยรามัน
วันเดียวกัน ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ เหมกุสุมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ยะรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อบต.ยะรม และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ต.ยะรม ได้นำสิ่งของอุปโภคบริโภคที่ได้รับบริจาคจากพี่น้องใน ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา หลังจากเปิดจุดกางเต็นท์รับบริจาคสิ่งของ ข้าวสารอาหารแห้ง เมื่อวันที่ 30-31 ธ.ค.66 นำไปมอบให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ ต.อาซ่อง ต.บาลอ และ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา
ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ กล่าวว่า แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ปลายน้ำ ส่งผลกระทบกับชาวบ้านอยู่ โดยเฉพาะการดำรงชีพ การได้รับความเสียหายในการประกอบอาชีพ และที่อยู่อาศัย ทาง อบต.ยะรม และผู้นำชุมชนผู้นำศาสนา ต.ยะรม จึงได้นำสิ่งของบริจาค เงิน และถุงยังชีพไปมอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย
อีกด้าน นายวิรัต แซ่ตัน นายก อบต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง พร้อมด้วย นายอาซัน บาเฮาะ รองนายก อบต. งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสมาชิก อบต. ลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยจากเหตุอุทกภัย น้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ ในพื้นที่ชุมชนบ้านบ่อน้ำร้อน หมู่ 2 และชุมชนบ้านมาลาเหนือ หมู่ 9 เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
@@ นักศึกษา มนร.ตบเท้าช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วม
ที่วัดลำภู ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ มนร.ห่วงใย วิชาชีพร่วมใจฟื้นฟูชาวนราธิวาส นำคณะครู อาจารย์ นักศึกษา มนร. ลงพื้นที่ซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม โดยมีประชาชนนนำอุปกรณ์และสิ่งของเครื่องใช้ที่เสียหายมาให้ซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก
ผศ.ดร.ปรีชา กล่าวว่า ทาง มนร.ให้ความสำคัญเรื่องของการจัดการศึกษาในเชิงวิชาชีพ จึงถือโอกาสให้นักศึกษาได้บริการพี่น้องประชาชนจากอุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้หลายคณะด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และในส่วนของคณะแพทย์ศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ก็ยังมาให้บริการในด้านสุขภาพ ในเรื่องของการตรวจเช็คสภาพจิตใจและสุขภาพเบื้องต้น เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย ไม่ซ้ำเติมพี่น้องที่เดือดร้อนจากอุทกภัย