ชาวบ้านจาหนัน จ.ยะลา พลิกวิกฤตฝนตกน้ำหลาก ออกมายกยอจับปลาในคลองประตูระบายน้ำ เหลือกินแบ่งขายสร้างรายได้เสริม ด้านผู้ว่าฯเมืองใต้สุดแดนสยาม สั่งทุกหน่วยเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย
วันจันทร์ที่ 20 พ.ย.66 จากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิถีชีวิตของชาวบ้านจาหนัน ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา แต่ละครอบครัวก็ไม่รอช้า พลิกวิกฤตเป็นโอกาส นำ “ยอ” (เครื่องมือจับสัตว์น้ำ) พร้อมถุง หรือกระสอบ ไปจับปลากันที่บริเวณคลองประตูระบายน้ำโครงการระบบระบายน้ำ ต.พร่อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ริมถนนสายทางลัด ลำใหม่-ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา
เนื่องจากช่วงฝนตกทุกวันทำให้มวลน้ำได้พัดพาปลาน้ำจืด ทั้งปลาลามะ ปลาตะเพียน และลูกปลาต่างๆ จำนวนมากลงมาในคลองประตูระบายน้ำ ทำให้ชาวบ้านได้อาศัยช่วงจังหวะนี้นำยอออกมาจับปลากันอย่างคึกคัก
ชาวบ้านในพื้นที่บ้านจาหนัน บอกว่า คนที่นี่จะรู้ว่าช่วงไหนที่มีฝนตกต่อเนื่องหลายๆ วัน ก็จะมานั่งยกยอจับปลากัน แบ่งพื้นที่กันเป็นจุดๆ บางคนก็มาตั้งแต่ตอนเช้า พอเที่ยงก็ไปกินข้าวแล้วกลับมานั่งกันใหม่ บางคนโชคดีหน่อยยกยอลงในน้ำไม่นานก็ได้ ปลาติดมา 2-3 ตัว บ้างก็จะได้แค่ตัวเดียว ถ้ายกแล้วปลาไม่ติดก็นำยอลงไปวางใหม่ นั่งกันแบบนี้ทั้งวัน ได้มากบ้างน้อยบ้าง
“ส่วนใหญ่ปลาที่ได้จะเป็นปลาลามะ โดยจะนำไปทำเป็นปลาส้ม เอาไว้รับประทานกันในครอบครัว ถ้าได้ปลามากหน่อย เหลือก็จะนำไปใส่ถุง วางขายเป็นถุงๆ ถุงละ 20-40 บาท สร้างรายได้ให้ครอบครัว” ชาวบ้านจาหนัน เล่า
นอกจากนี้ยังมีพ่อค้า แม่ค้า นำปลาส้มจากในพื้นที่ที่ชาวบ้านหามา รวมทั้งปลาสดๆ จากพื้นที่อื่น อย่างบ้านสันติ ที่เขื่อนบางลาง วางขายบริเวณริมถนนใกล้คลองประตูระบายน้ำ ทำให้มีรายได้จากการค้าขายเพิ่มไปด้วย
@@ ผู้ว่าฯ ยะลา สั่งเตรียมพร้อมเฝ้าระวังอุทกภัย
หลังกรมอุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประกาศเตือนเรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างโดยเฉพาะที่บริเวณ จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จนถึงวันที่ 23 พ.ย.66 นั้น
ล่าสุด วันจันทร์ที่ 20 พ.ย.66 บรรยากาศในหลายพื้นที่ของจังหวัดยะลายังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางศูนย์เฝ้าระวังและป้องกันสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดยะลา ได้รายงานว่า สถานการณ์ฝนและระดับน้ำโดยรวมในพื้นที่จังหวัดยะลายังไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด
ด้านนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้สั่งการให้ทุกหน่วยในพื้นที่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม บริเวณ อ.เบตง อ.ธารโต อ.บันนังสตา อ.กาบัง อ.กรงปินัง และ อ.ยะหา พร้อมให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ในพื้นที่ อ.เมืองยะลา อ.รามัน และ อ.ยะหา
โดยให้มีการประสานบูรณาการหน่วยงานพลเรือน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา ภาคเอกชน เพื่อเตรียมพร้อมทรัพยากร เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้มีพร้อมในการออกให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง