คนนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ น้อยคนที่จะทราบว่า อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส มีผลไม้ยอดฮิตตลอดกาลของคนท้องถิ่น คือ “ทุเรียน”
แต่ “ทุเรียนเจาะไอร้อง” เป็นสายพันธุ์พื้นเมือง แตกต่างจากสายพันธุ์โด่งดังในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ลักษณะผลค่อนข้างกลม มีทั้งหนามสั้นและหนามยาว
“ทุเรียนเจาะไอร้อง” แม้เนื้อจะน้อย แต่ก็มีรสชาติหวานในแบบที่คนใต้ชื่นชอบ ถือว่าหากินได้ยากมาก เพราะมีช่วงให้ผลแค่ 3 เดือนในแต่ละปี คือช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม
เมื่อผลสุกคาต้น ลูกทุเรียนจะหล่นลงมา ทำให้ชาวบ้านไม่นิยมขายผลสดแบบทุเรียนที่อื่นๆ แต่จะมักนำไปกวนไว้ทานและขายตลอดทั้งปี
ชาวเจาะไอร้องส่วนใหญ่นิยมแปรรูปทุเรียนพื้นบ้านเป็น “ทุเรียนกวน” ที่ผ่านมามีการพัฒนาขยับขยายเป็นกลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปทุเรียนกวน เพื่อเพิ่มโอกาสและตลาดรองรับผลผลิต แต่ก็มาประสบปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.โตมร นุ่นแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้แถลงผลการดำเนินงานวิจัย โครงการพัฒนาตัวแบบเชิงธุรกิจและยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนแบบครบวงจร เพื่อสร้างนวัตกรรมการผลิตและการตลาด พร้อมยกระดับสู่แผนยุทธศาสตร์จังหวัด
โดยโครงการวิจัยทั้งหมดมี 5 โครงการย่อย ประกอบด้วย
1.การพัฒนาเชิงธุรกิจ
2.กระบวนการผลิต
3.กระบวนการการตลาด
4.การประเมิน
5.ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อผลักดันเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์จังหวัด
ผศ.ดร.โตมร เล่าว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปทุเรียนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดจำหน่ายลดลง ไม่สามารถจัดแสดงสินค้าได้ ส่งผลต่อเนื่องให้รายได้ลด ทีมวิจัยเข้าไปศึกษา และหาทางแก้ไข โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้รับความนิยม คือ ไอศกรีมทุเรียน ทองม้วนทุุเรียน และคุกกี้ทุเรียน ส่วนทุเรียนกวนที่มีอยู่เดิม ก็ได้ศึกษาเพื่อยืดอายุให้สามารถเก็บได้นานขึ้น พร้อมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในสไตล์ของคนรุ่นใหม่
สำหรับกระบวนการแปรรูปทุเรียนกวน จะนำทุเรียนที่มีน้ำหนักลูกละประมาณ 1-2.5 กิโลกรัม ซึ่งหล่นจากต้นช่วงเดือน ก.ค.ถึง ก.ย. นำมาแกะเนื้อ ได้วันละ 100-200 กิโลกรัม แยกใส่ถุงพลาสติกที่ได้มาตรฐานปลอดภัย นำไปแช่ไว้ในห้องเย็น
จากนั้นก็จะทยอยนำทุเรียนที่แช่เย็นออกมาวันละไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม พักทิ้งไว้ให้คลายความเย็น แล้วค่อยนำลงไปกวนในกระทะ แบ่งครั้งละประมาณ 15 กิโลกรัม แล้วก็ใส่น้ำตาลทรายลงไปประมาณ 5% ของน้ำหนักทุเรียนที่กวน
เหตุผลที่ต้องใส่น้ำตาลทรายทั้งๆ ที่ทุเรียนมีความหวานอยู่แล้ว เพราะทุเรียนแต่ละลูกมีค่าความหวานไม่เท่ากัน การใส่น้ำตาลจะช่วยรักษาระดับความหวานให้คงที่ นอกจากนั้นน้ำตาลทรายจะช่วยยืดอายุทุเรียนกวนให้อยู่ได้นานกว่าปกติ ซึ่งเป็นข้อดีของผลิตภัณฑ์สำหรับการขายทางออนไลน์
สำหรับผู้ที่สนใจต้องการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์คุกกี้เนื้อทุเรียนโบราณ ที่มีความกรอบนอกนุ่มใน, ทองม้วนเนื้อทุเรียนโบราณ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ทุเรียนกวนแบบเนื้อล้วนๆ ที่มีรสชาติอร่อย หวาน หอม สะอาด ปลอดภัย เกิดจากฝีมือของชาวบ้าน สามารถสั่งซื้อได้ผ่านเฟซบุ๊ก “ทุเรียนกวนเจาะไอร้อง”
ตอบรับกระแสซอฟต์พาวเวอร์ที่กำลังผลักดันกันทั้งประเทศในช่วงนี้จริงๆ!