เนื่องในวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี
เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (N-WAVE) จัดกิจกรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550
ในปี 2566 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม รวมทั้งองค์กรสตรีทั่วโลกได้จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเชิญชวนให้ทุกฝ่ายได้แสดงเจตนารมณ์ในการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว และร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงซ้ำ ส่งเสริมให้มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถและมีส่วนร่วมในการพัฒนาแก้ไขปัญหาของชุมชน สังคม
19 ปีที่ผ่านมาของสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อเด็กและสตรีทั้งโดยตรงและทางอ้อม มีเด็กกำพร้า หญิงหม้ายจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว และเผชิญปัญหายาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ปัญหาการศึกษา สุขภาพ ความยากจน ภัยคุกคามทางเพศ การไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย
กิจกรรมถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพขององค์กรสตรีและจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ จัดโดย N-WAVE และภาคีเครือ ระหว่างวันที่ 10-12 พ.ย.66 ณ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ได้รับเกียรติจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในการปิดกิจกรรม
@@ ห่วงรุนแรงเชิงโครงสร้าง บังคับแต่งงานตั้งแต่เด็ก
พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งว่า “ความรุนแรงบางอย่างเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างในครอบครัว เชิงการเลือกปฏิบัติ ภารกิจส่วนหนึ่งของกระทรวงยุติธรรม จะจัดให้ยุติธรรมจังหวัด ยุติธรรมชุมชน ทำงานร่วมกับสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ เครือข่ายสตรี ในการยุติความรุนแรงในพื้นที่
ความรุนแรงหนึ่งคือ การแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี ถือว่าเป็นความรุนแรงต่อสตรี เพราะยังเป็นเด็ก ทำให้การพัฒนาการศึกษาไม่เต็มที่ พบว่าสตรีในภาคใต้มีการแต่งงานในช่วงก่อนอายุ 18 ปี ระหว่างอายุ 15-18 ปีเยอะมาก โดยเฉพาะในสตูล จึงต้องให้ความรู้อีกมาก
วันนี้สตรีต้องมีส่วนในการสร้างสันติภาพ เปิดพื้นที่ให้สตรีเข้ามามีบทบาทในกระทรวงยุติธรรม ความรุนแรงส่วนหนึ่งมาจากยาเสพติดที่เอาลูกหลานของผู้หญิงไปติดยาเสพติด ต้องร่วมกันแก้ปัญหายาเสพติด เป็นภารกิจของกระทรวงยุติธรรม ต้องทำร่วมกับเครือข่ายสตรี”
@@ ถอดบทเรียน 9 ข้อ เสริมศักยภาพศูนย์ดูแลสตรี
ภายในงาน อาสาสมัครสตรีแต่ละจังหวัดได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี” ขึ้น โดยการสนับสนุนด้านพื้นที่และการบูรณาการการทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และมีศูนย์บริการให้คำปรึกษาในระดับชุมชน จำนวน 24 ศูนย์
สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย มีบทบาทหลักในการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร ในด้านความรู้และทักษะการปฏิบัติงาน เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการและการเป็นพี่เลี้ยงในการทำงานผ่านการประชุมหารือ (Case conference) สำหรับกรณีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน
จากการถอดบทเรียนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สรุปประเด็นสำคัญที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อไปในอนาคต ดังนี้
1.ควรมีการจัดตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในจังหวัดที่มีจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก เช่น สตูล สงขลา กระบี่ เป็นต้น เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองปัญหา และเข้าถึงการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าและเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างทันท่วงที และส่งต่อจากชุมชนสู่ระบบบริการที่เป็นทางการ
2.พัฒนาศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี ในฐานะกลไกระดับจังหวัดและชุมชน ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การป้องกัน และการฟื้นฟูเยียวยาทางจิตใจผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาว
3.หน่วยงานรัฐควรพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัครสตรี ด้วยความรู้ ทักษะ จรรยาบรรณในการทำงานกับผู้หญิง เด็ก และผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางอย่างต่อเนื่อง
4.มีการพัฒนาหลักสูตรการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปีและเป็นระบบ เช่น หลักสูตรอบรมการเตรียมความพร้อมก่อนการแต่งงาน การเตรียมตัวก่อนการหย่า การดูแลบุตรภายหลังการหย่า และการเสริมพลังสตรีภายหลังการหย่า เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นอิสระและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
5.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในชายแดนใต้ควรมีการเชื่อมต่อกับศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีระดับจังหวัดและชุมชน ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และให้ความช่วยเหลือด้านสถานพักพิง บ้านพักฉุกเฉิน เพื่อให้บริการแก่ผู้หญิง บุตร กรณีที่พบกับปัญหาความรุนแรงและต้องหนีจากการถูกคุกคามหรือทำร้ายจากฝ่ายชาย
6.ขยายผลการใช้มาตรการทางกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถิติผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจำนวนมาก และทุกจังหวัดควรกำหนดนโยบายพัฒนาความรู้ ทักษะของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเต็มที่
7.มีการลงทุนด้านการศึกษาและการฝึกอบรมด้านอาชีพแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กำหนดเป็นนโยบายส่งเสริมอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ผู้หญิงเห็นทางเลือกและทางออกในการจัดการปัญหาของตนและครอบครัว สามารถในการพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
8.ส่งเสริมให้ผู้นำศาสนาทั้งในระดับตำบลและจังหวัดมีความรู้ความเข้าใจในการทำงานกับประเด็นความรุนแรงในครอบครัว พัฒนาบทบาทเป็นผู้นำในการไกล่เกลี่ย การจัดการความขัดแย้งในครอบครัว โดยใช้หลักการของศาสนาอิสลามเป็นแนวทางนำในการจัดการปัญหา
9.สร้างกลไกสหวิชาชีพในระดับจังหวัดและชุมชน ในประเด็นสุขภาพ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม บริการสวัสดิการสังคม เป็นกลไกเชิงบูรณาการข้ามกระทรวง และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ประสบปัญหาความรุนแรง
@@ ชงตั้งกองทุนยุติความรุนแรงต่อเด็ก-สตรี
รอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่าย N-WAVE เป็นตัวแทนประกาศเจตนารมณ์เพื่อพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิ์ให้กับเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว และชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ จัดตั้งกองทุนยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เพื่อช่วยเหลือแม่เลี้ยงเดี่ยว บุตรที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งการดำเนินฟ้องร้องคดีเพื่อเข้าถึงความยุติธรรม ทุนการศึกษา ทุนอาชีพ เพื่อให้ผู้หญิงมีทางเลือกและทางออกในการจัดการปัญหาของตนและครอบครัว
“ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนจะต้องผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อร่วมกันยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อให้เด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี และขอเชิญชวนให้ทุกคนได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน”
“ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ หยุดซ้ำเติม ไม่นิ่งเฉย สร้างพื้นที่ปลอดภัย เสริมพลังสตรี สานสันติสุข ชายแดนใต้” รอซิดะห์ กล่าว