“ขอแค่เปิดใจ...ให้โอกาสตัวเองได้รับฟังสักนิด แล้วโอกาสดีๆ จะเกิดขึ้นกับครอบครัวเรา สามารถใช้ชีวิตปกติสุขได้เหมือนคนอื่นทั่วไป”
เป็นคำพูดที่วาดฝันถึงเป้าหมายความสงบสุขในชีวิตของ นายยู อดีตผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่ต้องการสื่อสารไปถึงเพื่อนๆ ในขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
ปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกโครงการ “สานใจสู่สันติ” โดยชื่อ “ยู” เป็นนามสมมติที่เขาขอไม่เปิดเผยชื่อจริง เพราะต้องการลืมอดีตให้หมด
นายยู วัย 43 ปี ตัดสินใจเข้าร่วมและผ่านกระบวนการอบรมปรับทัศนคติ “หลักสูตรประชาร่วมใจทำความดีเพื่อแผ่นดิน” ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการสร้างความเข้าใจกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และยังเป็นประธานศูนย์ประชาชนพันธุ์ดีเลี้ยงไก่กระดูกดำ เป็นศูนย์ผลิตหลักในพื้นที่เพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมาย พี่น้องประชาชน และโรงเรียนในพื้นที่ที่มีความสนใจ ทำให้มีรายได้เสริม และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
นายยู เล่าเรื่องราวในอดีตของของตนเองว่า ได้ร่วมขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จริง ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง (ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 โดยทำหน้าที่ฝ่ายมวลชน คอยเล่าประวัติศาสตร์ให้เยาวชนในรุ่นเดียวกันได้ฟัง
การเล่าประวัติศาสตร์จะมีการยกตัวอย่างการสร้างความเจ็บปวดของคนสยามต่อพี่น้องชาวมลายู และมีการชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการ
การเข้าร่วมขบวนการ มีหลายระดับ หลายหน้าที่ หลายบทบาท อย่างตัวเขาเองทำงานในลักษณะเผยแพร่แนวความคิดความเชื่อ
กระทั่งปี 2549 เขาโดนหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทีแรกเข้าใจว่าสาเหตุเพราะอ่านคุตบะฮ์วันศุกร์ ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องอะไร จนกระทั่งมาเกิดเหตุยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้าน ทหารมาที่บ้าน จับตัวน้องชายและหลานรวม 3 คน ทำให้ตัวนายยูต้องหนีไปอยู่บ้านญาติที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
เขาบอกถึงสาเหตุที่ทำให้ถูกหมาย พ.ร.ก.เอาไว้อย่างน่าสนใจ
“เรื่องในบ้านเรา นอกจากเรื่องของความคิดที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีเรื่องของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และเรื่องยาเสพติด ตอนที่อยู่บ้านก็มีปัญหากับผู้นำในหมู่บ้านด้วย เขาเลยประกาศว่าจะจับส่งเจ้าหน้าที่ให้หมดทั้งตระกูล เชื่อว่าผู้นำเป็นคนส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ ทั้งที่บางครั้งเราไม่ได้ทำอะไรเลย นี่เป็นอีกปัญหาที่มันเกิดขึ้นจริง”
คำบอกเล่าของ นายยู ทำให้มองเห็นความซับซ้อนของปัญหาชายแดนใต้ที่ความขัดแย้งในพื้นที่ หลายๆ ครั้ง หลายๆ กรณีก็ไม่ได้เกิดจากรัฐ แต่เป็นปัญหาของคนท้องถิ่นด้วยกันเอง ทว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็มักจะโทษรัฐ หรืออ้างรัฐ ทำให้ยิ่งตอกย้ำความเกลียดชัง
ชีวิตของนายยู ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะเมื่อต้องจากภูมิลำเนาไปใช้ชีวิตต่างอำเภอที่บ้านญาติ แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เพราะเขากลับต้องทำงานใกล้ชิดกับทหาร ทำให้มุมมองที่มีต่อเจ้าหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร
“ช่วงที่หนี 2 ปี ต้องส่งเสียแฟนด้วย ตอนนั้นเรายังไม่ได้แต่งงานกัน แฟนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เราก็ทำอาชีพขายไก่สดตรงหน้า ฉก.11 ยะลา (หน่วยเฉพาะกิจยะลา 11) ตรงข้ามร้านก็มีทหารตั้งด่านตรวจทุกวัน และทหารใน ฉก.11 ยังเป็นลูกค้าประจำสั่งไก่ด้วย ทำให้ต้องไปส่งไก่ใน ฉก. ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกกลัว เพราะคิดว่าที่ไหนอันตรายที่นั่นจะปลอดภัย และเขาดีมาเราก็ดีกลับ คุยกันดีทุกอย่าง คุยกันปกติเหมือนชาวบ้านทั่วไป”
นายยู เล่าถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตว่า พอแต่งงานก็กลับมาอยู่บ้านภรรยาที่ ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ จนกระทั่งมีเหตุยิง นายก อบต.คลองใหม่ เสียชีวิต ประมาณปี 2551 เจ้าหน้าที่มาที่บ้าน ทำให้ต้องหนีไปอยู่หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นบ้านญาติ แต่ทางครอบครัวแฟนก็พยายามกดดันให้มอบตัว เพราะเขากลัวว่าเจ้าหน้าที่จะมองลามไปถึงคนอื่นในครอบครัวของเขา ซึ่งครอบครัวแฟนไม่มีอุดมการณ์อะไรแบบนี้
“จากแรงกดดันหลายอย่าง ทั้งพ่อก็ป่วย ต้องนอนติดเตียง ทั้งคนที่ร่วมขบวนการก็มาทิ้งกันไปเลย ไม่มีใครมาช่วยอะไร ทำให้ผมตัดสินใจยอมมอบตัว โดยแจ้งผู้นำในพื้นที่ให้พาไปที่ ฉก.รับผิดชอบระดับพื้นที่ ในตอนนั้นยังไม่มีโครงการพาคนกลับบ้าน พอเข้ากระบวนการเสร็จก็ได้กลับมาอยู่ที่บ้านตามปกติ”
นายยู เล่าอีกว่า ต่อมาเกิดเหตุยิงปะทะที่บ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บสาหัส 1 นาย ก็มาถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) และถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ซักถามตามกระบวนการ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก
“ผมได้พยายามอธิบายกับเจ้าหน้าที่ จนทำให้ได้เข้ามาอยูในโครงการประชาร่วมใจทำความดีเพื่อแผ่นดิน และเป็นสมาชิกมาจนถึงทุกวันนี้ และได้มาเป็นผู้นำของการเลี้ยงไก่ดำ ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นหลักในการช่วยเจ้าหน้าที่ไปบรรยายเรื่องไก่ดำ ขณะที่ผู้บังคับบัญชาก็ดูแลและสนับสนุนทุกอย่าง ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้บังคับบัญชา การดูแลตรงนี้ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแปลง”
ความต่อเนื่องของการดูแลเอาใจใส่ และไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้ นายยู เปรียบเทียบกับคนในขบวนการที่ชักนำให้เขาต่อสู้ แต่สุดท้ายเมื่อชีวิตลำบากก็ไม่เคยมีใครเหลียวแล จึงทำให้เขาตัดสินใจหันหลังให้ขบวนการอย่างถาวร
“อยากบอกกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เห็นต่างจากรัฐ ให้กลับมาอยู่กับครอบครัว แล้วชีวิตจะเกิดความสงบสุข ถ้ายังไม่อยากกลับก็ขอแค่เปิดใจ ให้โอกาสตัวเองรับฟังสักนิด แล้วโอกาสดีๆ จะเกิดขึ้นกับครอบครัวเรา เหมือนคนอื่นทั่วไปที่สามารถใช้ชีวิตปกติสุขได้ และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไหนๆ ก็จะไม่ทิ้งประชาชน”
@@ คนที่ต่อสู้กับรัฐไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นเรื่องความคิด ความเชื่อ
ด้าน พ.อ.พรรษิษฐ์ สุพรรณชนะบุรี ผู้อำนวยการกองสานใจสู่สันติ ศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า “ศูนย์สันติวิธี” ยุคนี้ไม่เหมือนเดิม ทำจริง เคลียร์จริง ช่วยจริง ที่สำคัญลงพื้นที่ไปหาเป้าหมายจริงด้วยตนเองทั้งหมดทุกขั้นตอน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงาน จนทำให้สถิติผู้เข้าร่วมโครงการสานใจสู่สันติ ตั้งแต่ปี 2565 – ปัจจุบัน มีทั้งหมด 434 ราย
แยกเป็นปี 2565 จำนวน 126 ราย ปี 2566 จำนวน 293 ราย และบุคคลที่มีหมาย ป.วิอาญา (หมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) อีกจำนวน 15 ราย
“จริงๆ โครงการนี้เริ่มจาก พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 โดยชุดแรกมีผู้ร่วมโครงการ 93 ราย ประกาศเจตนารมณ์ยุติการการใช้ความรุนแรง ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.2555 ถือเป็นปฐมบทเริ่มต้นโครงการพาคนกลับบ้าน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโครงการ จากพาคนกลับบ้านเป็นสานใจสู่สันติ เพื่อสร้างความเข้าใจโดยตรงกับกลุ่มผู้เห็นต่างที่ยังมีแนวคิดต่อสู้กับรัฐด้วยความรุนแรง และกลุ่มคนที่ยังเคลื่อนไหวก่อเหตุและหลบหนี ด้วยหลักที่ว่าบุคคลที่ต่อสู้กับรัฐไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน แต่อาชญากรรมมันเกิดจากความคิด ความเชื่อของเขา”
“ผู้เข้าร่วมโครงการมีความสมัครใจ ทั้งที่มีหมายจับ ที่หลบหนี และกลุ่มที่ไม่มีหมายจับ แต่มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ก็มาคุยสร้างความเข้าใจกัน เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยศูนย์สันติวิธีระดับหน่วยเฉพาะกิจเป็นผู้ประสานงาน”
@@ เน้น “เป็นธรรมเชิงคุณภาพ” ไม่มีค่าใช้จ่าย
ผอ.กองสานใจสู่สันติฯ เล่าอีกว่า เมื่อมีผู้เข้าร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ในศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) จะประสานผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมอำนวยความสะดวกให้ได้แสดงตนและต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม ภายใต้บริบท “นักรบ พบรัก กลับบ้าน ร่วมกันสร้างสันติสุข” โดยการดำเนินการทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น เน้นให้ความเป็นธรรมเชิงคุณภาพมาตั้งแต่ปี 2564
ส่วนการเลี้ยงไก่ดำ และปลานิล นอกจากเป็นการสร้างอาชีพแล้ว ยังได้แจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ และโรงเรียนที่มีความต้องการ เริ่มแจกอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2565 โดยได้ทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานแจกจ่ายให้ประชาชนจำนวน 5,432 ครัวเรือน 27,160 ตัว แจกครัวเรือนละ 5 ตัว ให้โรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 44 โรงเรียน 1,340 ตัว รวมทั้งสิ้น 28,500 ตัว พร้อมแจกจ่ายพันธุ์ปลานิลจิตรลดาพระราชทานอีก จำนวน 153,000 ตัว
@@ เร่งลบชื่อในบัญชี สู้คดีติดคุกมีทีมดูแลครอบครัว
“ที่นี่เป็นงานความมั่นคงที่ไม่มีตำรวจมายุ่ง เขารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ในส่วนของเรื่องลบชื่อในบัญชี ก็พยายามทำทุกเคส แต่ก็ยอมรับว่ามีตกหล่นบ้าง ตรงนี้ยอมรับ เราก็แก้เป็นเคสๆ ไป แต่การทำงานตรงนี้ วันนี้ไม่เหมือนเดิม ยอมรับก่อนหน้านี้มีปัญหาบ้างในหลายๆ เรื่อง ปัจจุบันเราทำจริง ผู้ที่เข้าร่วมโครงการบางคนมีหมายจับ ก็ต้องสู้ เราก็อำนวยความสะดวก บางคนสู้จนศาลตัดสินคดี 1 ปีกับ 2 เดือน จากนั้นก็สามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวได้แล้ว ในส่วนครอบครัว ระหว่างที่รับโทษ เราก็มีเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ติดตามให้ความช่วยเหลือช่วยเต็มที่ตามความเหมาะสม” ผอ.กองสานใจสู่สันติ กล่าว
@@ เดินหน้าต่อแม้เปลี่ยนรัฐบาล มั่นใจ รมว.ยุติธรรม สนับสนุน
เมื่อถามถึงช่วงของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล อาจมีนโยบายการทำงานที่แตกต่างจากเดิม พ.อ.พรรษิษฐ์ บอกว่า ไม่มีปัญหา ใครมาเป็นรัฐบาลก็จะทำแบบนี้
“ไม่ว่าจะอย่างไรก็จะเดินหน้าต่อ หรือจะนิรโทษกรรมเลย เห็นมีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการให้อภัย สังคมเกิดความคิดนี้หรือยัง อย่างกรณีรัฐมนตรียุติธรรม (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง) ท่านผ่านงานในพื้นที่นี้มามาก ก็ต้องมีความจริงจังในการแก้ปัญหาความยุติธรรมอย่างเต็มที่อยู่แล้ว บวกกับพรรคประชาชาติที่จะต้องทำงานหนักให้คนพื้นที่ ก็คิดว่าท่านน่าจะเต็มที่”
“ไม่ว่าใครมาดูแลภาคใต้ก็ไม่มีปัญหา ใครมาก็ได้ เบื้องต้นได้คุยบ้างแล้วถึงแผนงานที่ทำอยู่ ทุกอย่างน่าจะไปต่อได้ ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขก่อนหน้านี้ เราก็พยายามทำเต็มที่ แต่เขา(ฝ่ายผู้เห็นต่าง) บอกขอคุยกับรัฐบาลใหม่ ซึ่งการพูดคุยก็ไปต่อ ทางเจ้าหน้าที่พยายามที่จะคุยและเสนอแนวทางหลายอย่าง แต่เหมือนเขาเองก็มีปัญหา ตอนนี้เขาก็ยังหาแกนนำมาคุยไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ก็ต้องรอดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป” ผอ.กองสานใจสู่สันติ ระบุ
แม้ว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับตัวแทนกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่นอกประเทศ อาจเป็นแนวทางที่จะดับไฟใต้ได้เช่นกัน แต่การจัดการปัญหาภายในของคนในพื้นที่เอง ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง และแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ อาจทำให้มองเห็นสันติสุขได้เร็วกว่า...