ย่างเข้าเดือนมิถุนาฯของทุกปี ถือเป็นฤดูกาลของราชาผลไม้อย่าง “ทุเรียน” ชายแดนใต้ เพราะเป็นช่วงเริ่มให้ผลผลิต
ในพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา มี “ทุเรียนสะเด็ดน้ำ” ขึ้นชื่อเรื่องความโดดเด่นของรสชาติ เป็นการนำทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ ไปปลูกตามพื้นที่ไหล่เขา สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป เป็นแหล่งบ่มเพาะทุเรียนคุณภาพปลอดสารเคมี
ยงยุทธ นิลชลานนท์ นายอำเภอกรงปินัง เพิ่งลงพื้นที่แปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 3 ต.ปุโรง อ.กรงปินัง เพื่อตัด “ทุเรียนสะเด็ดน้ำมีดแรก” เป็นสัญลักษณ์ของการเปิดฤดูกาลผลไม้ โดยมี อับดุลฮาฟิซ สะตีมือมะ เกษตรอำเภอกรงปินัง นายก อบต. ทีมงานจากโครงการทุเรียนคุณภาพ และเจ้าของสวน ร่วมกิจกรรม
ทุเรียนรุ่นนี้เป็นพันธุ์หมอนทองรุ่นแรกของแปลง มีอายุกว่า 5 ปี ต้นเดียวจะมี 3 รุ่น จากการทำทุเรียนคุณภาพ ทำให้ได้ผลผลิตทุเรียนหนามเขียว 5 พู ที่ลูกสวย น้ำหนักดี มีตั้งแต่ลูกละ 5 กิโลกรัม ไปจนถึง 8-9 กิโลกรัม ซึ่งทางเกษตรกรได้ตัดส่งขายให้กับผู้ที่สั่งจองไว้ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท
ผู้ที่เข้าร่วมงานยังได้ร่วมกันชิมทุเรียนหมอนทองและทุเรียนชะนี ซึ่งเกษตรกรได้ทยอยตัดผลผลิตไปก่อนหน้านี้ ทั้งการแกะกินแบบสดๆ และการแปรรูปเป็นไอศกรีมทุเรียน รวมทั้งข้าวเหนียวทุเรียน เพื่อเป็นการการันตีถึงรสชาติความอร่อยของทุเรียนสะเด็ดน้ำ อ.กรงปินัง ที่มีเนื้อแห้ง กรอบนอกนุ่มใน
อับดุลฮาฟิซ เล่าว่า ภาพรวมพื้นที่การปลูกทุเรียน อ.กรงปินัง ในปี 2566 อยู่ที่ 5,332 ไร่ โดยปลูกกระจายใน 4 ตำบล ให้ผลผลิตแล้ว 3,527 ไร่ สำหรับแปลงนี้เป็นเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนต้นแบบระดับจังหวัด เจ้าของสวนมีความตั้งใจตั้งแต่ต้นที่จะทำเกษตรลักษณะนี้ ทางส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งเกษตรมูลนิธิปิดทองหลังพระจึงได้เข้าไปพัฒนาส่งเสริม และช่วยดูแลเรื่องคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรได้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต บริหารจัดการแปลงตามขั้นตอนระยะเวลา รวมไปถึงในด้านการตลาดด้วย
“โดยในช่วงฤดูทุเรียนที่ อ.กรงปินัง นอกจากจะมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อกันตามถนนแล้ว ก็จะเข้ามาซื้อถึงที่ในสวนเอง เนื่องจากความขึ้นชื่อด้านทุเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งการตัดทุเรียนมีดแรกวันนี้ จึงถือเป็นวันแรกที่ได้มาร่วมตัดผลผลิตของสวนแบเลาะแห่งนี้”
เกษตรอำเภอกรงปินัง บอกด้วยว่า สภาพภูมิประเทศของ อ.กรงปินัง มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน มีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรน้ำ ส่งผลดีต่อการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ทำให้รสชาติของทุเรียนกรอบนอก นุ่มใน เนื้อละเอียด เป็นทุเรียนสะเด็ดน้ำ
“ต่อไปในอนาคตก็จะผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเกษตรด้วย เนื่องจากระยะทางของ อ.กรงปินัง อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองยะลา ซึ่งจะทำให้มีคนรู้จัก “ทุเรียนสะเด็ดน้ำ กรงปินัง” มากขึ้น ก็อยากเชิญชวนให้ประชาชนได้มาลิ้มชิมรสชาติทุเรียนคุณภาพที่กรงปินัง” เกษตรอำเภอ กล่าว
ฆอรอเฮง ดอฆอ ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน ต.ปุโรง เจ้าของสวน บอกว่า เริ่มทำการเกษตรมา 15 ปีแล้ว ในเนื้อที่ 15 ไร่ สำหรับการปลูกทุเรียนนั้น เริ่มแรกมีเพียง 2-3 ต้น มาทำจริงๆ 5 ปีครึ่ง “โครงการปิดทองหลังพระ” ได้พาไปอบรมที่ จ.ระยอง จ.จันทบุรี จึงได้นำความรู้มาทำที่บ้านเรา
“ทุเรียนบ้านเรา เนื้อจะแห้ง กรอบนอก นุ่มใน ปลูกในที่ราบมีน้ำเป็นดินเหนียวปนทราย เนื้อจะไม่เละไม่แฉะ สำหรับรุ่นแรกทยอยตัดไปแล้ว 1,000 กว่ากิโลฯ ไม่ค่อยเยอะ รอรุ่นสองที่จะตัดในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งจะมีผลผลิตมากหน่อย”
“ส่วนผลผลิตปีนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แปลงแรกนี้อายุ 5 ปีครึ่ง ก็ให้ผลผลิต ส่วนใหญ่แล้วก็จะปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก 200 กว่าต้น มีพันธุ์มูซันคิง อายุ 3 ปี ประมาณร้อยกว่าต้น นอกจากนี้ก็จะมีก้านยาว ชะนี บ้างแต่ไม่มาก”
ฆอรอเฮง บอกอีกว่า ราคาทุเรียนปีนี้ดีมาก พอใจมาก เกษตรกรทำคุ้ม ถึงปุ๋ยจะแพงก็คุ้ม สำหรับปัญหาสภาพอากาศก็เป็นธรรมดา ถ้าเราคุมได้ ทุเรียนก็อยู่ได้ คาดว่ารายได้ปีนี้จะเพิ่มเป็น 2 เท่า ทั้งสวนจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 3 ตัน มีทั้งรุ่นเก่าและใหม่ ดาวรุ่ง 5 ปีด้วย
อาซันบาซอรี อีแมลอดิง ทีมจากโครงการทุเรียนคุณภาพ บอกว่า ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระได้เข้ามาส่งเสริมการทำทุเรียนคุณภาพของเกษตรกรแปลงใหญ่ 4 ระยะ
ระยะแรก เป็นการเตรียมต้น
ระยะ 2 เป็นการดูแลระยะดอก
ระยะ 3 ดูแลผล
ระยะ 4 ดูแลช่วงเก็บเกี่ยว
ที่ผ่านมาได้อบรมระยะ 1 - 3 ไปแล้ว เหลืออีกระยะ คือระยะก่อนเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งทางเกษตรกรมีความสนใจที่เพิ่มขึ้น เพราะผลผลิตแต่ละปีมีการขยับเป็นคุณภาพดียิ่งขึ้น จากไม่เคยดูแล พอมาดูแลรายได้ก็เพิ่มขึ้น ผลผลิตเฉลี่ยเดิมไร่ละ 800 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 กิโลกรัมในปัจจุบัน
“ส่วนปัญหาหลักเรื่องโรคของทุเรียนนั้น เกษตรกรเองยังไม่มีองค์ความรู้ตรงนี้ ทางสถาบันก็ได้เข้ามาให้ความรู้ ในการใช้สารเคมีที่จะมาปราบศัตรูพืชอย่างถูกวิธี ถูกต้อง ไม่เป็นอันตรายทั้งผู้ใช้ และผู้บริโภคด้วย” ทีมงานโครงการทุเรียนคุณภาพ กล่าว
@@ ผู้ว่าฯพาตีเมาะ เปิดฤดูกาล “ทุเรียนทรายขาว”
ที่สวนทุเรียนของ ฮารีช๊ะ สะมะแอ ในพื้นที่ หมู่ 1 ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มีการจัดกิจกรรม “เริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ทุเรียนทรายขาว” โดยมี พาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ทำพิธี “ตัดทุเรียนมีดแรก” และ “ลูกแรก” บนต้นทุเรียนหมอนทอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเริ่มการเก็บเกี่ยวผลผลิตและซื้อขายทุเรียน
อ.โคกโพธิ์ มีเกษตรกรชาวสวนทุเรียน 2,016 ราย พื้นที่ปลูก 2,058 ไร่ ต.ทรายขาว เป็นตำบลที่ปลูกทุเรียนมากที่สุด มีเกษตรกร 497 ราย พื้นที่ 836.50 ไร่ พันธุ์ทุเรียนที่เกษตรกรให้ความสนใจนิยมปลูกกันมากคือ “พันธุ์หมอนทอง” สร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรในปีที่ผ่านมา
ทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อปี 2559 กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ และจดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนทรายขาว” พร้อมให้การสนับสนุนองค์ความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพ การส่งเสริม การจำหน่าย การประชาสัมพันธ์ ซึ่งทุเรียนทรายขาวมีการคัดแยกเกรดทุเรียนตามคุณลักษณะ รูปทรง น้ำหนัก ความสุกประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ (แก่จัด)
จากคุณลักษณะดังกล่าว แยกเป็นเกรดพรีเมี่ยม เกรด A เกรด B เกรดตกไซส์ และกำหนดราคาโดยผ่านการประชุมสมาชิกเกษตรแปลงใหญ่ มีจุดรับซื้อและคัดแยกเกรด ณ ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตทุเรียนแปลงใหญตำบลทรายขาว
ปีนี้ “ทุเรียนทรายขาว” จะให้ผลผลิตระหว่างวันที่ 14 มิ.ย.- 31 ส.ค.66 รวมทุกพันธุ์ประมาณ 20 ตัน ผ่านพ่อค้าคนกลางและผ่านกลุ่ม ซึ่งทางกลุ่มได้ประกาศราคารับซื้อหน้าสวนตามเกรดดังนี้
1) เกรดพรีเมี่ยม กิโลกรัมละ 150 บาท
2) เกรด A ราคา กิโลกรัมละ 120 บาท
3) เกรด B ราคา กิโลกรัมละ 100 บาท
4) เกรดตกไซส์ กิโลกรัมละ 50 บาท
เกษตรตำบลทรายขาว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลผลิตที่ได้ต่อไร่เฉลี่ย 1 -1.5 ตัน จำนวน 18-20 ต้น มีทั้งพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว ชะนี พวงมณี มูซังคิง โดยพันธุ์หมอนทองได้ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน GI เป็นพันธุ์พรีเมี่ยมพันธุ์เดียว และได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 5 พันธุ์ทุเรียนที่อร่อยที่สุดในไทย
“ปริมาณผลผลิตไม่เคยพอกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งจากในพื้นที่ จากเพจทุเรียนทรายขาว และส่งออกจีนบ้าง สิงคโปร์บ้างตามการประสานงานไว้ โดยในปีนี้มีการเพิ่มพื้นที่ในการปลูกจำนวน 50 ไร่ เปลี่ยนจากสวนยาง สวนลองกอง นา มาเป็นสวนทุเรียน" เกษตรตำบล กล่าว
@@ “นิพนธ์” หนุนเกษตรกรใต้ปลูกทุเรียน มูลค่าส่งออกเท่ายาง
ที่สวนสี่พันไร่ บ้านทับโกบ ต.สะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา ประธานกรรมการโรงงานถาวรอุตสาหกรรมยางพารา 1982 จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่อำเภอสะเดา พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี เกษตรจังหวัดสงขลา และนายธนากร กิจจารักษ์ นักวิชาการเกษตร ตัวแทนบริษัทยารา (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมงาน “ฟิลด์เดย์” ฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านการปลูกทุเรียนสู่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในอำเภอสะเดาและอำเภอใกล้เคียง เช่น อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.รัตภูมิ
ในงานมีทีมนักวิชาการและเกษตรจังหวัดสนับสนุนด้านวิชาการ โดยเชิญเกษตรกรผู้ปลูกสวนทุเรียนแปลงใหญ่มาเข้ารับการฝึกอบรมจำนวนกว่า 300 ราย แยกฐานปฏิบัติการเป็น 4 ฐาน เช่น เทคนิคการใส่ปุ๋ย, การลดต้นทุนการปลูกทุเรียน, การวิเคราะห์ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน และการป้องกันแมลงศัตรูพืช เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนได้สัมผัสการเรียนรู้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา ได้สนับสนุนพื้นที่เปิดสวนทุเรียนขนาดใหญ่ บริเวณบ้านทับโกบ หมู่ 4 อ.สะเดา ให้เป็นสถานที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นายนิพนธ์ ซึ่งมาร่วมกิจกรรมในฐานะผู้ให้ความสนใจเรื่องทุเรียน กล่าวว่า ได้มาร่วมศึกษาการปลูกทุเรียน เพราะเห็นว่าในอนาคตทุเรียนสามารถสร้างรายได้ สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทย ให้กับเกษตรกร ภาคใต้มีพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นแหล่งปลูกทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ในเชิงพาณิชย์ มีมูลค่าการส่งออกนับแสนล้านบาท ใกล้เคียงกับยางพารา
“นี่คือสิ่งที่ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียน ให้มีความรู้ในการจัดการขั้นพื้นฐาน มีความรู้ดูแลต้นทุเรียนและการบริหาร เทคนิคการจัดการมีมาตรฐาน เป็นสิ่งที่ต้องการมาเรียนรู้ เพื่อในอนาคตอาจจะสนับสนุนให้ลูกหลานมาทำสวนทุเรียนเพื่อการส่งออก โดยเตรียมพื้นที่ไว้บ้างแล้ว”
นายวุฒิศักดิ์ กล่าวว่า สงขลามีการปลูกทุเรียนเชิงพาณิชย์จำนวน 16,000 ไร่ พื้นที่หลักคือ อ.สะเดา อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี อ.รัตภูมิ และ อ.เทพา ซึ่งแนวทางของสำนักงานเกษตรจังหวัดเน้นการทำให้ได้มาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแปลงที่ได้มาตรฐาน GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agricultural Practices: GAP) ประมาณ 700-800 แปลง
“สำหรับในแนวทางของปีหน้า เราจะขับเคลื่อน 2 แนวทาง ในเรื่องของมาตรฐานคุณภาพ GAP และส่งเสริมในระบบสวนทุเรียนแปลงใหญ่ และการปั้นสมาคมสวนทุเรียนในจังหวัดสงขลา ซึ่งในอนาคตจะขับเคลื่อนสงขลาเป็นเมืองทุเรียน โดยร่วมกับเอกชนและเกษตรกรในพื้นที่” เกษตรจังหวัดสงขลา กล่าว