เป็นความจริงที่ว่า ประเด็น “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” หรือ Self Determination หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ประชามติแยกดินแดน” ไม่ได้เพิ่งถูกพูดถึงครั้งแรกในเวทีเปิดตัว “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” หรือ Pelajar Kebangsaan Patani หรือ Pelajar Bangsa ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 7 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา
แต่ประเด็นนี้เคยมีความพยายามสื่อสารผ่านสาธารณะมาแล้วหลายครั้ง และองค์กรที่อ้างว่าเป็นตัวแทนนักเรียน นิสิต นักศึกษาชายแดนใต้ (ใช้คำว่า ปาตานี) อย่าง PERMAS หรือ สหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานี ก็เคยรณรงค์เรื่องนี้ ถึงขั้นไปเปิดเวทีในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ หลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 “ทีมข่าวอิศรา” เคยสัมภาษณ์ อาเต็ฟ โซ๊ะโก อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในฐานะที่ปรึกษา PERMAS ก็มีการอ้างถึงการทำกิจกรรมเปิดเวทีในพื้นที่ ครั้งนั้นในคำว่า “สาตูปาตานี” หรือ “ปาตานีเป็นหนึ่ง” เนื้อหาเป็นการให้ความรู้ทางอ้อมเกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือกำหนดชะตากรรมของตนเอง (อ่านประกอบ : รู้จัก PERMAS องค์กรนักศึกษาชายแดนใต้ เปิดพื้นที่ขับเคลื่อนอนาคต "ปาตานี”)
ต่อมาในปี 2559 มีเหตุการณ์เขย่าฝ่ายความมั่นคงชายแดนใต้ เมื่อมีการแชร์ภาพเสื้อยืดที่สกรีนคำว่า "TANAH PERKASA MELAYU UTARA" ซึ่งแปลว่า “ดินแดนอาณาจักรมลายูตอนเหนืออันยิ่งใหญ่" พร้อมๆ กับการการแชร์ภาพการแขวนป้ายที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า SELF DETERMINATION ในช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลฮารีรายอ แต่กลับไม่ได้เขียนคำว่า SELAMAT HARI RAYA เหมือนป้ายทั่วไป
เมื่อฝ่ายทหารตามไปปลดป้าย ก็มีการแชร์ภาพชุดใหม่ เป็นชายวัยรุ่นแต่งกายเหมือนคนมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงท่าทางถูกมัดมือ และปิดปาก เหมือนกำลังถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยแบ็คกราวด์ของภาพแขวนป้ายที่เขียนคำว่า Self Determination (อ่านประกอบ : วิจารณ์ขรม "เสื้อ-ป้าย" สื่อถึงแยกดินแดน? ทหารเรียกคุย-สั่งฝ่าย ก.ม.ชี้ผิดหรือไม่, ไฟใต้กับเกมที่ใหญ่กว่า..."เสื้อแยกดินแดน")
ผ่านมาอีก 7 ปี คือปี 2566 ประเด็น Self Determination หวนกลับมาอีกครั้ง คราวนี้เปิดตัวกัน “โจ๋งครึ่ม” มีการเสวนา และพูดกันแบบชัดเจนเลยว่าเป็นกระบวนการ “ทำประชามติเพื่อเอกราช” หรือ “ประชามติแยกดินแดน”
แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็น “ประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่ง” และฝ่ายความมั่นคงเองก็แสดงความกังวลมาตั้งแต่ก่อนมีความเคลื่อนไหวเชิงกายภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ. - ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) ก็เคยให้สัมภาษณ์ “ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา” เอาไว้เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ส.ค.2555 โดยเปรยถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำนองว่าต้องบังคับใช้กฎหมายพิเศษเต็มพื้นที่ ตอนนี้ยังไม่เสียดินแดน แต่ถ้าชะล่าใจจะเสียดินแดนแน่ในอนาคต โดยเฉพาะหากมีการ "ลงประชามติ"
@@ ทำความรู้จัก Self Determination
สำหรับ “สิทธิในการกำหนดใจตำเอง” หรือ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” มีอธิบายไว้ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 59 เรื่อง "หลักการกำหนดใจตนเอง" หรือ The Principle of Self-Determination ซึ่งเขียนโดย ณัฐกฤษตา เมฆา และมี ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย.2552
เนื้อหาในจุลสาร ได้อรรถาธิบายเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ สรุปได้ว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (The Rights of Self-Determination) เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ แต่ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อมีการนำสิทธิในการกำหนดใจตนเองไปกล่าวไว้ใน กฎบัตรสหประชาชาติ ทำให้สิทธิในการกำหนดใจตนเองมีผลบังคับใช้แก่รัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไปด้วย
แต่เนื่องจากในตัวกฎบัตรไม่ได้ระบุถึงเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเองเอาไว้มากนัก ทำให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติต้องมีมติต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดใจตนเองออกมา เพื่อเป็นการอธิบายและแสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง
รายละเอียดและเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ปรากฏเป็นครั้งแรกในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม" (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า "กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี"
ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิในการกำหนดใจตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ (Minority groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ นอกจากนั้นสิทธิในการกำหนดใจตนเองยังถูกใช้ในกรณีสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมด้วย
@@ “นักล่าอาณานิคมสยาม” โยง “สนธิสัญญา แองโกล-สยาม”
“ทีมข่าวอิศรา” ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพและสันติสุข ในรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา (นับตั้งแต่ปี 2556) ซึ่งบางช่วงมีการพูดคุยกับ “ขบวนการบีอาร์เอ็น” ซึ่งเป็นขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ปรากฏว่า บีอาร์เอ็นเรียกประเทศไทยว่า “นักล่าอาณานิคมสยาม” ทั้งในคำแถลงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และเอกสารข้อเรียกร้องที่ส่งถึงคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย
ผู้รู้หลายคนเชื่อว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นพยายามสร้างภาพว่า ประเทศไทย หรือ รัฐไทย คือเจ้าอาณานิคมดินแดนปาตานี หรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีปัญหาความมั่นคงอยู่ในปัจจุบัน โดยอ้างอิงเชื่อมโยงกับ สนธิสัญญากรุงเทพฯ หรือ สนธิสัญญาแองโกล-สยาม พ.ศ.2452 หรือ Anglo -Siamese Treaty of 1909 ที่ลงนามกันเมื่อปี พ.ศ.2452 หรือ ค.ศ.1909 เป็นข้อตกลงปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยาม (ในยุคล่าอาณานิคม) โดยเป็นการลงนามกันระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสยาม (ในขณะนั้น) กับผู้สำเร็จราชการในมลายูของอังกฤษ
ผลของสนธิสัญญา ทำให้ดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี และสตูล อยู่ในเขตสยาม ส่วน เมืองมลายู เคดะห์ กลันตัน เปอร์ลิส ตรังกานู เกาะลังกาวี และบางส่วนของรามัน-ระแงะ ให้สยามมอบคืนแก่รัฐบาลอังกฤษ
การกล่าวอ้างว่าสยาม หรือรัฐไทย เป็นเจ้าอาณานิคม หรือ “นักล่าอาณานิคม” ผู้รู้เชื่อว่าขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการให้สอดคล้องกับมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” โดยเชื่อมโยงอ้างอิงกับ “สนธิสัญญา แองโกล-สยาม” เมื่อปี พ.ศ.2452 เพื่อเรียกร้องให้มีการทำ “ประชามติแยกดินแดน” นั่นเอง
@@ พ่นสี PATANI 110 สร้างสถานการณ์สู่ “ประชามติเอกราช”?
ประเด็นสนธิสัญญา แองโกล-สยาม เคยมีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว แต่ฝ่ายความมั่นคงไทยกลับพูดถึงหรืออธิบายเรื่องนี้น้อยมาก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 หรือ ค.ศ.2019 (เมื่อ 4 ปีก่อน) จู่ๆ ก็มีการพ่นสีข้อความบนถนน และราวสะพานหลายแห่งในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น อ.ธารโต จ.ยะลา เป็นคำว่า PATANI 110 ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน
เมื่อภาพการ "ก่อกวน" ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีเสียงถามไถ่ว่า PATANI 110 คืออะไร มีความหมายอย่างไร และทำไมต้อง PATANI 110 ด้วย
เมื่อไถ่ถาม "ผู้รู้ในพื้นที่" ได้ข้อมูลว่า PATANI 110 เป็นความจงใจของผู้กระทำที่ต้องการสื่อความหมายถึงวาระครบรอบ 110 ปีของการลงนามใน "สนธิสัญญาแองโกล-สยาม" ระหว่างสยาม (ไทย) กับอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1909 หรือ พ.ศ.2452 นั่นเอง
นี่คือความพยายามสร้างสตอรี่เชื่อมโยง ตั้งแต่การเรียกขานประเทศไทยว่า “นักล่าอาณานิคมสยาม” ในแถลงการณ์ที่เป็นทางการทุกครั้ง, การอ้างอิงถึงมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิในการกำหนดใจตนเอง และการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ พ่นสี PATANI 110 ในวาระครบ 110 ปี สนธิสัญญาแองโกล-สยาม
ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และมียุทธศาสตร์ คำถามคือฝ่ายความมั่นคงจะว่าอย่างไร และรัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร?
เพราะงานนี้ไม่จบแค่นี้แน่!