ช่วงนี้ภาคใต้ชุ่มฝน ทำให้เวทีของหลายพรรคการเมืองต้องจัดกันแบบเปียกปอน
ไม่ว่าจะเป็นเวทีประชาธิปัตย์ที่สงขลา นครศรีธรรมราช, เวทีของพรรคชาติพัฒนากล้าที่สงขลา ซึ่งว่ากันว่ากระแส “จูรี ดาวติ๊กต็อก” หรือ “จูรี นุ่มแก้ว” ผู้สมัครเขต 2 มาแรงจริงๆ
ส่วนพรรคที่เลี่ยงฝนไม่ได้เลย เพราะเปิดเวทีทุกคืนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือพรรคประชาชาติ แต่แม้เจอฝนกระหน่ำ ทางพรรคก็ไม่ท้อ ขณะที่วันอื่นๆ ก่อนหน้านั้นต้องฝ่าคลื่นความร้อน ซึ่งร้อนจัดไม่แพ้ภูมิภาคอื่นๆ
พรรคประชาชาติหาเสียงแบบ “มาราธอน” เช้าตรู่ถึงค่ำ เดินพบปะพี่น้องประชาชน จากนั้น 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืน เปิดเวทีปราศรัยวันละ 1-2 เวทีทุกวัน เลิกดึกหลังเที่ยงคืนทุกคืน รวม 10 คืน ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง รวมทั้งหมด 14 เวที 13 เขต เรียกว่าไปครบทุกเขตเลือกตั้งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
คนในพื้นที่บอกว่า เป็นการหาเสียงแบบจริงจัง แบบมาราธอน แทบไม่เคยปรากฏมาก่อนในบริบทการเมืองพื้นที่ปลายด้ามขวาน หนำซ้ำแต่ละเวทียังมีประชาชนมาร่วมรับฟังหลักหมื่นคนทุกคืน
คืน 9 พ.ค.66 เป็นการเปิดเวทีปราศรัยคืนที่ 6 ที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ความมั่นคงที่เคยถูกขนานนามว่า “พื้นที่สีแดง” มีตำบลประวัติศาสตร์การชุมนุมและการต่อสู้กับอำนาจรัฐ คือ ตำบลดุซงญอ อยู่ในอำเภอจะแนะ เรียกว่า “กบฏดุซงญอ” เหตการณ์เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 เม.ย.2491 หรือเมื่อ 75 ปีที่แล้ว
แต่พรรคประชาชาติไปตั้งเวทีแบบไม่กลัวอันตราย และเลิกเวทีตอนดึก เกือบตี 1 ทุกคืน ขณะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้บรรยากาศก็ดูเป็นใจ ไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นเลยในช่วงนี้
ไทม์ไลน์หาเสียงในแต่ละวันของพรรคประชาชาติ
06.00 น. - ลงพื้นที่เดินตลาด เคาะประตูบ้าน โดยกำหนดพื้นที่เดียวกับตารางปราศรัยช่วงค่ำวันเดียวกัน
08.00-17.00 น. - พบปะประชาชน ร่วมกิจกรรมของพี่น้องประชาชน เช่น งานที่มัสยิด หรืองานทอดผ้าป่า ทำบุญที่วัด นำเสนอนโยบาย และพูดคุยรับฟังปัญหาต่างๆ วันหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 กิจกรรม
17.00-19.00 น. - ช่วงเย็นถึงค่ำ ถ้าเป็นช่วงก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอน จะเป็นช่วงไปร่วมรับประทานอาหารละศีลอด ส่วนช่วงนี้ก็มีกิจกรรมต่างๆ ที่ชาวบ้านและผู้สนับสนุนจัดขึ้น
20.00 น. - เดินทางไปที่เวทีปราศรัย นำโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค
20.00-24.00 น. (หรือเวลาล้นถึง 01.00 น.) - สลับกันขึ้นปราศรัย ชูนโยบาย แนวทางการแก้ปัญหา เปิดคลิปนโยบายเน้นสวัสดิการถ้วนหน้า 11 ประการ เลือกพรรคประชาชาติเบอร์ 11
01.00 น. - เดินทางต่อไปยังอำเภอที่จะปราศรัยในวันรุ่งขึ้น เพื่อไปลงพื้นที่ตั้งแต่เช้าเหมือนวันก่อนหน้า
02.00-03.00 น. - เข้าที่พัก นอนวันละ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นตื่นเช้าออกพบปะชาวบ้านต่อ
สำหรับคืน 9 พ.ค.พิเศษกว่าคืนอื่นๆ เพราะหลังจบปราศรัยที่ดุซงญอ อำเภอจะแนะ ทางพรรควิ่งรอกต่อไปที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอใต้สุดสยาม ใช้เวลาเดินทางกว่า 4 ชั่วโมง ระยะทาง 170 กิโลเมตร ไปถึงที่หมายตอน 7 โมงเช้า วันพุธที่ 10 พ.ค. จากนั้นลงพื้นที่พบปะชาวบ้านและพ่อค้าแม่ค้าในตลาดต่อเลย เรียกว่า “หาเสียงแบบไม่หลับไม่นอน”
@@ แม่ค้าเบตงร้องโดนร้านสะดวกซื้อนายทุนยึดพื้นที่
ที่เบตง พ.ต.อ.ทวี ช่วยหาเสียงให้กับ นายอับดุลอายี สาแม็ง ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 3 ของพรรคประชาชาติ ขอโอกาสให้ได้กลับไปทำหน้าที่ ส.ส.อีกครั้ง ระหว่างเดินตลาด แม่ค้าเข้ามาร้องเรียนว่าถูกนายทุนที่มีร้านค้าขนาดใหญ่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ มีเปิดร้านสะดวกซื้อ ทำให้ร้านค้าอื่นๆ อยู่ลำบาก ข้าวของก็แพง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนสูง จึงฝากให้พรรคประชาชาติเข้าไปแก้ไขปัญหาเมื่อเป็นรัฐบาล
ช่วงบ่าย พรรคประชาชาติเดินทางไปที่มูลนิธิเบตง พบปะพี่น้องชาวจีน 5 มูลนิธิที่อาศัยและทำธุรกิจในเบตง จากนั้นไปร่วมกิจกรรมที่เยาวชนจัดขึ้นที่สวนขวัญเมืองยะลา อำเภอเมือง
ช่วงค่ำ เปิดเวทีปราศรัยใหญ่คืนที่ 7 พื้นที่เขต 3 ยะลา อำเภอรงปินัง บันนังสตา ธารโต เบตง โดยใช้สถานที่บริเวณสนามโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร อำเภอบันนังสตา โดยมีชาวลาหู่เข้าร่วมรับฟังด้วย
พ.ต.อ.ทวี ขึ้นปราศรัยตอนหนึ่งว่า พรรคประชาชาติขอเป็นน้ำเพื่อมาดับไฟ เป็นน้ำเย็นไม่ใช่น้ำร้อน ตนเคยขึ้นป้ายที่แยกดอนยางว่า เราจะใช้การเมืองนำการทหาร ใช้ความยุติธรรมนำการเมืองและการทหาร
@@ เปิด 2 เวทีคู่ขนานนราฯ ปราศรัยกลางฝนคนไม่ถอย
ส่วนช่วงค่ำของวันอังคารที่ 9 พ.ค. พรรคประชาชาติเปิด 2 เวทีคู่ขนาน บริเวณสนามฟุตบอลบ้านจำปากอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อหาเสียงให้กับ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส เขต 5 เบอร์ 4 และเวทีที่ลานเอนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดุซงญอ อำเภอจะแนะ เพื่อหาเสียงให้กับ นายกูเฮง ยาวอหะซัน ผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส เขต 4 เบอร์ 3 โดยทั้ง 2 เวทีมีประชาชนมาร่วมรับฟังเวทีละประมาณ 6,000 คน
บรรยากาศการปราศรัยเป็นไปอย่างคึกคัก แม้จะมีฝนตกลงมา แต่แฟนคลับก็ยังเหนียวแน่น ไม่ยอมหนีกลับเพื่อหลบฝน โดยพรรคประชาชาติชูนโยบายแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติ เพิ่มเงินเดือนให้ครูโรงเรียนตาดีกา หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา หรืออุสตาซ เดือนละ 15,000 บาท และเพิ่มภาษามลายูเป็นภาษาราชการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้