นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า “รักษาทุกโรค” เวลานักการเมืองหรือพรรคการเมืองหาเสียงก็เน้นย้ำแบบนั้น
นโยบายนี้มีมาถึง 2 ทศวรรษ และพัฒนาสู่ “บัตรทอง” เป็นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
แต่แปลกหรือไม่ที่ยังมีข่าวคนยากคนจนเข้ารักษาโรคร้ายหลายๆ โรคในโรงพยาบาล แล้วสุดท้ายต้องกลายเป็นหนี้ แบกรับภาระค่าใช้จ่ายหลักแสนบาท ทั้งๆ ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้คนจนเหมือนไม่มีหลักประกันอะไรเลย
ครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายครอบครัวล่าสุด จะว่าไปก็เป็นครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบด้วย ก็คือครอบครัวของ นูรไอนี สุหลง อายุ 21 ปี ซึ่งบิดาถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงชายแดนใต้
นูรไอนี ได้ร้องขอความช่วยเหลือจาก “กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้” ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยร้องเรียนว่า น.ส.ปาตีเมาะ มีเด็ง น้าสาววัย 34 ปี ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูก 3 คนด้วยตัวคนเดียว เพราะสามีถูกจับติดคุกในคดียาเสพติด พ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้ว น้าสาวเข้ารักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา แพทย์ผ่าตัดให้เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา
หลังผ่าตัดมีอาการแทรกซ้อน น้ำท่วมปอด ต้องผ่าตัดซ้ำอีก 2 ครั้ง แพทย์แจ้ง นูรไอนี ซึ่งเป็นญาติผู้ป่วยว่าอาการยังโคม่า ต้องอยู่ในความดูแลของ แพทย์อย่างใกล้ชิด การรักษาต้องมีค่าใช้จ่ายนอกระบบที่เบิกไม่ได้ตาม “สิทธิบัตรทอง” เกือบ 1 แสนบาท
นอกจากนี้ หากมีการผ่าตัดเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งว่า จะต้องมีค่าห้องผ่าตัด และค่ายานอกระบบซึ่งไม่สามารถระบุค่าใช้จ่ายได้อีก ทำให้ นูรไอนี เครียดมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องร้องขอให้องค์กรภาคประชาสังคมช่วยเหลือ
นูรไอนี เล่าให้ฟังด้วยว่า น้าสาวมีลูกถึง 3 คน มีอาชีพทำขนมขาย ที่ผ่านมาก็มีรายได้เพียงพอส่งลูกๆ ไปโรงเรียน และยังรับผิดชอบส่งเธอเองเรียนสายอาชีพด้วย ภาระทุกอย่างอยู่ที่น้าสาวคนเดียว เมื่อน้าไม่สบายหนักมา 2-3 เดือน จึงไม่มีรายได้ ไม่มีแรงทำขนม ยังดีที่เพื่อนบ้านและญาติๆ ช่วยให้เงินลูกๆ และตัวเธอไปโรงเรียนบ้าง แต่เมื่อวันนี้มาทราบเรื่องค่าผ่าตัดเกือบ 1 แสนบาท ก็ได้แต่ร้องไห้ เพราะไม่มีทางออกจริงๆ
เรื่องราวของ นูรไอนี ชัดเจนว่าครอบครัวของเธอต้องเป็นหนี้ เพราะทั้งหมอและเจ้าหน้าที่พยาบาลพูดตรงกันชัดเจน ไม่ได้ฟังผิด
แต่เรื่องยุ่งๆ ไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อวาน เจ้าหน้าที่เรียกญาติผู้ป่วยไปคุย และขอให้เซ็นรับทราบค่าใช้จ่ายล่าสุดว่าเท่าไหร่แล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายก็เพิ่มจาก 86,000 บาท เป็น 9 หมื่นกว่าบาท โดยย้ำว่าไม่ใช่การเซ็นรับสภาพหนี้ แต่เมื่อเซ็นไปแล้ว กลับกลายเป็นการเซ็นรับสภาพหนี้ไปเรียบร้อย
“ยังงงไม่หาย เพราะตอนแรกบอกรักษาฟรีตาม ‘สิทธิบัตรทอง’ แต่พอผ่าตัดเสร็จมาบอกค่าใช้จ่าย 86,000 บาท ตอนนี้งงกว่าเดิม เพราะเจ้าหน้าที่เรียกไปพบ อ้างว่าเป็นการทำเรื่องขอเข้าโครงการของโรงพยาบาลให้ช่วยเรื่องค่ารักษา โดยให้รอผู้อำนวยการโรงพยาบาลอนุมัติ แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า เป็นเอกสารยอมรับว่าพร้อมจ่ายเงินค่ารักษา ค่าใช้จ่ายล่าสุดเพิ่มเป็น 9 หมื่นกว่าบาท รู้สึกแปลกใจว่าทำไมไม่บอกกันตรงๆ”
นูรไอนี ยังตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอธิบายว่า ค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเบิกได้ เป็นค่าเครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษ เบิกจาก “สิทธิบัตรทอง” ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้นำเอกสารอะไรมาให้ดู ได้แต่พูดปากเปล่า
นูรไอนี บอกด้วยว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่มีทางออก ก็อยากจะวิงวอนขอผู้ใจบุญให้ช่วยเหลือด้วย เพราะน้าสาวก็ยังไม่รู้สึกตัว โดยสามารถติดต่อมาที่เบอร์โทรศัพท์ 096-3803679 หรือสามารถโอนเงินช่วยเหลือได้ที่ บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อ นางสาวปาตีเมาะ มีเด็ง เลขที่ บัญชี 933-0-44605-1
@@ จนท.โรงพยาบาลแนะขอเข้าโครงการช่วยค่ารักษา
“ทีมข่าว” ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ได้รับคำตอบว่า ไม่แน่ใจเรื่องที่ญาติบอกว่าไม่สามารถรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ แต่ผู้ป่วยยังอาการโคม่า ถ้ามีการรักษาต้อง มีค่าห้องผ่าตัด หรือยานอกระบบที่ไม่สามารถเบิกได้ ก็ยังไม่แน่ใจในส่วนนี้ แต่ในเบื้องต้นถ้าครอบครัวไม่มีเงินจ่าย ก็สามารถคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ แต่ทางโรงพยาบาลก็มีขั้นตอนพิจารณาและต้องให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอนุมัติว่าจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่
@@ เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน “บัตรทอง” ต้องรักษาฟรี
ตลอดช่วง 2 วันมานี้ ทีมร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ และผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดยะลา ได้พยายามติดต่อ น.ส.มาเรียม ชัยสันทนะ เจ้าหน้าที่เขตสุขภาพเพื่อประชาชนภาคใต้ แต่ไม่มีใครรับสาย
ด้าน กัลยา เอี่ยวสกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูลว่า ถ้าใช้ “สิทธิบัตรทอง” ต้องรักษาฟรีตามสิทธิ เจ้าหน้าที่เรียกเก็บได้เฉพาะค่าธรรมเนียม 30 บาทเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ไม่ต้องเสีย กรณีฉุกเฉินรักษาที่ไหนก็ได้ เคสนี้ไม่แน่ใจที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร มีสาเหตุอะไรถึงต้องเก็บเงิน เก็บค่าสายสวนหัวใจ หรือเก็บค่ายานอกบัญชียาหลัก
น.ส.รอกีเยาะ อาบู ประธานศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ กล่าวว่า ญาติเล่าว่าก่อนผ่าตัด หมอบอกผู้ป่วยว่าฟรีทุกอย่าง จึงตัดสินใจรักษา แต่พอผ่าตัดเสร็จ เจ้าหน้าที่มาแจ้งเรื่องค่าใช้จ่าย ตอนแรก 86,000 บาท ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่มีการผ่าตัดรอบสอง ตอนนี้ นูรไอนี และลูกๆ ของผู้ป่วยได้แต่ร้องไห้ พวกเขาบอกว่าไม่รู้จะทำอย่างไร