“เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ” คำขวัญประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น “ของดี” ที่ใครๆ ก็รู้จัก
ที่นั่นมีตลาดน้ำน่าเที่ยวมากๆ แต่หลายคนที่ไม่ใช่นักเที่ยวในประเทศตัวยงอาจจะยังไม่รู้จัก นั่นก็คือ “ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้”
ความพิเศษของตลาดน้ำแห่งนี้ก็คือ เป็นตลาดธรรมชาติแท้ๆ ไม่ใช่เปิดตลาดแล้วสร้างธรรมชาติใส่เข้าไปเหมือนที่นิยมทำกันหลายๆ แห่งในปัจจุบัน
ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ อยู่ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำตาปีตรงศาลหลักเมืองไปไม่ไกล ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่ หาง่าย เดินทางสะดวก ตัวตลาดตั้งอยู่ริมคลอง หลังวัดบางใบไม้
ไฮไลต์ของตลาดมี 2 ส่วนด้วยกัน...ส่วนแรกคือ ล่องเรือชมธรรมชาติในคลองบางใบไม้ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก
ตำบลบางใบไม้ เป็น 1 ใน 6 ตำบลจาก 11 ตำบลของอำเภอเมืองสุราษฎร์ ที่ล้อมรอบด้วยน้ำ คนพื้นถิ่นเรียกว่า “ในบาง” พื้นที่ “ในบาง” ในอดีตใช้เรือในการสัญจรไปมา เพิ่งจะเลิกใช้เรือไปไม่นาน เมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำตาปี และตัดถนนเมื่อปี 2535 นี่เอง
ริมคลองบางใบไม้มี “ต้นจาก” ขึ้นหนาแน่น แต่เมื่อชาวบ้านเลิกใช้เรือสัญจร ทำให้ต้นจากโน้มเข้าหากัน กลายเป็น “อุโมงค์จาก”
ต่อมาเมื่อมีการเปิดตลาดน้ำบางใบไม้ และรื้อฟื้นการพายเรือชมทิวทัศน์ธรรมชาติริมคลอง ทำให้กิจกรรมล่องเรือลอด “อุโมงค์จาก” กลายเป็นประสบการณ์แบบ unseen ที่ประทับใจนักท่องเที่ยวทุกคน ทั้งไทย จีน ฝรั่ง
จังหวะที่เสียงพายกระทบน้ำดังจ๋อมๆ พาลำเรือค่อยๆ ล่องผ่านโค้งใบจากหนาทึบเคลื่อนสู่ปลายอุโมงค์ที่มีแสงแดดถักทอรออยู่ไกลๆ ไม่ต่างกับแสงเรืองรองแห่งความหวัง สร้างความชุ่มชื่นใจให้กับทุกผู้คนบนลำเรือ
คนแจวเรือให้เรา คือ “ลุงไก่” ชาวบ้านบางใบไม้โดยกำเนิดที่วันหนึ่งได้กลายเป็นดาราหน้ากล้อง เพราะมีช่างภาพสมัครเล่นถ่ายภาพขณะลุงแกแจวเรือลอดอุโมงค์จาก แล้วส่งภาพนั้นเข้าประกวด จนได้รับเลือกจาก ททท. หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เป็นภาพบนปฏิทินแหล่งท่องเที่ยวที่น่าประทับใจของเมืองไทยในปี 2562
สังเกตดูคนแจวเรือมีทั้งชายทั้งหญิง แต่ละคนล้วนดำรงตำแหน่ง “ส.ว.” หรือ “ผู้สูงวัย” กันถ้วนหน้า ทุกคนเป็นชาวบางใบไม้ และยังแข็งแรง เพราะได้ออกกำลังด้วยการแจวเรือพานักท่องเที่ยวลอดอุโมงค์จากทุกสัปดาห์ เรียกว่าได้ทั้งสุขภาพ และได้เงินขวัญถุงกลับไปเป็นค่าขนมให้ลูกหลาน
ขึ้นจากเรือ...ก็จะพบกับไฮไลต์อีกส่วนหนึ่งของตลาด นั่นก็คือร้านขายของ ส่วนใหญ่เป็นอาหารทั้งคาวหวาน
ความแปลกและแตกต่างของตลาดน้ำบางใบไม้กับตลาดอื่นๆ ก็คือ เกือบทุกร้านเป็นของชาวตำบลบางใบไม้เอง ไม่ใช่ร้านที่ขายอาหารหรือขนมเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว
แต่ละคนที่มาเปิดร้านมีการมีงานทำวันจันทร์ถึงศุกร์ บ้างก็เป็นแม่บ้าน หรืออยู่ในรุ่นคุณตาคุณยายกันแล้ว เมื่อถึงวันอาทิตย์ก็นัดกันมาขายของ ทำอาหาร ทำขนมที่ตัวเองถนัด เหมือนทำทานกันเองที่บ้าน ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น และเป็นอาหารพื้นบ้านแท้ๆ ที่หาทานที่ไหนไม่ง่ายนัก
ร้านยอดนิยมที่ประทับใจผู้ไปเยือน ก็เช่น “หมูพวง” หมูทอดเนื้อนุ่ม รสชาติกลมกล่อมกำลังดี รับประทานกับข้าวเหนียวนิ่ม โฆษกของตลาดกระซิบให้ฟังว่า ร้านหมูพวงที่ตลาดน้ำบางใบไม้ขายดีมาก ช่วงก่อนโควิดที่นักท่องเที่ยวแห่กันมาจากทุกสารทิศ เคยทำรายได้วันละหลายหมื่นบาท
อีกร้านที่คนแวะชิมกันเยอะ ก็คือขนมจีนแกงใต้ ครบทั้งน้ำยา น้ำพริก และผักสดสารพัดอย่าง เติมได้ไม่อั้น เจ้าของร้านเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านหญิง “แหนบทองคำ” คนแรกของบางใบไม้
ใกล้ๆ กันเป็นร้านขายขนมบ้าบิ่น แต่ที่แปลกกว่าที่อื่น คือไส้เต็มไปด้วยมะพร้าว ไม่ใช่เศษมะพร้าวฉีกๆ ใส่เหมือนเจ้าที่เคยทาน แต่เจ้านี้กัดเข้าไปเจอเนื้อมะพร้าวแบบเต็มคำ หอมมันถูกใจ
อาหารจานแปลกต้องยกให้ “เคยจี่” คำว่า “เคย” ในภาษาใต้ก็คือ “กะปิ” ที่คนภาคกลางรู้จักกันดีนั่นเอง แต่ “เคยจี่” ที่บางใบไม้ เป็นเหมือนวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง โดยนำเอาเคยจากกุ้ง ไปจี่ในกะลามะพร้าวที่เป็นกะลาใหม่ๆ จนเคยเกือบจะแห้งติดกะลา ทำให้ “เคย” ที่ผ่านการจี่ มีกลิ่นหอมเตะจมูกไม่เหมือนใคร เพราะผสมทั้งกลิ่นกะปิจะกุ้งชั้นดี กลิ่นมะพร้าว และกลิ่นกะลา
“เคยจี่” เป็นอาหารโบราณที่ชาวบ้านทำเก็บไว้รับประทานในหน้ามรสุมที่เดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงเดือน 11 เดือน 12 ของทุกปีที่เมืองสุราษฎร์
“กะปิ” หรือ “เคย” ไม่ได้มีแค่ “เคยจี่” เท่านั้น แต่ยังมี “เคยเจี้ยน” โดยนำ “เคย” หรือกะปิไปผัดในกระทะ ปรุงรส แล้วตักขึ้นมาใส่กระปุกเก็บไว้ ทานกับข้าวสวยร้อนๆ หรือไข่ต้มก็ได้ อร่อยอย่าบอกใครเชียว
อาหารคาวหวานที่ตลาดแห่งนี้อร่อยจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่อาหารพื้นๆ อย่างกุ้งชุบแป้งทอด อาจด้วยวัตถุดิบสดใหม่จากธรรมชาติ และมาจากฝีมือคนเฒ่าคนแก่ หรือผู้สูงวัยระดับป้าๆ แม่ๆ ในตำบลที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาทั้งชีวิต
อย่าง “ข้าวต้มมัด” ร้านเชิงสะพานข้ามคลองฝั่งวัดบางใบไม้ ก็เป็นฝีมือของคุณป้าซึ่งเป็นคนบางใบไม้โดยกำเนิด ฐานะความเป็นอยู่ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่กำนันขอให้มาช่วยขาย เพื่ออนุรักษ์ “ข้ามต้มมัด” ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่นี่เอาไว้
ลักษณะข้าวต้มมัด เหมือนกับข้าวเหนียวปิ้งในภาคกลาง แต่ห่อด้วยใบจาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น มัดด้วยเชือกกล้วย และใช้กล้วยทั้งลูกทำเป็นไส้
กล้วยที่นี่ก็รสชาติหวานอมเปรี้ยวนิดๆ เป็นเอกลักษณ์ เพราะเป็นกล้วยน้ำกร่อย เมื่อห่อเสร็จก็นำไปเสียบไม้อังไฟ ใช้ไฟจากเปลือกมะพร้าว ไม่ใช้ฟืนหรือเตาถ่าน ทำให้ได้ทั้งรสชาติและกลิ่นหอมมะพร้าวเจือกับใบจากย่างไฟ
“พี่น้ำ” โฆษกตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ บอกว่า ตลาดแห่งนี้เปิดแค่สัปดาห์ละ 1 วัน คือวันอาทิตย์ เพราะพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายของ มาขายแบบเฉพาะกิจ โชว์ฝีมือเป็นเรื่องหลัก รายได้เป็นเรื่องรอง วันเสาร์ก็จะระดมลูกๆ หลานๆ มาช่วยกันเตรียม ช่วยกันทำ หลายคนได้หยุดจากงานประจำ ก็มาช่วยคุณพ่อคุณแม่ ลุงป้าน้าอา พอถึงวันอาทิตย์ก็หอบหิ้วมาขายกัน ถือเป็นตลาดส่งเสริมสถาบันครอบครัวอย่างแท้จริง
ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ เปิดมาได้ 6 ปีแล้ว ช่วงก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวต่อคิวแวะเยือนจนรถติดยาวหลายกิโลเมตรไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำตาปี ผ่านช่วงโควิดแม้จะเงียบเหงาไปบ้าง แต่ก็ยังมีทัวร์จากจังหวัดต่างๆ ในลักษณะทัวร์ท้องถิ่น มาเที่ยวชมเยี่ยมเยียนทุกสัปดาห์ แต่ละคนหิ้วของอร่อยกลับขึ้นรถกันพะรุงพะรัง
“กำนันสาว” จรัญญา ศรีรักษ์ กำนันตำบลบางใบไม้ เป็นทั้งเจ้าของสถานที่ และเจ้าของไอเดียพัฒนาตลาด กำนันเล่าว่าตั้งใจทำให้ตลาดแห่งนี้ให้เป็นตลาดชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้มีรายได้หมุนเวียน อนุรักษ์ภูมิปัญญาของชาวบางใบไม้ และสร้างสำนึกรักบ้านเกิด
“กำนันสาว” เก็บค่าเช่าแผงเพียง 50 บาท ช่วงที่เผชิญโรคระบาดโควิด ก็เปิดให้ขายแบบไม่เก็บสตางค์ เป็นตลาดแห่งน้ำใจและช่วยเหลือเจือจานกันอย่างแท้จริง
หลายคนอ่านชื่อ “กำนันสาว” จรัญญา ศรีรักษ์ อาจสะดุดที่นามสกุล “ศรีรักษ์” นามสกุลเดียวกับผู้ช่วย ผบ.ทบ. พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ เจ้าของฉายา “แม่ทัพกระดูกเหล็ก” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ปฏิบัติภารกิจเข้มแข็ง ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน
“แม่ทัพเกรียง” เคยเผชิญเรื่องร้าย “ฮ.แบล็กฮอว์ก” ลงจอดฉุกเฉินที่ อ.เทพา จ.สงขลา รอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับบาดเจ็บค่อนข้างหนัก ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่ก็ไม่วายยังเซ็นแฟ้มงาน เรียกประชุมผู้ใต้บังคับบัญชาแม้ในช่วงพักฟื้น ปัจจุบันกลับมาเดินคล่อง ทำงานให้กองทัพได้เต็มกำลังเหมือนเดิม
บ้านเกิดของ “แม่ทัพเกรียง” ก็คือที่ตั้งของตลาดน้ำบางใบไม้ที่เรากำลังเที่ยวชมกันอยู่นี่เอง...
หลังมีตลาดน้ำ...คนบางใบไม้ที่ไปอยู่และทำงานต่างถิ่น พากันกลับบ้านแบบไม่ได้นัดหมายอย่างไม่น่าเชื่อ
“พี่น้ำ” ผู้รับหน้าที่โฆษกของตลาด เคยเปิดร้านแนวบันเทิงยามค่ำคืนอยู่ที่กรุงเทพฯ โด่งดังและทำร้ายได้ไม่น้อยเลย แต่วันนี้เลือกกลับมาใช้ชีวิตสงบและเรียบง่ายที่บางบางใบไม้ เพื่อดูแลแม่ผู้บังเกิดเกล้าในวัยชรา
เช่นเดียวกับ “ลุงไก่” คนแจวเรือในปฏิทิน ททท. ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยเอเชีย ย่านหนองแขม และเคยไปทำงานที่เยอรมันอยู่หลายปี แต่วันนี้กลับมาแจวเรือที่บ้านเกิด “ลุงไก่” บอกว่า เงินทองไม่สำคัญเท่าเพื่อนพ้อง มิตรภาพ และจิตใจ
“อยู่บางใบไม้หายใจได้เต็มปอด แวดล้อมไปด้วยครอบครัว มิตรสหาย เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ความสบายใจสำคัญที่สุด” เป็นตำราชีวิตของ “ลุงไก่” ที่อาจสะท้อนใจใครหลายๆ คน
เสร็จจากเที่ยวชมตลาด ข้ามคลองไปฝั่งวัดบางใบไม้ เจอร้านข้าวต้มมัดขนมจากที่เล่าให้ฟัง แม้จะห่อด้วย “ใบจาก” แต่รสชาติอร่อยจนไม่อยากเดินจากไป...
ก่อนกลับแวะไหว้ “หลวงพ่อข้าวสุก” รูปปั้นพระภิกษุนั่งสมาธิที่ปั้นจากข้าวก้นบาตร อายุกว่าร้อยปี เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่ตำบลของชาวบางใบไม้ กราบพระ ทำบุญ ขอพร และสงบจิตใจ...
เรียกว่าอิ่มทั้งท้อง อิ่มทั้งใจ อิ่มทั้งบุญ.
ล่องเรือลอดอุโมงค์จาก และร้านน้อยใหญ่ในตลาดน้ำบางใบไม้