เฮกันลั่น ฮากันขรม แห่ชมการแข่งขันชกมวยตับจาก แข่งพายเรือกะละมังพลาสติก กีฬาพื้นบ้านเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม สีสันงานประเพณีชักพระ 2 แผ่นดินไทย-มาเลเซีย
ควันหลงจากงานประเพณีชักพระ 2 แผ่นดินไทย-มาเลเซีย ประจำปี 2565 ที่จัดขึ้นใน อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 11-13 ต.ค.65 ที่ผ่านมา เพื่อสืบสานอนุรักษ์ประเพณีชักพระ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ พร้อมทั้งได้ร่วมทำบุญเรือพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลนั้น
สีสันของงานประเพณีชักพระ 2 แผ่นดินไทย-มาเลเซีย ที่ดึงความสนใจและเรียกเสียงเฮฮาจากประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาร่วมงานมากที่สุด อยู่ที่การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน 2 ชนิด คือ การแข่งขันชกมวยตับจาก และการแข่งขันพายเรือกะละมังพลาสติก
โดยการแข่งขันชกมวยมวยตับจาก จัดขึ้นในวันที่ 12 ต.ค.ที่บริเวณสวนน้ำเทศบาลเมืองเบตง ชาวอำเภอเบตงและนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวมาเลเซีย แห่เข้าชมและเชียร์การแข่งขันชกมวยตับจากกันเป็นจำนวนมาก
“กีฬาชกมวยตับจาก” เป็นการละเล่นพื้นบ้านของไทย ซึ่งสมัยก่อนจัดขึ้นตามงานวัด งานบุญประเพณีสำคัญต่างๆ แต่สมัยนี้เริ่มหาดูยากแล้ว โดยชาวบ้านจะนำ “ตับจาก” ที่ใช้มุงหลังคามาเป็นพื้นเวที เพื่อให้นักมวยได้ชก โดยก่อนทำการชก นักมวยทั้งคู่ต้องผูกตาด้วยผ้า และจับให้อยู่คนละมุม เมื่อตีระฆังสัญญาณเริ่มชก นักมวยจะเดินออกจากมุมเพื่อหาคู่ต่อสู้และต่อยกัน โดยนักมวยจะอาศัยการฟังเสียงเดินเหยียบตับจากของคู่ชก ฟังเสียงลั่นกรอบๆ แกรบๆ ของใบจากที่ปูไว้ เพื่อจับทิศทางของคู่ต่อสู้ เมื่อมีเสียงดังขึ้นมา ทั้งคู่ก็จะเข้าสาวหมัดใส่กัน ชกผิด ชกถูก เป็นที่ตลกโปกฮาและสนุกสนานของผู้ชม
นักมวยแต่ละคู่จะแลกหมัดกันอย่างดุเดือด แต่ความสนุกสนานที่เรียกเสียงฮาเกิดจากการต่อยผิดต่อยถูกของนักมวย บางทีคิดว่ากรรมการคือคู่ต่อสู้ จึงชกสวนไปอย่างต่อเนื่อง โชคดีที่กรรมการหลบหมัดได้ ท่ามกลางเสียงเชียร์ดังลั่น จนกรรมการหยุดชกแล้วบอกว่า ตัวเองคือกรรมการ เรียกได้ว่ากว่าจะห้ามได้เล่นเอาแย่เลยทีเดียว
ส่วนในวันที่ 13 ต.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานประเพณีชักพระ 2 แผ่นดิน มีการแข่งขันพายเรือกะละมังพลาสติก ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของกิจกรรมที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก และบรรยากาศการแข่งพายเรือ จะขาดไม่ได้ก็ต้องคนพากย์ ซึ่งงานนี้ นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง โชว์ลีลาการพากย์ด้วย
วิธีการแข่งขันจะแบ่งผู้เข้าแข่งขันเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน ผู้แข่งขันจะลงไปนั่งตรงกลางกะละมังพลาสติกขนาดใหญ่ พร้อมสวมเสื้อชูชีพ จากนั้นจะพายเรือกะละมังระยะทางประมาณ 20 เมตร ใครถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ โดยผู้แข่งขันจะต้องใช้ทักษะในการพายกะละมังให้เคลื่อนไปข้างหน้า
แต่ด้วยกะละมังที่มีลักษณะกลม จึงทำให้กะละมังของผู้แข่งขันหลายคนหมุนเป็นวงกลม ลู่ใครไม่รู้ พายตัดลู่กันไปมา บ้างก็พายแล้วไม่ไปข้างหน้า แต่หมุนอยู่ที่ ผู้แพ้กว่าจะเข้าเส้นชัยได้ พายออกนอกลู่ไปไกลกว่าจะกลับมาเข้าเส้นชัย บางคนกะละมังล่มจมน้ำ ถึงกับเดินในน้ำเข็นกะละมังเข้าเส้นชัย เนื่องจากระดับน้ำสูงไม่ถึง 1 เมตร
การแข่งขันเป็นไปด้วยความสนุกสนานเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากกองเชียร์ที่นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาดีดสีตีเป่ากันอย่างครึกครื้น ถือเป็นการอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านและประเพณีท้องถิ่นภาคใต้ในงานชักพระ เทศกาลออกพรรษา และก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี ของคนในพื้นที่ทั้งสองแผ่นดิน