“ความระยิบระยับของชายหาดอ่าวปัตตานีเมื่อมองมาจากท้องทะเล” FIELD WORK โดย thingsmatter X subper เป็นส่วนหนึ่งของงานที่จะแสดงในงาน Pattani Decoded ระหว่างวันที่ 2-4 ก.ย.65 ในความหมายของผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยกระจกเงาจำนวน 625 ชิ้น ในพื้นที่ 50X50 เมตร ของนาเกลือแหลมนก บ้านบานา เมืองปัตตานี
จุดเริ่มต้นของงานนี้มาจากบทสนทนาถึงเรื่องเล่าในอดีตของอ่าวปัตตานี โดยเฉพาะความสำคัญของการทำนาเกลือในพื้นที่ที่ถูกบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ และที่เป็นที่มาของชื่อตำบลตันหยงลุโละ ที่ว่าหาดทรายบริเวณอ่าวปัตตานีนั้นมีความระยิบระยับสวยงามดั่งเพชรพลอย มองเห็นได้จากนักเดินเรือที่มองมาจากท้องทะเล ซึ่งเป็นปรากฏการณ์อันเกิดจากการสะท้อนของแสงแดดกับเกล็ดและดอกเกลือในนาที่ห้อมล้อมบริเวณอ่าวปัตตานีนั่นเอง
ผู้ชมงานจะได้สัมผัสกับความระยิบระยับของแสงอาทิตย์ที่ทอดทำมุมสะท้อนกับกระจกเงาที่ติดตั้งในมุมองศาต่างๆ กัน งานชิ้นนี้เป็นเสมือนการจำลองปรากฏการณ์บนสถานที่เดิมซึ่งเคยถูกบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นโอกาสให้ผู้ชมได้เดินลงไปสัมผัสกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่งดงามของนาเกลือที่มีพื้นน้ำเป็นกระจกเงาผืนใหญ่สะท้อนท้องฟ้าและแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างๆ ของวัน สามารถเดินชมงานได้ตลอดวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นก่อนพระอาทิตย์ตก เนื่องจากตัวชิ้นงานนั้นหันหน้าหลักไปทางทิศตะวันตก เพื่อให้ผู้ชมได้ชมแสงพระอาทิตย์ตกผ่านเงาสะท้อนในกระจกของตัวงานด้วย
FIELD WORK เริ่มต้นจากบทสนทนาระหว่างศิลปินนอกพื้นที่ (คุณศาวินี บูรณศิลปิน) และภายในพื้นที่ (คุณราชิต ระเด่นอาหมัด) โดยหวังว่างานชิ้นนี้จะทำให้เกิดบทสนทนาอีกมากมายเกี่ยวกับนาเกลือและเกลือหวานของปัตตานีในแง่มุมที่หลากหลายและแปลกใหม่ ไม่เพียงแต่ในเชิงประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวัฒนธรรมอาหารการกินของพื้นที่ที่เป็นมรดกที่มีคุณค่าแก่การศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาต่อไป แต่ในอีกหลายๆ แง่มุม เช่น ศิลปะและงานสร้างสรรค์ร่วมสมัยที่ทำงานร่วมกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่น่าตื่นเต้นอีกมากมาย
ก่อนเริ่มงาน มีการแถลงข่าวความพร้อมของการจัดงาน...
“มีงานบางส่วนที่ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย สามารถเข้าชมก่อนงานได้อย่างงาน Field work ที่แหลมนก และก่อนวันที่ 2 ก.ย. ทุกอย่างจะเสร็จเรียบร้อย งานบางชิ้นจะจัดแสดงต่อไปอีกประมาณหนึ่งเดือนเพื่อให้คนที่สนใจเข้ามาชม” ราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานฝ่ายออกแบบงาน Pattani Decoded 2022 ยืนยันความพร้อมของงาน
ฮาดีย์ หะมิดง ประธานจัดงาน กล่าวว่า ปีนี้เราเลือกประเด็นที่คนปัตตานีหรือคนสามจังหวัดคุ้นเคยอย่างดี คือเกลือหวานปัตตานี เพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นอาชีพที่คนที่นี่ ริมทะเลฝั่งนี้ทำมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี ส่งต่อให้คนจากที่ต่างๆ ได้ชิม ได้กิน ประกอบอาหาร ได้ทำอะไรอีกหลายอย่าง ได้เป็นตู้เย็นถนอมอาหารในยุคสมัยก่อน แต่จากที่เคยขายดี เคยรุ่งเรือง ทำกันหลายพันไร่ แต่ ณ พ.ศ.นี้คนทำน้อยลง พื้นที่ทำนาเกลือก็น้อยลง เราเองซึ่งฟังเรื่องราวของเกลือหวานตั้งแต่เด็กรู้สึกว่านี่คือสิ่งสำคัญ เราต้องทำอย่างไรต่อ นี่เป็นโจทย์สำคัญว่าเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรกับมรดกทางวัฒนธรรมที่เรามี
งาน Pattani Decoded ปีนี้มีกิจกรรมหลักๆ คือ นิทรรศการที่ชวนนักแบบมาตีความและออกแบบต่างๆ ในย่านเมืองเก่า และที่นาเกลือ แหลมนก, เวิร์กช็อป มีศิลปิน นักสร้างสรรค์ต่าง ๆ มาเปิดเวิร์กชอป เช่น การย้อมผ้า การเขียนค็อต การสเก็ตช์ภาพต่างๆ , เดย์ทริป ซึ่งถือว่าเป็นทริปพิเศษสำหรับคนที่สนใจ
“เราจะพาคนที่สนใจเข้าไปในชุมชนที่ทำนาเกลือ เข้าไปชิมขนมของชุมชนที่เขาไม่ได้มีแค่เกลือ แต่เขามีขนม เขามีสตอรี่ มี Salt market ให้คนนำสินค้ามาวางขาย สินค้าที่เกี่ยวกับเกลือ มีเชฟ เทเบิล ที่จะเอาเมนูพื้นถิ่น วัตถุดิบในพื้นที่มาเป็นเมนูสูตรพิเศษที่จะเปิดให้ขายให้คนที่สนใจเร็วๆ นี้” ประธานจัดงาน กล่าว
ความพิเศษของเชฟ เทเบิล อีกอย่างคือ Pattani Decoded ร่วมกับ ม.อ.ปัตตานี จัดเชฟเทเบิลให้กับเด็กๆ ที่ ต.ตาลีอาย อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ด้วย
รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า “ทางมหาวิทยาลัยทำโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนอยู่ในพื้นที่ของปัตตานี เราได้เชื่อมโยงกับงานนี้ เรื่องของเชฟที่มาทำกิจกรรมในงานนี้ ให้เชฟไปช่วยจัดอาหารให้กับเด็กที่ ต.ตาลีอาย อ.ยะหริ่ง จำนวน 60 คน เด็กกลุ่มนี้กินยาก พร่องสารอาหาร บางคนอาจจะด้วยภาวะของครอบครัว หรือภาวะของการกินที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นจะเป็นการทดสอบว่าเด็กของเรากินอาหารพื้นถิ่นได้ อะไรที่เขาชอบ อะไรที่เขากินแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย เด็กถือเป็นทุนเป็นมรดกของพวกเราด้วยเช่นกัน เด็กรุ่นนี้จะเป็นคนสืบสานวัฒนธรรมนี้ต่อไป”
การถอดรหัสเกลือหวานปัตตานีครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแค่การถอดรหัสออกมาเป็นงานออกแบบที่จัดแสดงโชว์เท่านั้น แต่เป็นการกระตุ้นให้ผู้คนเข้ามาท่องเที่ยว มาชมงานในสถานที่ต่างๆ ด้วย
นวพร ชัวชมเกตุ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส กล่าวว่า “เพียงแค่ชื่อก็น่าสนใจแล้วว่า Pattani Decoded มีการถอดรหัสปัตตานีในมุมมองที่หลากหลาย การทำงานออกมาในมิตินิทรรศการ งานเวิร์กช็อป หรือไปสู่งานอื่นๆ ให้เกิดการท่องเที่ยวได้ แน่นอนอยู่แล้วว่าการท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุกมิติในการตีความออกมาที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงแต่ละมุมมองของการตีความของนักออกแบบ
“การนำเกลือมาเป็นคอนเทนท์ในการแตกย่อยออกไปแล้วให้นักท่องเที่ยวเองได้เสพในแต่ละมิติ เรามองว่ามันสามารถให้ได้ทุกกลุ่มวัย ทุกมิติ มองว่านักท่องเที่ยวที่มีความชอบแตกต่างกันสามารถเข้าถึงในเรื่องของงานในภาพรวมทั้งหมดได้ การหยิบยกเรื่องเกลือขึ้นมา ซึ่งเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาเป็นตัวเล่าเรื่องราวและทำให้เกิดเรื่องราวของท่องเที่ยวได้ เข้ามาในพื้นที่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ดีและชื่นชมในแนวคิดที่ทำให้เกิดงานรูปแบบนี้ โดยมีการดึงต้นทุนของพื้นที่เข้ามาปรับให้มีความทันสมัย ร่วมสมัย และเหมาะกับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มวัยที่สามารถเข้าไปเสพงานได้ทุกมิติ” นวพร กล่าว
กิจกรรมข้างเคียงของ Pattani Decoded คือ โครงการ DS YOUNG FILMMAKER II จัดฉายหนังสั้นซึ่งเป็นผลงานของเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดด้วย วันที่ 3-4 ก.ย เวลา 13.00-17.30 น. ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี