เกิดความสงสัยกันอย่างถ้วนหน้า...พลันที่สถานสงเคราะห์เด็กชายจังหวัดยะลา โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคขนม นม เครื่องดื่ม ข้าวสาร อาหารแห้ง และผลไม้ ให้เด็กในความอุปการะ
สาเหตุที่งุนงงสงสัย เพราะสถานสงเคราะห์เด็กชายแห่งนี้ เป็นหน่วยงานรัฐ คำถามก็คือเกิดอะไรขึ้นถึงต้องประกาศรับบริจาค
“ทีมข่าวอิศรา” โทรศัพท์สอบถาม น.ส.ชมฤดี นาทะศิริ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กชายจังหวัดยะลา ได้ความว่า ช่วงนี้เด็กเรียนออนไลน์ ที่ผ่านมาโรงเรียนเปิดเรียนปกติได้ไม่นาน ตอนนี้ก็ต้องปิดอีกเพราะโควิด เมื่อโควิดเยอะ ก็ไม่อยากให้เด็กออกไปไหน ทำให้ทางสถานสงเคราะห์ฯต้องจัดหานม ขนม และผลไม้ให้เด็กๆ
“เมื่อก่อนตอนที่เด็กๆ ออกไปโรงเรียนข้างนอกสถานสงเคราะห์ (ตัวสถานสงเคราะห์รับดูแลเด็กเหมือนเป็นบ้านเท่านั้น ส่วนเรื่องการศึกษา ต้องไปหาเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่) เขาก็พอที่จะซื้อขนมตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายขนมข้างนอกเองได้ แต่พอโควิดเยอะ เราก็ไม่อยากให้เขาออกไป เราก็ต้องหานม ขนม ผลไม้ มาให้เขาทานกัน” น.ส.ชมฤดี กล่าว
สำหรับเด็กที่อยู่สถานสงเคราะห์เด็กชายจังหวัดยะลา ส่วนมากเป็นเด็กที่ประสบปัญหาสังคม กำพร้า ไม่มีพ่อแม่ หรือแม้จะไม่กำพร้า แต่ถูกทำร้ายหรือเลี้ยงดูไม่เหมาะสม นอกจากนั้นยังมีกลุ่มที่พ่อแม่ป่วย เลี้ยงดูไม่ได้ รับเฉพาะเด็กผู้ชายล้วน อายุระหว่าง 6-24 ปี ทั้งหมด 63 คน แยกเป็นเด็กที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 20 กว่าคน ที่เหลือนับพถือพุทธ และศาสนาอื่น
“เด็กรุ่นนี้กำลังเจริญเติบโต เขากินได้เยอะขึ้น ข้าวสาร 1 กระสอบกินได้ 2 วันเท่านั้น ค่าอาหารแต่ละวันของหลวงก็สามารถเบิกได้ปกติ คนละ 57 บาทต่อวัน กิน 3 มื้อ มันก็รวมทั้งข้าว ค่าแก๊ส ค่ากับข้าวก็ไม่พอ เพราะฉะนั้นถ้าเราได้รับบริจาคจากข้างนอกมา ก็ทำให้เด็กได้กินเยอะขึ้น เพราะโรงเรียนปิดเขาก็อยู่แต่ข้างบนบ้านตลอด 100% ทำให้ เขามีเวลาเล่นเยอะขึ้น กลางคืนก็นอนดึก พอนอนดึกก็หิว เราก็ไม่อยากให้เขาลงมาหรือออกไปซื้อของข้างนอก ก็เลยไม่ให้ออกไปไหน อยู่แต่ข้างบนบ้าน เด็กออกไปไหนไม่ได้ ทำให้เด็กต้องกินเยอะกว่าปกติ” ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ฯ อธิบาย
ส่วนการรับบริจาค สถานสงเคราะห์ฯ ขอเป็นข้าวสาร ขนม นม และอาหารที่เก็บได้ ส่วนเงินสด ถ้าเป็นไปได้ ทางสถานสงเคราะห์ฯไม่อยากรับ เพราะอาจมีปัญหาเรื่องการใช้จ่าย แต่ถ้าได้เป็นนม ขนม เด็กจะได้กินนมกล่อง
“งบหลวงไม่พอที่จะซื้อนม เราจะให้เด็กกินนมกล่องก็ตอนที่มีคนมาบริจาค ก็พอให้เด็กได้กินบ้าง แต่ถ้าเกิดไม่มีใครให้ ก็ไม่ได้กิน เราจะซื้อก็ไม่มีเงินพอ เพราะต้องเอาเงินไปซื้อข้าวสารซื้อกับข้าวก่อน” ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ฯ กล่าว
ด้าน นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ช่วงนี้เด็กเรียนออนไลน์ ทำให้เด็กอยู่แต่ในสถานสงเคราะห์ฯ จึงทานอาหารกันเยอะ ออกไปไหนไม่ได้ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ฯ จึงต้องบริหารจัดการปัญหา
ขณะที่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา ให้ข้อมูลว่า สถานสงเคราะห์แห่งนี้ ปกติจะมีคนเข้าไปเยี่ยม ทำบุญบริจาคกันอยู่แล้ว เพราะเด็กที่อยู่ในบ้านเป็นเด็กกำพร้า ยากจน แต่เพราะสถานการณ์โควิด น่าจะมีคนบริจาคน้อยลง ประกอบกับ สถานสงเคราะห์ฯได้ค่าอาหารต่อคนต่อวันเพียงแค่ 57 บาท ต้องกิน 3 มื้อ
“ที่สถานสงเคราะห์ฯอยู่ได้ เพราะมีคนบริจาคข้าวสาร ก็ไม่ต้องซื้อ เอาค่าข้าวสารมาเป็นค่ากับข้าวแทน นอกจากนั้น เด็กในสถานสงเคราห์ฯ ก็ทำของขายบ้างในบางช่วง เขาเพิ่งเปิดตัว ชื่อ ‘ร้านคุณชายรถรุน’ เป็นการพัฒนาศักยภาพเด็กให้มีอาชีพ มีรายได้”