ในห้วงเวลาที่ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น ยิงปะทะ และจบลงที่การวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง กำลังถูกวิจารณ์และตั้งคำถามเชิงท้าทายอย่างมากกับฝ่ายความมั่นคงนั้น
มีวงประชุมของคณะที่ปรึกษาด้านการเสริมสร้างความยุติธรรมเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังข้อเสนอแนะให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง
วงประชุมนี้มี พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน ร่วมกับ พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี, นายสมนึก พรหมเขียว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, ผู้บังคับหน่วยกำลังต่างๆ ทั้งหน่วยเฉพาะกิจและกองกำลังทหารพรานในพื้นที่ชายแดนใต้ ตลอดจนคณะที่ปรึกษาด้านการเสริมสร้างความยุติธรรมที่เป็นผู้นำศาสนา รวมๆ แล้วกว่า 300 คน
แม่ทัพภาคที่ 4 ได้พูดถึงประเด็นอ่อนไหวเรื่องการวิสามัญฆาตกรรม หลังการปิดล้อมตรวจค้นผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการแสดงทัศนะกันอย่างหลากหลาย
@@หัวใจผมไม่เปื้อนเลือด
พล.ท.เกรียงไกร กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีนโยบายจะต้องวิสามัญฆาตกรรม เมื่อเกิดเหตุการณ์จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปโน้มน้าว พูดคุยให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงออกมาจากที่ซ่อน ต้องเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ประมาณการไม่ได้เลยว่า ข้างในมีกี่คน มีกระสุนเท่าไหร่ แต่เมื่อถูกยิงสวนออกมา เจ้าหน้าที่ก็ต้องตอบโต้ ซึ่งในกรณีต่อไปทางเจ้าหน้าที่จะอดทนให้มากขึ้น
“ลูกน้องผมก็โดนกระสุน ผมหัวใจไม่เปื้อนเลือดแน่นอน ผมหลั่งน้ำตาเช่นกันเมื่อเกิดความสูญเสีย ไม่ว่าใครสูญเสียย่อมมีผลกระทบแน่นอน ซึ่งในกรณีเคสที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส กำลังอยู่ในระยะการซ่อมแซมบ้านที่เสียหาย ส่วนเรื่องคดีก็ต้องว่ากันไปตามพยานหลักฐาน”
@@ แฉมีข่มขู่ผู้นำศาสนาที่ช่วยเจรจา
พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 กล่าวว่า วันนี้ทุกภาคส่วนพยายามหาทางออกให้แก่ผู้กระทำผิดตามแนวทางสันติวิธี ทั้งเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดเข้ามาพูดคุย เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ลดการเข้าบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องเข้าบังคับใช้กฎหมาย ก็ได้ดำเนินการจากเบาไปหาหนักตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด
“เราเปิดทางออกด้วยการมอบตัวและอำนวยความสะดวก เกือบทุกคนที่วิสามัญฯ ผ่านการติดต่อมาแล้วเกือบทั้งสิ้น แต่เขาไม่มา จึงมีการบังคับใช้กฎหมาย ในอดีตมีผู้นำศาสนาที่ช่วยเกลี้ยกล่อม แต่ตอนนี้ก็ถูกข่มขู่ บางเหตุการณ์พ่อแม่ผู้กระทำผิดให้ความร่วมมือดีมาก ตอนนี้การสูญเสียน้อยลง หากไม่มีเลยจะดีกว่า ไม่พอใจตรงไหนให้มาคุยกัน”
ผอ.ศูนย์สันติวิธี กล่าวอีกว่า ในภาคการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เป้าหมายคือการร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราต้องร่วมมือกันในประเด็นเหล่านี้ด้วย
1.มีการข่มขู่ผู้นำศาสนา ถ้าใครไปเกลี้ยกล่อมให้ออกมามอบตัว เป้าหมายเพื่ออะไร
2.การดูหมิ่นเรื่องศาสนา บุคคลสุดโต่งทางศาสนา จะหยุดอย่างไร ทางออกจากการปิดล้อมตรวจค้น คุยกันได้หรือไม่ การพูดคุยที่ดีที่สุดคือคุยกันเอง สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เปิดเวทีทุกพื้นที่ให้ผู้เห็นต่าง
@@ ไม่คิดปะทะ แต่โดนยิงก่อน
พ.อ.อิศรา จันทะกระยอม ผู้บังคับกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า “ผมไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย ผมไม่ปะทะก็ได้ ให้ล้อมให้หมด ให้เขาออกมาให้ได้ แต่เขาออกมาแล้วยิง มีปืน 3 กระบอก รถเกราะหนาสี่ชั้นถูกยิงเป็นรูหมด ลูกน้องก็ถูกยิง (เหตุการณ์ปิดล้อมยิงปะทะที่บาโงระนะ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส) เราจะทำอย่างไรกับสามเคสที่เกิดขึ้นทั้ง ปากู (ทุ่งยางแดง ปัตตานี) ละหาร (สายบุรี ปัตตานี) และบาโงระนะ (ระแงะ นราธิวาส)”
@@ อย่าใช้ผู้นำศาสนาไปกล่อม
บาบออาซิส ยานยา หนึ่งในคณะที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาต้องจัดระบบให้เป็นปัจจุบัน ประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของแม่ทัพและแม่ทัพน้อยที่จริงจัง ลงพื้นที่ตลอด ต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจ การปะทะต้องเคลียร์ ให้พ่อแม่หรือญาติมาจัดการเกลี้ยกล่อม ต้องใช้ความละเอียดอ่อน อย่าเอาผู้นำศาสนามาเกลี้ยกล่อม เพราะทำให้เสียหาย
@@ หยุดเพ่งเล็งคนแห่ศพเท่าไหร่
นายอับดุลอาซิ เจะมามะ ผู้ร่วมประชุมจาก จ.นราธิวาส กล่าวว่า ไม่มีคำว่าสายในการเริ่มต้น การสูญเสียในวันนั้น หากเจ้าหน้าที่รอให้ถึง 24 ชั่วโมง น่าจะเกลี้ยกล่อมสำเร็จ ในการพูดเกลี้ยกล่อม ควรเป็นการพูดที่ห่างไกลจากพื้นที่ปะทะตรงนั้นมากกว่าที่เห็น
“รัฐไม่ควรเพ่งเล็งว่า มีคนไปร่วมแห่ศพจำนวนเท่าไหร่ เชื่อว่าวันนี้น้ำกำลังเดือดมาก จะทำอย่างไรให้น้ำหายเดือด เพราะจะกลายเป็นน้ำบริสุทธิ์ ทุกคนต้องการความสงบ ให้เป็นพื้นที่ที่สงบสุข สวยงาม อุดมสมบูรณ์”
@@ เข้าให้ถึงก่อนค่อยพูด...อย่าใส่ร้าย
บาบอเฮง จากโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลาม หรือ “ปอเนาะพ่อมิ่ง” เล่าว่า “อุซตาสอัสมิง บากา ซึ่งเป็นอุซตาสของโรงเรียนถูกเชิญตัวไปเดือนกว่าๆ เจ้าหน้าที่ที่มาสอบสวนได้ถามว่า ปอเนาะพ่อมิ่งสร้างโน่นสร้างนี่ เอาเงินมาจากไหน ผมจะบอกให้ทราบว่า นี่คือการเข้าไม่ถึงชาวบ้าน ให้เข้าถึงก่อนแล้วค่อยพูด อย่าใส่ร้าย มันผิดหลักศาสนา”
“เรามีรายได้จากสวนยาง 433 ไร่ ปาล์ม 200 ไร่ เก็บ 1,000 บาทต่อเดือนต่อไร่ของสวนยาง ส่วนสวนปาล์มตัดทุก 20 วัน ประมาณ 30,000-40,000 ตัน ราคาดีในช่วงนี้ เราได้ปีละ 4,860,000 บาท นี่คือรายได้ของเรา ปีนี้ได้กู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์จาก สช. (สำนักงานการศึกษาเอกชน) มาอีก 18 ล้านบาท ได้สร้างหอพักนักเรียน มัสยิด 720 ห้อง เก็บห้องละ 200 บาท รายได้ทั้งหมด 9,895,000 บาท ผมไม่เคยรับเงินจากภายนอก ศิษย์เก่าที่โดนยิงตายผมไม่เคยไปเยี่ยม ไม่ใช่นโยบายของเรา”
@@ แนะปิดล้อมให้นานขึ้น การฆ่าคือการปลุกระดม
ผู้นำศาสนาอีกคนในที่ประชุม กล่าวว่า ไม่อยากเห็นความสูญเสีย จากช่วงหลังที่มีการปิดล้อมและวิสามัญฯ ทำอย่างไร ให้เบาบางและลดลง คิดว่าถ้าใช้เวลาอีกนิดอาจจะสำเร็จ
“เขาอาจจะมอบตัวก็ได้ มีความอดทนให้มากขึ้น การฆ่าให้ตายเป็นการปลุกระดมให้เกิดอีกเป็นหมื่นคน สิ่งเดียวที่ยังไม่เกิดขึ้นในบ้านเราคือการพลีชีพ”
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะอื่นๆ จากผู้เข้าร่วมประชุม เกี่ยวกับการปิดล้อมตรวจค้นผู้ต้องสงสัย เช่น ให้นำมัยยิต (ศพผู้เสียชีวิต) ออกจากที่เกิดเหตุเร็วขึ้น, การวิสามัญฯ ต้องคิดว่าการปฏิบัติการต้องจากหนักไปหาเบา ให้ใช้แก๊สน้ำตาต่อผู้ก่อเหตุก่อน ฯลฯ เป็นต้น