วันเด็กที่ชายแดนใต้เงียบเหงา เพราะสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ไม่น่าไว้ใจ
เด็กๆ เรียนที่โรงเรียนยังแทบไม่ได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดงานวันเด็กให้หนูน้อยนับสิบนับร้อยคนไปเที่ยวเล่นด้วยกัน
ในโอกาสวันเด็กเหงาๆ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมลูกชายของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หมดสติและเสียชีวิตหลังถูกคุมตัวเข้ากระบวนการซักถามในค่ายทหาร และยังถือโอกาสให้กำลังใจ ซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะด้วย ที่บ้านหลังเก่าใน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
ซูไมยะห์ เผยความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจที่มีคนมาเยี่ยม เพราะไม่มีใครมาเยี่ยมเป็นคณะแบบนี้นานแล้ว ขอบคุณ พ.ต.อ.ทวี และพรรคประชาชาติที่ไม่ลืมพวกตน ทุกวันนี้มีรายได้จากการตัดเย็บเสื้อผ้า และรับจ้างทั่วไป เพื่อหาเลี้ยงลูกทั้งสองคน
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงความพยายามขององค์กรภาคประชาสังคม และ ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ในการร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ พร้อมทั้งฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการเยียวยา และให้ทุนการศึกษาแก่บุตรของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ทั้ง 2 คน เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้เรียนหนังสือต่อไป
สำหรับนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 ก.ค.62 และส่งตัวไปเข้ากระบวนการซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต่อมาเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค. (หลังถูกควบคุมตัวไม่ถึง 24 ชั่วโมง) เจ้าหน้าที่พบร่างนายอับดุลเลาะนอนหมดสติอยู่ในหน่วยซักถาม (หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร)
นายอับดุลเลาะ ได้รับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นได้ส่งต่อไปรักษาที่อาคารผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) โรงพยาบาลปัตตานี และวันที่ 22 ก.ค. ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค.62
@@ คดี "อับดุลเลาะ" ยังอยู่ในชั้น "ไต่สวนการตาย"
การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ถือว่าเป็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ที่ต้องมีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ที่เรียกกันว่า "ไต่สวนการตาย" โดยศาล เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิต
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 3, 4 และ 5 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์
เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.64 ศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานทางออนไลน์ คดีไต่สวนการตายนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ โดยเป็นการสืบพยานฝ่ายอัยการผู้ร้อง 2 ปาก โดยหลังสืบพยานฝ่ายอัยการแล้วเสร็จ จะกำหนดวันนัดสืบพยานฝ่ายญาติของผู้ตายต่อไป
การสืบพยานทางออนไลน์ในวันที่ 17 ธ.ค. ศาลอนุญาตให้อัยการผู้ร้อง รวมถึงทนายความของผู้ตายในฐานะผู้ร้องคัดค้าน และญาติของผู้ตายจำนวน 2 คน เข้าห้องพิจารณาต่อหน้าศาลได้เท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นหากจะร่วมรับฟังการพิจารณาคดีจะต้องทำหนังสือขออนุญาตไปยังศาลล่วงหน้า โดยศาลจังหวัดสงขลาแจ้งว่าควรขอรับฟังทางออนไลน์จะดีที่สุด ด้วยเหตุว่าจังหวัดสงขลายังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ค่อนข้างมาก
ที่ผ่านมาคดีนี้มีการนัดสืบพยานไปแล้วจำนวน 16 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหารในค่ายอิงคยุทธบริหารจำนวน 13 คน แพทย์ 2 คน และพนักงานสอบสวน 1 คน อีกทั้งยังมีการนัดพร้อมทางออนไลน์เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 64 ด้วย
นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า การสืบพยานเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.64 เป็นการสอบพยานแพทย์และเจ้าหน้าที่เวรประจำโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ก็ถือว่าเสร็จสิ้นแล้วในการสอบพยานฝั่งอัยการ และนัดต่อไปวันที่ 19-20 ก.พ.65 เป็นการสืบพยานฝ่ายญาติผู้ตายมีจำนวน 5 ปาก
"คำวินิจฉัยของแพทย์เป็นส่วนที่สำคัญที่ศาลจะนำไปเป็นส่วนประกอบในการวินิจฉัย สำหรับพยานหลักฐานในค่ายค่อนข้างยาก เราไม่สามารถที่จะเข้าไปขอหลักฐานหรือขอพยานเพิ่มเติมได้เลย ในส่วนของคำวินิจฉัยของแพทย์ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับเรา" นายสากีมัน กล่าวเอาไว้ก่อนการสืบพยานเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.64
@@ เงินเยียวยา 1 ล้าน ศอ.บต.เตรียมมอบเป็นของขวัญปีใหม่
ทางด้านการเยียวยา ซึ่งมีปัญหาเรื่องตัวเลขที่ไม่ตรงกัน โดยครอบครัวได้เพียง 500,000 บาท ทั้งๆ ที่ควรจะได้อีก 1,000,000 บาทนั้น
ที่มาของเรื่องนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้จัดการประชุมวาระการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3/2564 มีมติทบทวนมติที่ประชุม กพต. ครั้งที่ 1/2562 และ การประชุมครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมีมติมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานจัดสรรงบประมาณดูแลบุตรของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ จำนวน 2 คนในด้านทุนการศึกษาและทุนยังชีพจนจบปริญญาตรี เปลี่ยนเป็นมอบหมายให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบแทน
นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. หน่วยงานราชการ และรัฐบาล ไม่เคยทอดทิ้ง ภายหลังจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้น 500,000 บาท และเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีถูกควบคุมตัว 32,400 บาท ในปี 62 แล้ว ศอ.บต.ได้ดำเนินการนำเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมเข้าที่ประชุม กพต. เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษาและทุนยังชีพของบุตรทั้ง 2 คนของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งที่ประชุมอนุมัติเยียวยาเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงินกว่า 1,000,000 บาท โดยมอบให้ พม. และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานดูแล
แต่เนื่องด้วยติดปัญหาบางประการ กพต.จึงมีมติมอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานดำเนินการแทนในการประชุม กพต. ครั้งที่ 3/2564 วันที่ 28 ต.ค.64 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศอ.บต.จะนำเงินเยียวยาทั้งหมดตามจำนวนเงินดังกล่าว มอบให้ น.ส.ซูไมยะห์ โดยโอนเข้าบัญชีของแม่เพื่อลูก ซึ่ง น.ส.ซูไมยะห์ สามารถเบิกเงินเพื่อส่งเสริมการศึกษาและดูแลคุณภาพชีวิตของบุตรได้รายปี อย่างไรก็ตาม ศอ.บต.จะโอนเงินเยียวยานี้ เป็นของขวัญปีใหม่